http://www.rdpb.go.th/thai/important/Projects/pj204.htm
โครงการจัดหาแหล่งน้ำช่วยเหลือราษฎรนิคมสร้างตนเองลำปาว
อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดกาฬสินธุ์
1. พระราชดำริ / ความเป็นมา
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำริ เกี่ยวกับโครงการฟื้นฟูและบูรณะสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าในเขตนิคมสร้าง ตนเองลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อจัดหาน้ำช่วยเหลือราษฎร ดังนี้
1) วันที่ 25 มีนาคม 2540 พระราชทานพระราชดำริความว่า จะใช้วิธีสูบจากจุดเดียวแนวเดียว จากต่ำไปสูงทางเดียวกันไม่ได้ ต้องทำทีละทอดให้ทำอ่างพักน้ำก่อน แล้วสูบต่อออกไปเป็นทอดๆ อาจแยก เป็นอ่างพักน้ำ แยกกันต่อไปมิใช่มี 3 แห่ง ขณะนี้มีเครื่องสูบน้ำถวายมูล นิธิชัยพัฒนามาหลายเครื่อง อาจทดลองเอาไปใช้ได้ การใช้แพ เหล็กสำหรับวางเครื่องสูบน้ำ ขอให้พิจารณาให้ดีอาจจะไม่มีความคงทน มีทางใดหรือไม่ที่จะใช้วิธีการขุดคลอง ให้เข้าไปใกล้จุดที่ต้องการน้ำ
2) วันที่ 22 มิถุนายน 2542 พระราชทานพระราชดำริความว่า ภูมิประเทศในบริเวณนิคมสร้างตนเองลำปาวเป็นเนิน การสูบน้ำขึ้นไปใส่บ่อ พักเลยจะมีความสูงมาก ทำให้เสียค่าใช้จ่ายมาก แพงเกินไป ¤วรพิจารณาสูบน้ำส่งไปตามร่อง ห้วยเดิม แล้วก่อสร้างฝายกั้นน้ำตามความ เหมาะสมของภูมิประเทศจะทำให้เก็บน้ำไว้ในร่องห้วยได้ ต่อจากนั้นค่อยสูบต่อไปใส่บ่อพักบนสันเนินไม่ต้องใหญ่เพียง 2 เมตร ก็พอแล้ว ปล่อย
ลงมา 2 ข้างได้เลย ราษฎรจะได้ใช้ประโยชน์ได้ทันที โดยให้สูบน้ำเป็นช่วงๆ อาจจะแบ่งเป็น 3 ช่วง และสูบทยอยไป ในขณะเดียวกันก็จะเก็บกักน้ำ ไว้ในลำห้วย ทำให้บ่อชุ่มชื้นเป็นเหมือน Check Dam อีกด้วย
2. แนวทางการดำเนินงาน
สำนักงาน กปร. ได้ร่วมกับ กรมชลประทาน สำรวจสภาพพื้นที่และพิจารณาหาแนวทางการดำเนินงานแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพื่อช่วยเหลือ ราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อน โดยในเบื้องต้นเห็นสมควรมีแนวทางการดำเนินงาน ดังนี้
1) ควรพิจารณาขุดลอก ปรับปรุง พัฒนา แหล่งน้ำที่มีอยู่แล้วให้สามารถเก็บกักน้ำได้เพิ่มมากขึ้น เพื่อราษฎรบริเวณในพื้นที่จะได้ใช้ประโยชน์ เช่น ขุดลอกลำห้วยเพื่อให้สามารถเก็บกักน้ำได้ในลำห้วยมากขึ้น พัฒนา ปรับปรุงอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ที่ก่อสร้างไว้เดิมให้สามารถเก็บกักน้ำ ได้เต็มตามศักยภาพ
2) ควรพิจารณาขุดสระเก็บกักน้ำประจำไร่นา กระจายในพื้นที่ที่มีความเหมาะสมตามความต้องการของราษฎร
3) ควรพิจารณาก่อสร้างสถานีสูบน้ำพร้อมระบบท่อส่งน้ำไปยังบ่อพักน้ำที่ตั้งอยู่ในหมู่บ้านต่างๆ ของราษฎร เพื่อให้ราษฎรได้นำน้ำไปใช้ ประโยชน์ในการอุปโภค บริโภค และการเกษตรต่อไป
