เมืองไทยในอนาคต

ความเฟื่องฟูของพุทธศาสนาแบบฆราวาส
พระไพศาล วิสาโล
เครือข่ายชาวพุทธเพื่อพระพุทธศาสนาและสังคมไทย

เมื่อไม่กี่ปีมานี้ ศูนย์ศึกษาพุทธศาสน์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยได้ทำการศึกษาว่าอะไรเป็น สาเหตุสำคัญที่ทำให้นักศึกษาไม่ไปฟังเทศน์ คำตอบที่ได้ก็คือ นอกจากเป็นเพราะไม่มีเวลาและไม่น่าสนใจแล้ว ยังเป็นเพราะนักศึกษามีความเห็นว่า“พระสงฆ์ไม่น่านับถือหรือไม่รู้ธรรมะดีพอ” (ร้อยละ ๔๕.๓)รองลงมาก็คือ เพราะ “หาความรู้จากแหล่งอื่นได้สะดวกกว่า”(ร้อยละ ๓๙.๓)
แม้การวิจัยดังกล่าวไม่ได้ระบุว่า “แหล่งอื่น” ที่นักศึกษาจะแสวงหาความรู้ทางธรรมได้นั้นมีอะไรบ้าง แต่ในสังคมปัจจุบันก็เห็นได้ชัดว่า หนังสือธรรมะและฆราวาสที่เป็นผู้รู้ในทางธรรมนั้นมีอยู่เป็นอันมากและสามารถเข้าถึงได้ง่าย นอกจากนี้ยังน่าสังเกตว่าสำนักและกลุ่มใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นในแวดวงพุทธศาสนานั้นไม่มีพระเกี่ยวข้องในฐานะผู้นำเลย ไม่ว่าสำนักท่านแม่บงกช สำนักเจ้าแม่กวนอิม ชมรมนิชิเร็นชินชู โคเอ็นก้า โยเร ยังไม่ต้องพูดถึงกลุ่มหรือลัทธิพิธีนอกพุทธศาสนา เช่น เสด็จพ่อร.๕ ชมรมสวดพระคาถาชินบัญชร หรือตำหนักทรงทั้งหลายซึ่งมีกลาดเกลื่อนไปทุกเมืองเวลานี้ (จำเพาะโคราช มีไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ สำนัก) ดังจะได้กล่าวต่อไปข้างหน้า
พระสงฆ์ไม่เพียงแต่กำลังจะมีบทบาทลงลงในฐานะแหล่งความรู้ทางธรรมเท่านั้น แม้แต่การเป็น “เนื้อนาบุญ” หรือเป็น “ตัวกลาง” ระหว่างฆราวาสกับบุญกุศลก็มีแนวโน้มลดลงด้วย สมัยก่อนพระกับบุญกุศลนั้นแยกจากกันไม่ออก ใครที่ต้องการทำบุญ(หรือต้องการให้บุญกุศลเพิ่มพูน)ก็ต้องไปทำกับพระ
แต่แนวโน้มดังกล่าวกำลังจะเปลี่ยนไปดังที่สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้พบว่า คนในเมืองใหญ่ ๆ ทั่วประเทศส่วนใหญ่แล้วเห็นด้วยว่า “การบริจาคเงินให้สมาคมและมูลนิธิที่ทำกิจกรรมเพื่อสาธารณประโยชน์ดีกว่าการบริจาคให้ศาสนสถาน” (ซึ่งรวมถึงวัดและโบสถ์) ทั้งนี้ยังไม่ต้องพูดถึงคนจำนวนมากที่หันไป “ทำบุญ” กับฆราวาสที่เป็นอาจารย์กรรมฐานหรือคนทรง

แหล่งที่มา เมืองไทย.2545[ออนไลน์].เข้าถึงได้จาก.

http://www.thaitopic.com/swebboard/00049.html



โดย : นางสาว ปวีณา มีธง, -, วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2545