มารู้จักเมนบอร์ดกันเถอะ

มารู้จักเมนบอร์ดกันเถอะ
เมนบอร์ดเป็นส่วนประกอบที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเครื่องคอมพิวเตอร์ก็ว่าได้ ลักษณะภายนอกถ้าดูเผินๆ ก็เหมือนแผงวงจรไฟฟ้าแผ่นใหญ่ที่มีชิพไอซีหรือขั้วต่อต่างๆ มากมายอยู่บนตัวมันเพื่อใช้ควบคุมการทำงานของอุปกรณ์ต่างๆ ที่จะมาต่อพ่วงไม่ว่าจะเป็นซีพียู, หน่วยความจำ, การ์ดเพิ่มขยายต่างๆ ฮาร์ดดิสก์, ฟลอปปีดิสก์, ซีดีรอมไดร์ฟ ฯลฯ อุปกรณ์เหล่านี้แม้ว่าจะมีความสำคัญเพียงใด เช่นซีพียู หรือหน่วยประมวลผลกลางซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่มีราคาแพงที่แพงที่สุดชิ้นหนึ่งในเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เปรียบเสมือนสมองที่ใช้คิด คำนวณอันแสนชาญฉลาดก็จะไม่สามารถทำงานได้ถ้าไม่ได้ติดตั้งลงบนเมนบอร์ด ดังนั้นเมนบอร์ดเปรียบเสมือนแกนหลักหรือร่างกายมนุษย์ที่มีส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น แขน, ขา, ตา, จมูก, ปาก ฯลฯ ซึ่งเปรียบเสมือนชิ้นส่วนต่างๆบนเมนบอร์ดหรืออุปกรณ์ภายนอกที่ติดตั้งอยู่กับเครื่องคอมพิวเตอร์

ส่วนประกอบที่สำคัญๆบนเมนบอร์ด
1. ชุดชิพเซ็ต
ชิพเซ็ตเปรียบเสมือนหัวใจสำคัญของเมนบอร์ด การทำงานของชิพเซ็ตนั้นจะเปรียบเสมือนล่ามแปรภาษาต่างๆให้อุปกรณ์แต่ละชิ้นที่อยู่บนเมนบอร์ดเข้าใจและทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยชิพเซ็ตนี้จะประกอบด้วยชิพเซ็ตไอซีทั้งหมด 2 ตัว(หรือมากกว่าในชิพเซ็ตรุ่นใหม่ๆ แต่ชิพเซ็ตสองตัวนี้ก็ยังเป็นหัวใจของเมนบอร์ดอยู่ดีเพียงแต่เปลี่ยนชื่อและความสามารถในการทำงานให้สูงขึ้นเท่านั้นเอง) นั่นคือชิพเซ็ตที่เรียกกันแบบง่ายๆว่า North Bridge หรือชื่อเป็นทางการขึ้นมาอีกนิดนึงก็คือ System Controller หรือ AGP Set และตัวที่สองคือ South Bridge
System Controller หรือ North Bridge
ชิพตัวนี้จะมีหน้าที่ควบคุมการทำงานของอุปกรณ์ที่ทำงานด้วยความเร็วสูงกว่าอุปกรณ์อื่นๆ บนเมนบอร์ด อุปกรณ์เหล่านี้ได้แก่ ซีพียู หน่วยความจำระดับแคชระดับสองหรือ L2 cache (ที่ปัจจุบันถูกโยกย้ายจากบนเมนบอร์ดไปอยู่ภายในตัวซีพียูเรียบร้อยแล้วในซีพียูรุ่นใหม่ๆ)
PCI to ISA Bridge หรือ South Bridge
ชิพเซ็ตตัวนี้ก็เปรียบเสมือนน้องชายของชิพเซ็ตตัวแรกจะรับภาระที่เบาลงมาหน่อยคือเป็นอุปกรณ์ที่ใช้เชื่อมต่อระหว่างระบบบัสแบบ PCI กับอุปกรณ์อื่นๆที่มีความเร็วต่ำกว่าตัวมันเช่นระบบบัสแบบ ISA, ระบบบัสอนุกรมแบบ USB, ชิพคอนโทรลเลอร์ IDE, ชิพหน่วยความจำรอมไบออส, ฟลอปผีดิสก์, คีย์บอร์ด, เมาส์แบบ PC/2, พอร์ตอนุกรมและพอร์ตขนาน
ชุดชิพเซ็ตจะมีอยู่ด้วยกันหลายรุ่นหลายบริษัทเช่นเดียวกับซีพียูทำให้เป็นที่สับสนต่อการเลือกใช้ชิพเซ็ตรุ่นใดก็ต้องพิจารณาจากซีพียูที่เราเลือกใช้เป็นหลัก



โดย : นาย ชัยทัศน์ ดุลภาคไพศาล, ว.ท. ฉะเชิงเทรา, วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2545