โรคฉี่หนู

เมื่อเอ่ยถึง โรคฉี่หนูคงจะรู้จักกันดีจากสื่อต่าง ๆ แต่ในรายละเอียดของโรคนี้บางท่านอาจจะยังไม่ทราบ เพียงแต่รู้ว่าน่าจะเกี่ยวกับหนู
โรคนี้จัดว่าเป็นโรคที่พบมากแถบบ้านเราชนิดหนึ่ง ในทางการแพทย์เรียกว่า Leptospirosis หรือเรียกง่าย ๆ ว่า Lepto (อ่านว่าเล็ฟโต) โรคนี้มีความสำคัญกับวิถีชีวิตของชาวไร่ชาวนาหรือเกษตรกรค่อนข้างมาก ทำให้เกิดการเจ็บป่วยและยังเป็นอันตรายถึงตายได้
เกิดจากอะไร : ตัวต้นเหตุคือเชื้อแบคทีเรียกลุ่มหนึ่งรวม ๆ ว่า Leptospira เป็นโรคประเภทที่ติดต่อจากสัตว์มาสู่มนุษย์ เช่น หมา แมว วัว ควาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวสำคัญที่พบบ่อยที่สุดคือหนู นั่นเอง เชื้อโรคพวกนี้เมื่อเข้าไปในสัตว์ที่เป็นพาหะ เช่นหนู มันจะไปอาศัยอยู่ในไตของหนู ขยายจำนวนและพร้อมที่จะเล็ดลอดออกมากับปัสสาวะได้ตลอดเวลา เมื่อคนที่เคราะห์ร้ายไปสัมผัสเข้าก็ทำให้เกิดโรคได้
ติดต่อกันได้ไหม : โรคนี้โอกาสติดต่อจากคนสู่คนมีน้อยมาก คนที่เป็นโรคนี้สามารถอยู่รวมกันได้ แต่เป็นโรคที่ติดต่อจากสัตว์สู่คนได้ง่ายมาก เพียงจากคนได้สัมผัสฉี่หนูในน้ำก็สามารถติดเชื้อได้
ใครมีโอกาสรับเชื้อได้บ้าง : พบว่า ชาวไร่ ชาวนา หรือเกษตรกร มีโอกาสสูงมากที่จะสัมผัสน้ำที่มีเชื้อโรคอยู่ และอีกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มนักท่องเที่ยว ประเภทลุยน้ำ ล่องแก่ง เป็นต้น
เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายอย่างไร : เชื้อเข้าสู่ร่างกายทางสัมผัส โดยเชื้อโรคจะเข้าทางแผลถลอกตามผิวหนัง หรือโดยการกลืนน้ำที่มีเชื้อโรคเข้าไป เมื่อเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายแล้ว ก็จะกระจายไปเจริญเติบโตในกระแสเลือดและอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย เช่น หลอดเลือด ตับ ไต ปอด และกล้ามเนื้อ
อาการสำคัญ คือปวดกล้ามเนื้อมาก โดยเฉพาะน่อง หลัง หรือหน้าท้อง ร่วมกับมีไข้ ควรรีบไปพบแพทย์ และในกรณีที่มีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง เป็นอาการที่รุนแรงมาก อาจทำให้มีโรคอื่นแทรกซ้อน จะต้องได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิดเท่านั้น
ยาที่ใช้ในการป้องกันที่ใช้ได้ คือยาดอกซีไซคลีน (Doxycycline) กินสัปดาห์ละ 200 มิลลิกรัม ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะพ้นภาวะเสี่ยงในการติดเชื้อแล้วค่อยหยุดกินยา




สมชาญ เจียรนัยศิลป์ . “โรคน่ารู้” หมอชาวบ้าน. 23 (272) : 22-24 ; ธันวาคม 2544.




โดย : นางสาว chanya pathamapikul, ripw klongluang pathumthani bangkok, วันที่ 13 มีนาคม 2545