ปลาข้าวสาร
ประวัติความเป็นมาของปลาข้าวสาร
ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์มาก ประชากรในแต่ละภูมิภาคจะประกอบอาชีพที่หลากหลายตามแหล่งทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นของตน ในภาคตะวันออกของประเทศไทยมีอยู่อีกอาชีพหนึ่งที่เราไม่ควรมองข้าม ซึ่งอาชีพนี้สามารถทำรายได้เข้าประเทศได้ ปีละหลายสิบล้านบาท นั่นก็คือ "อาชีพประมง" ซึ่งมีการประกอบอาชีพการประมง ทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม
ปัจจุบันชาวประมงได้จับปลาทะเลขึ้นมาจำหน่ายและทำการแปรรูปต่าง ๆ มากมาย โดยเฉพาะปลาทะเล มีการแปรรูปกันมากมายหลายวิธี เพื่อนำออกจำหน่ายสู่ท้องตลาด ดังเช่นตัวอย่างที่จะกล่าวต่อไปนี้ มีปลาทะเลชนิดหนึ่งซึ่งชาวประมงนิยมเรียกว่า "ปลาสายไหม" ความเชื่อตั้งแต่ในอดีตของชาวประมงเชื่อว่า ปลาสายไหมหรือปลาข้าวสารนั้นเป็นปลาทะเลชนิดหนึ่งโดยมีขนาดเล็กมากเท่ากับเมล็ดข้าวสาร จึงเรียกอีกชื่อว่า "ปลาข้าวสาร" แต่การศึกษาของกรมประมงเมื่อ พ.ศ. 2547 โดยสำนักงานประมงจังหวัดระยอง ได้ศึกษาพบว่าแท้ที่จริงแล้ว "ปลาข้าวสาร" หรือ "ปลาสายไหม" ก็คือ "ลูกของปลากะตัก" นั่นเอง
ชาวประมงจะนำมาทำการแปรรูปและนำออกจำหน่าย วิธีการผลิตนั้นทำได้ง่ายและเป็นสินค้าที่ต้องการของตลาดทั้งภายในและภายนอกประเทศ เนื่องจากเป็นปลาที่มีขนาดเล็กมากขนาดเท่าเมล็ดข้าวสาร ชาวบ้านจึงนิยมเรียกปลาชนิดนี้ว่า "ปลาข้าวสาร" ปัจจุบันชาวประมงต่างนิยมทำการแปรรูป "ปลาข้าวสาร" กันเป็นจำนวนมาก เพราะว่าทำง่ายและมีรายได้ดี ดังเช่น ชุมชนบ้านอำเภอ ในตำบลนาจอมเทียน อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี นิยมทำกันเป็นอาชีพหลัก ตามที่ได้ไปสืบค้นมาพบว่า ชุมชนบ้านอำเภอนี้จะนิยมทำกันมาก ในหมู่ 4 หมู่ 9 บ้านอำเภอ ตำบลนาจอมเทียน อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ตามที่เราได้ไปสืบค้นที่บ้านเลขที่ 33/9 หมู่ 4 พบว่าบ้านหลังนี้ได้ประกอบการในลักษณะของอุตสาหกรรมภายในครอบครัว ทำเป็นโรงงานขนาดเล็ก มีคนงาน 6-8 คน ส่วนมากจะเป็นผู้หญิง โรงงานนี้ทำมาแล้ว 5-10 ปี และเจ้าของบอกว่ามีรายได้ดีทีเดียว โดยเฉพาะฤดูฝนจะจับปลาได้มากกว่า ฤดูหนาว และฤดูร้อน
แหล่งวัตถุดิบ
พื้นที่ในเขตตำบลนาจอมเทียน อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี มีลักษณะภูมิประเทศเป็นชายฝั่งทะเล ของภาคตะวันออกของประเทศไทย ประชากร ร้อยละ 20 เป็นข้าราชการทหาร ร้อยละ 10 ประกอบอาชีพค้าขาย ร้อยละ 10 เป็นลูกจ้างแรงงาน และร้อยละ 60 เป็นเกษตรกร โดยทำการเพาะปลูกและทำการประมงเป็นส่วนใหญ่
