วิธีปฏิบัติเพื่อช่วยคลายเครียด

วิธีปฏิบัติเพื่อช่วยคลายเครียดในการทำงาน how to when you stress
การรู้จักผ่อนคลายความเครียดเป็นเรื่องสำคัญ เพราะนอกจากจะช่วยคลายเครียดและเสริมสร้างสุขภาพจิตที่ดีแล้ว ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นเกิดบรรยากาศที่ดีในการทำงาน ทำให้มีความสุขในชีวิตมากขึ้น จึงมีวิธีปฏิบัติเพื่อช่วยคลายเครียดในการทำงาน 10 วิธี ดังต่อไปนี้ คือ
1. ออกกำลังกาย
- เมื่อรู้สึกเครียดจากการทำงาน การออกกำลังกาย จนได้เหงื่อจะช่วยคลายเครียดได้
- หลังเลิกงาน หรือในวันหยุดควรออกกำลังกาย หรือเล่นกีฬาบ้าง และถ้าได้เล่นกับกลุ่มเพื่อนจะยิ่งสนุกสนานมากยิ่งขึ้น
- การช่วยกันทำงานบ้านในวันหยุด ก็ถือเป็นการออกกำลังกายที่ดี และยังช่วยให้สมาชิกในครอบครัวรู้สึกรักใคร่สามัคคี เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันด้วย
2. การพักผ่อนหย่อนใจ
- หลังเลิกงานแล้ว ควรจะได้พักผ่อนหย่อนใจบ้าง เพื่อผ่อนคลายจิตใจ ทำให้พร้อมที่จะกลับไปทำงานอย่างมีประสิทธิภาพอีกครั้งหนึ่ง
- กิจกรรมการพักผ่อนหย่อนใจมีอยู่มากมาย ควรเลือกที่ตรงข้ามกับงานประจำ เช่น งานประจำต้องนั่งโต๊ะทั้งวัน ยามว่างควรทำกิจกรรมกลางแจ้งที่ได้เคลื่อนไหวร่างกาย หรือถ้างานประจำต้องให้บริการผู้อื่น ยามว่างควรไปให้ผู้อื่นบริการบ้าง เพื่อให้ชีวิตสมดุลและผ่อนคลาย
3. การพูดอย่างสร้างสรรค์
- การพูดอย่างสร้างสรรค์จะช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงาน
- ควรหมั่นพูดคำว่าสวัสดี ไม่เป็นไร ขอโทษและขอบคุณ ให้ติดปาก
- ควรหมั่นพูดชมเชยให้กำลังใจ ไต่ถามทุกข์สุข และประสานความเข้าใจกัน บางเรื่องไม่ควรก็อย่าพูดจะช่วยตัดปัญหาและลดความเครียดได้มาก
4. การแสดงอารมณ์อย่างเหมาะสม
- การเก็บกดอารมณ์ที่ไม่ดีเอาไว้ และการแสดงอารมณ์อย่างไม่เหมาะสมทำให้เกิดความเครียด ควรฝึกควบคุมอารมณ์ คิดก่อนทำ และทำอย่างเหมาะสม จะช่วยคลี่คลายสถานการณ์ และไม่ทำให้เกิดปัญหาตามมา
- เมื่ออารมณ์ดี ควรยิ้มแย้ม ทักทาย พูดเล่น ฮัมเพลง จะทำให้ผู้ใกล้ชิดพลอยรู้สึกดีตามไปด้วย
- เมื่ออารมณ์ไม่ดี อย่าเพิ่งพูดหรือทำอะไรลงไปเพราะอาจเสียใจภายหลัง ให้หลับออกไปจากสถานการณ์สักพัก
5. การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ร่วมงาน
- การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ร่วมงาน จะช่วยให้รู้สึกมีความสุขในการทำงาน และช่วยให้ทำงานได้ดี มีประสิทธิภาพเพราะมีผู้คอยช่วยเหลือ คอยให้คำปรึกษา
- การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ร่วมงานสามารถทำได้โดยการรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเราอยู่เสมอ อยากให้ผู้อื่นปฏิบัติต่อเราอย่างไร ก็ต้องปฏิบัติอย่างนั้นต่อผู้อื่นเช่นกัน
6. การบริหารเวลา
- การบริหารเวลาอย่างเหมาะสม จะช่วยให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
- ควรทบทวนดูว่า ในแต่ละวันได้ใช้เวลาไปกับเรื่องใดบ้าง เสียเวลาไปกับเรื่องไม่เป็นเรื่องมากแค่ไหน จากนั้น จัดแบ่งเวลาเสียใหม่ รีบทำงานสำคัญและเร่งด่วนให้เสร็จก่อน แล้วจึงทำงานอื่นภายหลัง
7. การแก้ปัญหาอย่างถูกวิธี
- ในการทำงานย่อมมีปัญหาเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ถ้าแก้ปัญหาอย่างใช้อารมณ์ไม่มีเหตุผล จะทำให้เครียดมาก ควรเริ่มต้นแก้ปัญหาที่สาเหตุ หาสาเหตุที่แท้จริงให้ได้ แล้วแก้ตรงนั้น ถ้าตัวเราเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาก็ต้องแก้ที่ตัวเราด้วย
- ถ้าคิดแก้ปัญหาเองไม่ได้ ก็ไม่ควรอาย ควรขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น
- เมื่อรู้วิธีแก้ปัญหาแล้ว ควรลงมือทำทันที บางปัญหาอาจแก้ยากก็ให้อดทน อย่าท้อแท้เพราะเมื่อแก้ปัญหาได้สำเร็จ ก็จะภูมิใจและหายเครียดไปเอง
8. การปรับเปลี่ยนความคิด
- ความเครียดส่วนหนึ่งจะมาจากความคิดของคนเรา ถ้ารู้สึกว่าตัวเองคิดมาก คิดสับสนหาทางออกไม่ได้ ควรหยุดคิดสักพัก เปลี่ยนอิริยาบถไปทำอย่างอื่นก่อน เมื่อรู้สึกดีขึ้นค่อยคิดใหม่
- ลองปรับเปลี่ยนความคิดเสียใหม่ เช่น คิดอย่างใช้เหตุผล คิดหลาย ๆ แง่มุม การคิดแบบใหม่ ๆ จะช่วยให้รู้สึกดีขึ้นและหายเครียดได้
9. การสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจ
- “จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว” จิตใจที่เข้มแข็งจะช่วยให้เอาชนะความเครียดได้ การสร้างความเข้มแข็งของจิตใจ ทำได้โดยการสร้างความเชื่อมั่นในตัวเอง ให้กำลังใจตัวเองอยู่เสมอ
- ต้องเข้าใจชีวิตให้ถ่องแท้ว่า ไม่มีอะไรแน่นอน จะต้องไม่ยึดติดกับลาภ ยศ และต้องใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบันให้มากที่สุด ไม่ติดอยู่กับอดีตหรือวิตกกังวลกับอนาคตให้มากเกินไป อย่าลืมที่จะสร้างความอบอุ่นในครอบครัว
10. การรู้จักยืนยันสิทธิของตน
- ความเครียดอาจเกิดได้จากการยอมอ่อนข้อหรือเกรงใจผู้อื่นมากเกินไป จนทำให้ตัวเองเดือดร้อน สิทธิที่ควรยืนยันได้แก่ สิทธิที่จะปฏิเสธอย่างมีเหตุผล

ที่มา : กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข



โดย : นางสาว patcharin kanakgorn, klong laung pathumtanee 13180, วันที่ 18 เมษายน 2545