เริ่มเรียนการถ่ายภาพ3

การจัดองค์ประกอบของภาพถ่าย
คำว่าองค์ประกอบของภาพถ่าย หมายถึง สิ่งที่เป็นภาวะแวดล้อมต่าง ๆ ที่ประกอบกันขึ้นเป็นภาพถ่าย เพราะในภาพๆ หนึ่งย่อมเป็นที่รวมของหลายสิ่งหลายอย่างตามที่ต้องการจะสื่อเข้าไว้ ฉะนั้นการที่จะจัดภาพให้ดูสวยงามมีศิลปะ จึงจำเป็นต้องสัมพันธ์ควบคู่กับทฤษฎีของการออกแบบเป็นพื้นฐานในที่นี้จะกล่าวถึง ส่วนประกอบทางศิลปะของการออกแบบเพียงสังเขป คือ
1. เส้น (lines) เส้นเกิดจากจุดหลาย ๆ จุดที่ต่อเนื่องกัน เส้นในลักษณะต่าง ๆ เมื่อนำมาบรรจบกันจะทำให้เกิดเป็นรูปร่างขึ้น การออกแบบงานศิลป์ที่ประสบความสำเร็จ เส้นจะต้องมีความสัมพันธ์กับขนาด รูปร่าง และทิศทาง เส้นมีความหมายเป็นสื่อการถ่ายทอดความคิดเห็น กล่าวกันว่ารูปลักษณะของเส้นมีอิทธิพลต่อการแสดงท่าทีความเคลื่อนไหวอยู่ในตัว ลักษณะของเส้นในการออกแบบจะบอกอารมณ์ของนักออกแบบ เส้นที่ลากด้วยความมั่นใจจะเป็นเส้นที่ตรงข้ามกับเส้นที่แสดงให้เห็นถึงความลังเลของผู้ลาก ความหมายของเส้นแต่ละลักษณะเป็นดังนี้
เส้นนอน (horizontal lines) เป็นเส้นที่ให้ความรู้สึกถึงความกว้าง สงบ นิ่ง พักผ่อน
เส้นตั้ง (vertical lines) เป็นเส้นที่ให้ความรู้สึกถึงความเข็งแรง สง่างาม มีระเบียบ
เส้นโค้ง (curved lines) เป็นเส้นที่ให้ความรู้สึกถึงความอ่อนหวาน นิ่มนวล ให้ทิศทางการเคลื่อนไหวที่นุ่มนวลละมุนละไม และบางเส้นให้ความรู้สึก
เศร้าซึม
เส้นหยักหรือเส้นซิกแซก (zigzag lines) เป็นเส้นที่ให้ความรู้สึกเคลื่อนไหว รุนแรง ไม่แน่นอน
เส้นทแยง (diagonal lines) เป็นที่ให้ความรู้สึกเคลื่อนไหวหรือการไม่อยู่นิ่ง ไม่แน่นอนแสดงทิศทาง
ในภาพถ่ายเส้นจะมีประโยชน์มากสำหรับผู้ถ่ายภาพเพราะเส้นใช้ในการบอกทิศทางหรือนำสายตาผู้ดูไปหาจุดสำคัญในภาพที่ถ่าย เส้นในภาพอาจหมายถึง ภาพถนนหนทาง แม่น้ำ ลำคลอง ซึ่งใช้สัญจรไปมา
2. รูปร่างและรูปทรง (shapers and form) รูปร่างหมายถึงพื้นที่ที่มีเส้นขอบมีสี ลักษณะพื้นผิวต่างจากสิ่งแวดล้อมข้างเคียงอย่างชัดเจน ส่วนรูปทรงจะเป็นลักษณะที่มองดูแล้วเห็นเป็น 3 ด้านทั้งด้านกว้าง ยาว และ สูง ถือเป็น 3 มิติ แต่อย่างไรก็ตามทั้งรูปร่างและรูปทรงก็มีส่วนสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดจนแยกไม่ออก
ในงานประณีตศิลป์รูปร่างเปรียบเสมือน วัสดุที่ใช้เป็นโครงร่างเพื่อปรุงแต่งให้ได้งานที่สวยงดงามในการถ่ายภาพ การประกอบภาพแบบสามเหลี่ยมเป็นที่นิยมในบรรดาช่างภาพที่มีฝีมือดีโดยทั่วไปภาพในลักษณะนี้มีการกำหนดให้มีจุดเด่น เห็นอยู่ในโครงสร้างแบบสามเหลี่ยมในภาพ





3. ลักษณะพื้นผิว (texture) คือส่วนเปลือกนอกของวัตถุ ที่มองเห็นได้หรือสัมผัสได้ลักษณะพื้นผิวให้ความรู้สึกที่แตกต่างกันคือ
ลักษณะพื้นผิวมัน ให้ความรู้สึกที่ละมุนละไม หรูหรา เนื้อที่ใหญ่กว่าที่เป็นจริง
ลักษณะพื้นผิวหยาบมาก ให้ความรู้สึกมั่นคงแข็งแรง เนื้อที่แคบกว่าที่เป็นจริง
ลักษณะพื้นผิวหยาบน้อย ให้ความรู้สึกว่าเนื้อที่เล็กกว่าที่เป็นจริง
ลักษณะพื้นผิวละเอียด ให้ความรู้สึกละมุนละไมและใหญ่กว่าที่เป็นจริง
ในภาพถ่ายที่แสดงพื้นผิวเช่น ภาพลายเนื้อไม้ ผิวเนื้อของคนชรา ผิวเนื้อของเด็กทารก
สิ่งเหล่านี้จะบอกถึงลักษณะเฉพาะและภาพมีลักษณะเหมือนจริงได้มาก