ปัจจุบันชาวประมงในชุมชนบ้านอำเภอ ตำบลนาจอมเทียนได้จับปลาทะเลมาจำหน่ายหรือทำการแปรรูปในรูปแบบต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะปลาทะเลมีการแปรรูปเพื่อนำออกจำหน่ายกันเป็นจำนวนมาก ดังเช่นตัวอย่างที่เราจะกล่าวต่อไปนี้ มีปลาทะลชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นปลาที่มีขนาดเล็ก ชาวประมงนิยมนำมาทำการแปรรูปและนำออกจำหน่าย มีขั้นตอนการทำที่ง่ายและเป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องการของตลาด ปลาชนิดนั้นก็คือ "ปลาสายไหม" ชาวประมงมักจะนำมาทำการแปรรูปเป็น "ปลาข้าวสาร" ชาวประมงจะออกเรือจากชุมชนบ้านอำเภอ ตำบลนาจอมเทียนไปจับปลาบริเวณเกาะครามในเขตอำเภอสัตหีบ เกาะสีชังในเขตอำเภอเกาะสีชัง และบริเวณแหลมฉบัง เขตอำเภอศรีราชา โดยเฉพาะในฤดูฝน จะจับปลาได้เป็นจำนวนมากกว่าในฤดูหนาวและฤดูร้อน
กระบวนการผลิต
มีขั้นตอนการแปรรูปปลาข้าวสาร ดังนี้
1. เริ่มจากการนำเรือประมงออกจับปลา ซึ่งจะออกในเวลาตอนเย็นเวลาประมาณ 6 โมงเย็น โดยใช้อวนขนาดกลาง โดยมีตาเป็นลักษณะสีเขียว ไม่ถี่มาก
2. นำปลาข้าวสารที่ได้ใส่ถังพลาสติกแล้วแช่ด้วยน้ำแข็ง
3. เมื่อนำปลามาถึงโรงงาน ก็เปิดฝากล่องพลาสติกออกเอาน้ำเค็มใส่ในกล่อง เพื่อเป็นการล้างปลา
4. เอาตะแกรงกดบนพื้นน้ำ ใช้มือคนเรื่อย ๆ จนให้น้ำแข็งลอยขึ้น
5. พอเสร็จแล้วเอาตะแกรงช้อนน้ำแข็งออกจากกล่องพลาสติก
6. เตรียมอุปกรณ์เพื่อมาทำการแปรรูป ซึ่งมีอุปกรณ์ดังนี้
6.1 กะทะขนาดใหญ่
6.2 เกลือ
6.3 แก๊ส
7. เอาน้ำเค็มใส่กะทะประมาณ 3/4 ของกะทะ ต้มน้ำให้เดือด จากนั้นใส่เกลือลงไปในกะทะประมาณครึ่งกิโลกรัม
8. คนน้ำไปเรื่อย ๆ จนกว่าน้ำและเกลือจะละลายเป็นเนื้อเดียวกัน
9. นำปลาที่เตรียมไว้และทำความสะอาดด้วยน้ำเค็มแล้วใส่ลงไป
10. เปิดไฟให้แรงและคนไปเรื่อย ๆ
11. ใช้ไม้คนปลาให้แตกออกจากกัน คนไปเรื่อย ๆ ประมาณครึ่งชั่วโมง
12. หลังจากนั้นตักปลาขึ้นมาฉีกดูที่หัว ถ้ามีเลือดอยู่ตรงหัวปลา ก็แสดงว่าปลายังไม่สุก ก็ต้มต่อไปอีก แต่ถ้าไม่มีเลือดอยู่ที่ตรงหัวปลาก็แสดงว่าปลาสุกแล้ว
13. ใช้ที่ตักปลา ตักปลาที่สุกแล้วขึ้นมานำมาโรยบนแผง โดยให้ปลากระจายไปทั่วแผง อย่าให้ปลาอยู่ติดกันเป็นก้อนมากเพราะจะทำให้ปลาแห้งช้า หลังจากนั้นตากทิ้งไว้อีก 1 ชั่วโมง ถ้าปลาแห้งสนิทแล้ว ตัวปลาจะแข็ง
14. หลังจากนั้นเทปลาใส่แผงเดียวกันเพื่อนำมาคัดเลือกปลาที่ไม่ได้ขนาด
15. นำปลาที่เลือกขนาดแล้วบรรจุใส่กล่อง โดยจะบรรจุกล่องละ 5 กิโลกรัม
ข้อยกเว้น ถ้าวันไหนฝนตกเจ้าของและลูกจ้าง จะนำปลาข้าวสารที่ต้มเสร็จแล้วไปอบในห้องอบ ซึ่งจะอบด้วยพัดลมและแก๊ส โดยที่จะเปิดพัดลมและแก๊ส เพื่อให้ความร้อน ในห้องอบนี้ อุณหภูมิสูงมาก 60-70 องศา จึงจะสามารถทำให้ปลาข้าวสารแห้งได้ และก็นำออกตากเหมือนเดิม ส่วนเวลาในการอบ ปลาข้าวสาร ใช้เวลาในการอบประมาณ 1 ชั่วโมงถึง 1 ชั่วโมงครึ่ง
