ยิ้มสวยต้วยความมั่นใจ


คุณคงสงสัยละซีว่า ชื่อเรื่องนี้จริงหรือไม่จริงอย่างไร สมมติว่ารูปหน้าคุณสุดสวย ปาก แก้ม คิ้ว คาง น่าดูไปหมดหนุ่มน้อยหนุ่มมากเห็นแล้วหัวใจจะหยุดเต้น แต่เวลายิ้มเธอต้องเอามือปิดปากทุกครั้งไป เผลอเมื่อไหร่หนุ่มเหล่านั้น เป็นหัวใจวายไปจริง ๆ เพราะตกใจในฟันเหยินออกมานอกปาก ถ้าเป็นชายก็ไม่ต้องไปสักลายเสือให้คนกลัว เพราะ "ฟันไม่เข้า" อยู่แล้ว (เนื่องจากฟันยื่นออกมามาก) ดังนั้นจะปล่อยให้ฟันมาทำลายความสวย ความหล่อและบุคลิกของคุณอยู่ทำไม การแพทย์เราเจริญไปไกลแล้ว เพียงแต่รวบรวมความกล้า ไม่กลัวหมอฟันซะอย่างเดียว
แล้วควรจะไปหาหมอฟันเมื่อไหร่ล่ะ
สมัยนี้ทั้งคุณพ่อคุณแม่ได้รับคำแนะนำตั้งแต่ไปฝากครรภ์แล้ว พอลูกรักคลอดออกมา พ่อแม่ควรทะนุถนอมดูแลในปากตั้งแต่แรกเกิด ฟันน้ำนมจะเริ่มขึ้นอายุประมาณ 6 เดือนขึ้นไป คุณก็เริ่มพาลูกไปทำความคุ้นเคยกับหมอฟัน พออายุ 6 ปี ฟันแท้ซี่แรกจะเริ่มโผล่ขึ้นมาบ้างแล้ว ซี่อื่นก็จะทยอยตามขึ้นมา ซึ่งคุณควรปฏิบัติตามคำแนะนำ และไปตรวจฟันทุก ๆ 6 เดือน เพื่อให้สุขภาพช่องปากดี แต่ถ้าเริ่มมีฟันที่ขึ้นแตกแถวไป หมอฟันก็จะช่วยได้ตั้งแต่แรก เป็นการป้องกันไม่ให้ฟันขึ้นผิดที่ผิดทาง และช่วยให้โครงสร้างใบหน้าปกติไม่เป็นปัญหายุ่งยากเมื่อโตขึ้น แต่บางครั้งลูกน้อยเจ้าของฟันจะไม่สนใจ ฟันซ้อน ฟันเก ฟันเหยิน ฟันห่างของตนเองจนกว่าเริ่มเป็นหนุ่มเป็นสาวนั่นแหละ ก็ตั้งแต่อายุ 13 ปีขึ้นไป ซึ่งระยะนี้จะเป็นการแก้ไขบำบัดรักษาความผิดปกติของฟันบนฟันล่าง รวมถึงโครงสร้างใบหน้าให้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกได้สัดส่วนของแต่ละคนเครื่องมือจัดฟันก็จะมากขึ้น ระยะเวลาก็จะนานขึ้นเหมือนกับไม้อ่อนดัดง่าย ไม่แก่ดัดยาก โดยเฉลี่ยแล้ว 18-24 เดือน
ฟันคุณอยู่ในข่ายต้องจัดหรือเปล่า
นอกจากฟันที่ขึ้นผิดตำแหน่งต่าง ๆ กันแล้ว โครงสร้างของกระดูกยังมีส่วนทำให้ลักษณะใบหน้าแตกต่างกัน โดยทั่วไปแบ่งเป็น 3 แบบ
1. ใบหน้าปกติ มีโครงสร้างใบหน้า และการสบฟัน (คือฟันบนกับฟันล่างเจอกัน) ปกติคุณโชคดีแล้ว ไม่ต้องเจอเครื่องมือจัดฟัน
2. ใบหน้าโค้งนูน คางหลุบ ดูจากด้านข้างใบหน้าจะเห็นได้ชัด ริมฝีปากบนอูม ฟันบนจะยื่นออก ขากรรไกรล่างจะล้ำเข้าใน
3. ใบหน้าเว้า คางยื่น ดูใบหน้าด้านข้าง ขากรรไกรล่างจะยื่นออกไปข้างหน้ามากกว่าปกติ