3. ผลการดำเนินงาน
จากการสำรวจสภาพพื้นที่ และพิจารณาหาแนวทางการดำเนินงานร่วมกันของสำนักงาน กปร. และกรมชลประทาน อีกทั้ง ประสานสอบถามความต้องการของราษฎรในพื้นที่ด้วยแล้ว ขณะนี้ได้มีการดำเนินงานเพื่อจัดหาแหล่งน้ำช่วยเหลือราษฎรไปแล้ว ดังนี้
1) ขุดลอก ปรับปรุงหนองน้ำธรรมชาติสาธารณะ และลำห้วยในบริเวณที่มีศักยภาพให้สามารถเก็บกักน้ำได้มากยิ่งขึ้น จำนวน 4 แห่ง ใน 4 ตำบล มีน้ำเก็บกักได้เต็มทุกแห่ง และราษฎรจำนวนประมาณ 185 ครัวเรือนได้ใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำนี้แล้ว และประมาณเดือนพฤศจิกายน 2542 นี้ จะดำเนินการขุดลอกหนองน้ำสาธารณะ (คูบักสาม) ประจำหมู่บ้านโคกใหญ่ อีก 1 แห่ง เพื่อให้ราษฎรจำนวน 1 หมู่บ้าน ได้มีแหล่งน้ำไว้ใช้ประโยชน์ต่อไป
ขุดลอกลำห้วยพร้อมก่อสร้างฝาย ดังนี้
1.1 ขุดลอกลำห้วยบง อำเภอโคกศาลาทอง ตำบลโนนน้ำเกลี้ยง อำเภอสหัสขันธ์ ขนาดกว้างประมาณ 20 เมตร ยาวประมาณ 1,750
เมตร ลึกเฉลี่ย 3 เมตร พร้อมก่อสร้างฝายในลำห้วย 2 แห่ง เพื่อทดเก็บกักน้ำไว้ในลำห้วย ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ มีน้ำเก็บกักหน้าฝายในลำห้วยจำนวนมาก ในฤดูแล้งนี้ราษฎรจะมีแหล่งน้ำไว้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่การเกษตร
1.2 ขุดลอกลำห้วยเสือเต้น (ห้วยบ้าน) บ้านห้วยเสือเต้น ตำบลโนนน้ำเกลี้ยง อำเภอสหัสขันธ์ ขนาดกว้างประมาณ 16 เมตร ยาวประมาณ 1,500 เมตร ลึกเฉลี่ย 3 เมตร พร้อมก่อสร้างฝายในลำห้วย 5 แห่ง ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการก่อสร้างฝายทั้ง 5 แห่ง เสร็จเรียบร้อยแล้ว และกำลังจะขุดลอกลำห้วยต่อไป
1.3 ขุดสระเก็บกักน้ำประจำไร่นา กระจายในพื้นที่ที่มีความเหมาะสมและเป็นความต้องการของราษฎร โดยราษฎรจะต้องออกค่าใช้จ่าย สมทบสระละ 5,000 บาท จำนวน 100 สระ แต่ขณะนี้ได้ดำเนินขุดแล้วเสร็จ จำนวน 28 สระ สามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้ประโยชน์ในฤดูแล้งนี้ได้แล้ว ส่วนที่เหลือหลังฤดูฝนจะได้ดำเนินการขุดให้แล้วเสร็จต่อไป
1.4 ก่อสร้างสถานีสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำลำปาว จำนวน 2 สถานี พร้อÁระบบท่อส่งน้ำและจ่ายน้ำ ความยาวรวม 26,221 เมตร เพื่อสูบน้ำส่งโดยท่อ ใส่บ่อพักเป็นจุดๆ ในระดับพื้นที่สูงแล้วบางบ่อพักน้ำในระดับพื้นที่สูงจ่ายน้ำให้บ่อพักน้ำในระดับพื้นที่ต่ำกว่า โดยมีจำนวนบ่อพักน้ำทั้งหมด 14 บ่อ กระจายอยู่ในหมู่บ้าน จำนวน 14 หมู่บ้าน ซึ่งราษฎร 982 ครัวเรือน จำนวน 4,844 คน ได้รับประโยชน์โดยตรงและกลุ่มราษฎรในแต่ละหมู่บ้านสามารถบริหารจัดการนำน้ำจากบ่อพักน้ำเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์เพื่อการอุปโภค บริโภค และการเกษตรได้ตลอดปีด้วยตนเอง อีกทั้งในอนาคต จะได้มีการแนะนำวิธีการควบคุม ดูแล บำรุงรักษา เพื่อให้ราษฎรดังกล่าวได้บริหารจัดการด้วยตนเองทั้งระบบต่อไป