รูปแบบการซื้อขาย
อัตราการจำหน่าย
ปลาข้าวสารแห้ง ผู้ประกอบการจำหน่ายส่งพ่อค้าคนกลาง จำหน่ายกิโลกรัมละ 130 บาท
พ่อค้าคนกลางนำไปวางจำหน่ายกิโลกรัมละ 200 บาท
ราคาในการจำหน่ายปลาข้าวสารแห้ง จะบรรจุเป็นกล่องเพื่อส่งเป็นสินค้าออกต่างประเทศ โดยจะบรรจุกล่องละ 5 กิโลกรัม จะขายในราคากล่องละ 1,000-1,200 บาท ส่วนรายได้ของเจ้าของกิจการในแต่ละวันจะได้วันละ 10,000-20,000 บาท ขึ้นอยู่กับว่าวันไหนจะจับปลาได้มากน้อยเพียงใด และรายได้ของลูกจ้างก็ไม่แน่นอนขึ้นอยู่จำนวนปลาที่จับได้ในแต่ละวัน ค่าแรงอยู่ระหว่างประมาณวันละ 100-300 บาท โดยจะทำทุกขั้นตอนของการแปรรูปปลาข้าวสารจนมาถึงขั้นตอนการบรรจุกล่อง การจำหน่ายในตลาดจะมีร้านค้ามาสั่งไว้ และมารับเองเพื่อไปจำหน่ายต่อไป
บรรจุภัณฑ์
การบรรจุปลาข้าวสารนำออกจำหน่าย
ไม่มีรูปแบบที่แน่นอน เพราะพ่อค้าจะจัดจำหน่ายในลักษณะเป็นกิโลกรัม จึงมักบรรจุใส่ถุงพลาสติกบรรจุอาหาร ขนาดถุงละน้ำหนัก 1 กิโลกรัม
ห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ มักจะแบ่งน้ำหนักย่อยออกมาแยกจำหน่าย โดยบรรจุอยู่ในกล่องโฟม น้ำหนัก 400 - 500 กรัม ส่วนการบรรจุภัณฑ์เพื่อส่งเป็นสินค้าออกต่างประเทศจะบรรจุกล่องกระดาษ กล่องละ 5 กิโลกรัม
อาหารจานโปรด
การนำปลาข้าวสารมาประกอบอาหาร ในห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ เช่น โลตัส บิ๊กซี และห้างอื่นๆ ทั่วประเทศ มักจะนำไปทอดและบรรจุถุงขายในราคาที่สูง และยังเป็นที่น่ายินดีที่ประเทศไทยสามารถส่งออกปลาข้าวสารตากแห้งที่บรรจุถุงเสร็จแล้ว ส่งไปขายในต่างประเทศได้ เช่น ประเทศจีน และประเทศญี่ปุ่น ซึ่งประชาชนในสองประเทศนี้จะนิยมบริโภคปลาข้าวสารเป็นอันมาก คนไทยส่วนใหญ่นิยมนำปลาข้าวสารมาทอด แล้วปรุงรสโดยการใส่เกลือและน้ำตาล โดยนำไปรับประทานกับข้าวต้ม หรือจะนำไปทอดกับไข่เจียวเป็นอาหารจานโปรดของน้อง ๆ หนู ๆ ส่วนคุณพ่ออาจนำไปรับประทานเป็นกับแกล้ม ในรูปแบบของการยำ เมนูที่คุ้นเคย ก็คือ "ยำปลาข้าวสาร"
ประโยชน์ทางโภชนาการของปลาข้าวสาร
ปลาข้าวสารจะมีแคลเซียมสูง สามารถเสริมสร้างกระดูกและฟัน ให้กับผู้บริโภค ซึ่งอาหารชนิดนี้มีประโยชน์ต่อร่างกายเป็นอันมาก เราไม่ควรมองข้าม และยังเป็นผลิตภัณฑ์ของคนไทยอีกด้วย ซึ่งเราควรสนับสนุนและส่งเสริมอาชีพนี้ โดยการซื้อผลิตภัณฑ์ของปลาข้าวสาร และยังเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งของประชาชนที่กำลังมองหา อาชีพที่ดี และมีรายได้ดี

ที่มา : ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

โดย : นาง ขวัญใจ เขียนเสมอ, โรงเรียนสัตหีบวิทยาคม อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี, วันที่ 17 เมษายน 2545