จะจัดฟันดีไหม
เรื่องสวยเรื่องหล่อขึ้นน่ะดีกว่าเดิมแน่นอน ยิ่มได้เต็มที่ เวลาคุยกับใครก็ไม่ต้องเอามือปิดปากอีกแล้ว อีกทั้งฟันที่เรียบเป็นระเบียบ ย่อมแปรงทำความสะอาดได้ง่ายกว่าฟันซ้อน ฟันเก กลิ่นปากก็สะอาด พูดจาประสาดอกไม้ได้สบาย นอกจากนั้นยังช่วยให้เคี้ยวอาหารได้ดี ป้องกันและแก้ไขความผิดปกติของหัวข้อต่อขากรรไกรที่อาจมีปัญหาภายหลังได้อีกด้วย ทางที่ดีไปคุยรายละเอียดกับหมอจัดฟัน ซักถามทุกซอกฟัน ให้เข้าใจก่อนจึงตัดสินใจด้วยตนเอง เพราะความร่วมมือปฏิบัติตามคำแนะนำของหมอขณะจัดฟันมีความสำคัญอย่างยิ่ง ถ้าเป็นเด็กเล็กการเอาใจใส่ดูแลของผู้ปกครองจะมีส่วนในความสำเร็จนี้ด้วย
ขั้นตอนการจัดฟัน
หมอจะถามประวัติสุขภาพทั่วไป ตรวจในปากอย่างละเอียด พิมพ์ฟันทำแบบจำลองจากในปาก ถ่ายรูปเอ็กซ์เรย์ ฯ เพื่อเป็นข้อมูลในการวางแผนการรักษาและจะบอกคุณเมื่อนัดครั้งต่อไป ซึ่งคุณมีสิทธิ์ตัดสินใจอีกครั้งว่า จะจัดฟันหรือไม่ ถ้ามีฟันผุ เหงือกอักเสบ หรือที่จำเป็นต้องทำอย่างอื่นก็จะต้องไปจัดการให้สุขภาพเหงือกและฟันดีซะก่อนที่จะเริ่มจัดฟันได้
คำถามทั่ว ๆ ไป ที่คุณคงอยากทราบ
- จัดฟันแล้วต้องมาพบหมอบ่อยไหม?
ประมาณ 3-4 อาทิตย์ต่อครั้ง
- เจ็บรึเปล่า?
มีบ้างเล็กน้อย ระยะแรกจะรู้สึกแปลก รำคาญเล็กน้อย ต้องอดทน แล้วแต่การปรับตัวเร็วช้าของแต่ละคนด้วยต่อไปก็จะชินไปเอง
- กินอาหารได้ทุกอย่างไหม?
ได้เกือบทุกอย่าง ยกเว้น อาหารแข็ง เหนียว เช่น หมากฝรั่ง แทะข้าวโพด ลูกกวาด ฯ
- แปรงฟันอย่างไร?
แน่นอน ต้องแปรงฟันหลังอาหารทุกมือ เพราะเศษอาหารจะติดฟัน และเครื่องมือได้ง่าย ถ้าไม่แปรงให้สะอาดฟันจะผุ เหงือกอักเสบ และมีกลิ่นปาก
อย่างไรก็ตาม คุณจะมีโอกาสจัดฟันหรือไม่จัดก็ตาม สิ่งที่ทุกท่านต้องปฏิบัติคือ เด็กตรวจฟันทุก 6 เดือน ผู้ใหญ่ปีละครั้งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ธรรมชาติให้ความสมดุลของฟัน ใบหน้า และส่วนประกอบอื่นแก่แต่ละคนมาแล้ว มีทั้งดีมากและดีน้อย จึงควรภูมิใจในสิ่งที่ท่านมีอยู่ ทุกท่านมีความสวย หรือหล่อในตนเองอยู่แล้ว ขอให้มีสุขภาพกาย สุขภาพช่องปาก และสุขภาพจิตที่ดี คุณก็จะ "ยิ้มสยาม" ได้อย่างมั่นใจ เป็นที่ประทับใจแก่ผู้พบเห็น

น.อ. หญิง พัฒนทวิ ศรีสมวงศ์ ร.น.
skeat56@hotmail.com



โดย : นาย สมศักดิ์ เกียรติโกวิทสกุล, ระยองวิทยาคม, วันที่ 18 เมษายน 2545