4. แผนงานที่จะดำเนินการต่อไป
สำนักงาน กปร. กรมชลประทาน และราษฎรในพื้นที่ได้พิจารณาร่วมกันแล้ว ประกอบกับแนวพระราชดำริที่ได้พระราชทานเห็นสมควรที่จะมีแผนการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2543 และปีต่อไป เพื่อช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่อื่นๆ ดังนี้
4.1 สำรวจสภาพพื้นที่อย่างละเอียด เพื่อพิจารณาหาศักยภาพของแหล่งน้ำผิวดิน โดยจะทำการขุดลอก ปรับปรุง พัฒนาและก่อสร้างฝายเก็บกักน้ำไว้ในลำห้วย เพื่อไว้ใช้ประโยชน์และสร้างความชุ่มชื้นในบริเวณใกล้เคียง
4.2 สำรวจสภาพพื้นที่อย่างละเอียดเพื่อพิจารณาหาศักยภาพในการก่อสร้างระบบสูบน้ำส่งไปตามลำห้วย หรือบ่อพักบนพื้นที่สูง แล้วปล่อยน้ำลงในระดับพื้นที่ต่ำ
4.3 นอกเขตพื้นที่ 4.1 และ 4.2 ที่ไม่สามารถดำเนินการดังกล่าวได้ จะพิจารณาขุดสระน้ำประจำไร่นÒ
5. ประโยชน์ของโครงการ
ราษฎรนิคมสร้างตนเองลำปาวจำนวน 21 หมู่บ้าน 3 ตำบล 2 อำเภอ เป็นจำนวนประมาณ 7,289 คน 1,360 ครัวเรือน เป็นราษฎร·Õè ่ได้รับความเดือดร้อนมาเป็นระยะเวลาประมาณ 30 ปีแล้ว จากผลกระทบการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำลำปาว โดยทางราชการช่วยเหลือ จัดที่อยู่อาศัยและที่ทำกินให้ใหม่บริเวณพื้นที่ริมขอบอ่างเก็บน้ำลำปาวฝั่งซ้าย ซึ่งเป็นที่สูง และเป็นลูกเนินสลับซับซ้อนให้ครอบครัวละ 1.5 ไร่ อีกทั้ง ดำเนินการโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้า เพื่อจัดหาน้ำช่วยเหลือราษฎร แต่โครงการฯ ไม่ประสบผลสำเร็จ เกิดปัญหาไม่สามารถช่วยเหลือราษฎรได้
ดังนั้น ในการดำเนินงานตามโครงการจัดหาแหล่งน้ำช่วยเหลือราษฎรนิคมสร้างตนเองลำปาวนี้ จะก่อให้เกิดคุณประโยชน์ ดังนี้
ประโยชน์ต่อราษฎร
เป็นการจัดหาแหล่งน้ำเพื่อช่วยเหลือราษฎรให้มีน้ำ เพื่อการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ และอุปโภค บริโภคอย่างเพียงพอตลอดปี
เป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ราษฎรที่ยินยอมเสียสละที่ดินในการสร้างอ่างเก็บน้ำที่ผ่านมา โดยที่ทางราชการยังให้การดูแลเป็นอย่างดี
ประโยชน์ต่อประเทศ
เป็นการพัฒนาส่งเสริมอาชีพ ความเป็นอยู่ของราษฎรทำให้มีชีวิตที่ดีขึ้น มีรายได้เพิ่มมากขึ้น ไม่ต้องเป็นภาระในการดูแลของรัฐบาล รวมทั้งการอพยพย้ายถิ่นหาที่ทำกินหรือเคลื่อนย้ายแรงงานไม่เกิดขึ้น
เป็นการพัฒนาพื้นที่ให้เกิดความมั่นคง และเป็นแหล่งผลิตการเกษตรต่อไป
|