4. พื้นที่ว่าง (space) หมายถึงระยะห่างหรือพื้นที่ที่เกิดรอบ ๆ วัตถุในรูป พื้นที่ว่างที่กว้าง
ขวางจะให้ความรู้สึกที่สบายปลอดโปร่ง แต่บริเวณที่เล็กแคบจะให้ความรู้สึกที่อึดอัดไม่สบายใจ ในภาพถ่ายเมื่อจะต้องบรรจุหลาย ๆ อย่างลงไปในภาพภาพเดียวควรจะต้องคำนึงถึงการจัด
พื้นที่ว่างไม่ให้แน่นดูอึดอัด แต่เนื่องจากว่าภาพถ่ายไม่ใช่ภาพวาด ฉะนั้นการจัดพื้นที่ว่างในภาพจึงกระทำได้
ยากไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว ต้องอาศัยความสามารถเฉพาะตัวของช่างภาพเป็นสำคัญ การถ่ายภาพบุคคลยืน
เด่นคนเดียวจะถ่ายภาพในแถวตั้งหรือแนวนอนดี หรือถ้าเป็นภาพหมู่มากกว่า 3 คนขึ้นไป ภาพแนวนอนจะ
เหมาะสมกว่าใช่หรือไม่ ช่างภาพที่ดีควรต้องตอบปัญหาเหล่านี้ได้
ส่วนประกอบพื้นฐานทางศิลปะต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นประโยชน์อย่างมากต่อการเน้นจุดเด่นของ
ภาพถ่าย ภาพถ่ายส่วนใหญ่จะมีจุดเด่นของภาพ จุดเด่นนี้ในบางภาพอาจดูธรรมดาแต่ในบางภาพดูน่าสนใจ
มากกว่า ที่เป็นเช่นนี้เพราะจุดเด่นในภาพบางภาพถูกเน้นให้ดูน่าสนใจยิ่งขึ้น อาจเป็นการเน้นด้วยเส้นนำ
สายตา เน้นด้วยระยะชัด (Selective Focus) ตามหลักการและวิธีการถ่ายภาพ ซึ่งจะได้กล่าวในบทต่อไปบางภาพก็อาจจะเน้นด้วยความเปรียบต่างหรือการตัดกัน (contrast) หมายถึงการเน้นด้วยวิธีที่ทำให้เกิดความแตกต่างกันขึ้นในภาพ ซึ่งอาจทำได้โดยวิธีการทำซ้ำ (Repetition) เช่นภาพของผลแตงโมที่วางเรียงกันอยู่เป็นแถว ๆ มีอยู่เพียงผลเดียวที่ถูกผ่าออก แตงโมผลที่ถูกผ่าออกนี้จะโดดเด่นขึ้นมาทันที นอกจากนี้ยังอาจเป็นความเปรียบต่างด้วยขนาดวัตถุในภาพเช่นภาพวัตถุเล็กๆ เหมือนๆ กัน มีเพียงชิ้นเดียวที่มีขนาดโตขึ้น วัตถุที่โตขึ้นก็จะดูเด่นขึ้น หรือในภาพตุ๊กตาตัวใหญ่ๆ ที่เรียงกันอยู่ทั้งหมด มีเพียงตัวเดียวที่มีขนาดเล็กลงเช่นนี้เป็นต้น
นอกจากจะมีการเน้นจุดเด่นของภาพแล้ว ภาพที่ดูแล้วน่าสนใจย่อมต้องมีวิธีการวาง
ตำแหน่งจุดเด่นของภาพที่ชวนสนใจด้วยซึ่งในทางศิลปะจะไม่นิยมวางตำแหน่งจุดเด่นของภาพไว้ที่จุด
กึ่งกลางภาพ เพราะมองดูแล้วให้ความรู้สึกที่นิ่ง ตายตัว ไม่ชวนสนใจ วิธีการที่นิยมคือเราจะแบ่งภาพ
นั้นออกเป็น 3 ส่วนเท่ากัน ทั้งแนวตั้งและแนวนอน จุดของเส้นที่ตัดกันมี 4 จุด 4 จุดนี้จะเป็นตำแหน่ง
ของการวางจุดเด่นหรืออาจถือเอาบริเวณใกล้เคียงจุดทั้ง 4 จุดนี้ก็ได้ วิธีการวางตำแหน่งจุดเด่นของภาพ
ในลักษณะนี้เป็นหลักเกณฑ์ที่เรียกกันว่า กฎสามส่วน (rule of thirds)











โดย : นางสาว สมควร เพียรพิทักษ์, กรมวิชาการ, วันที่ 11 เมษายน 2545