โครงการแก้ไขปัญหาดินเค็ม

http://www.rdpb.go.th/thai/important/Projects/pj207.htm

โครงการแก้ไขปัญหาดินเค็มในเขตจังหวัดสกลนคร
1. พระราชดำริ / ความเป็นมา

àÁ×èÍวันที่ 26 พฤศจิกายน 2541 สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้พระราชทานพระราชดำริ ให้พิจารณาช่วยเหลือราษฎร 9 หมู่บ้าน ที่ได้รับความเดือดร้อนจากดินเค็ม ต่อมาวันที่ 27 พฤศจิกายน 2541 ได้อัญเชิญกระแสพระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้พิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับงานชลประทานในการแก้ไขปัญหาน้ำเค็ม และดินเค็มที่เกิดจากการทำนาเกลือสินเธาว์ เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ทำการเกษตรในเขตโครงการฯ ได้โดยเร็ว

2. แนวทางการดำเนินงาน

สำนักงาน กปร. ได้ประสานส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน จังหวัดสกลนคร และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ สำรวจพื้นที่ประกอบการทำนาเกลือและพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ รวมเป็นพื้นที่โครงการฯ ทั้งสิ้น 10,005 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่เขตอำเภอบ้านม่วง 7,114 ไร่ พื้นที่เขตอำเภอวานรนิวาส 2,891 ไร่ จากการสำรวจสามารถจำแนกปริมาณเกลือสะสม และระดับความรุนแรงของปัญหาออกเป็น 4 ส่วน คือ

พื้นที่บริเวณที่ผลิตเกลือ ซึ่งเป็นบริเวณที่มีเกลือสะสมอยู่สูงมากมีเนื้อที่ประมาณ 2,419 ไร่ สภาพโดยทั่วไปพืชไม่สามารถเจริญเติบโตได้ เนื่องจากมีคราบเกลือหนาบนชั้นดิน ต้องทำการล้างดิน เพื่อนำเกลือออกจากพื้นดิน
พื้นที่ว่างเปล่า ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง มีพื้นที่ประมาณ 491 ไร่ ซึ่งต้องทำการล้างดิน เพื่อปรับสภาพแวดล้อม
พื้นที่นาข้าวที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง มีเนื้อที่ประมาณ 562 ไร่ เป็นพื้นที่ที่ยังสามารถปลูกข้าวได้ แต่ผลผลิตค่อนข้างต่ำ ต้องทำการปรับปรุงบำรุงดิน เพื่อเพิ่มผลผลิตให้แก่ชาวนา
พื้นที่นาข้าวที่ได้รับผลกระทบปานกลางและน้อย มีเนื้อที่ประมาณ 5,332 ไร่ พื้นที่บริเวณนี้มีเกลือสะสมอยู่ แต่ยังสามารถปลูกข้าวได้ ต้องดำเนินการปรับปรุงบำรุงดินเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไป

3. ผลการดำเนินงาน

จากการสำรวจและแบ่งพื้นที่พัฒนา สำนักงาน กปร. ร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการวางแผนงานเพื่อแก้ไขปัญหาดินเค็ม โดยวางโครงการแก้ไขปัญหาออกเป็น 2 ส่วนคือ

โครงการแก้ปัญหาดินเค็มในพื้นที่จังหวัดสกลนคร ดำเนินการวางแผนการพัฒนาพื้นที่ดินเค็ม ซึ่งมีผลการดำเนินงานดังนี้
1.1 แผนงานพัฒนาแหล่งน้ำ ดำเนินการขุดลอกแหล่งน้ำสาธารณลำห้วยบ่อแดง ความยาว 10 กิโลเมตร เพื่อขนย้ายคราบเกลือที่สะสมอยู่บนดิน และทำการล้างดินในลำห้วย เพื่อให้เกลือเจือจาง และราษฎรสามารถนำน้ำในลำห้วยไปใช้ในการเกษตรได้ ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จ

1.2 แผนงานพัฒนาที่ดิน ดำเนินการจำแนกดินและวางแผนการใช้ที่ดินทั้งโครงการฯ โดยการออกแบบเป็นพื้นที่นำร่อง และส่งเสริมการปรับปรุงบำรุงดินโดยใช้ปุ๋ยพืชสด อาทิ การปลูกโสนอัฟริกัน เป็นต้น ตลอดจนส่งเสริมการปลูกพืชทนเค็ม การเลี้ยงสัตว์ปีก เช่น เป็ดเทศ และการเลี้ยงปลาทนเค็ม ทั้งนี้ได้วางแผนพัฒนาที่ดินให้สอดคล้องกับระดับความรุนแรงของปัญหา ซึ่งแผนงานต่าง ๆ จะดำเนินการในปี 2543

1.3 แผนการลดผลกระทบจากเกลือที่เก็บกักไว้ เนื่องจากในช่วงฤดูการผลิต ราษฎรผลิตเกลือไว้จำนวนมาก (ประมาณ 30,000 ตัน) และเก็บไว้ในที่ดินของตนเอง บางรายเก็บไม่ดีเกลือก็จะละลายกระจายความเค็มไปสู่พื้นที่อื่น ๆ มากขึ้น ทางจังหวัดสกลนครร่วมกับกองทัพภาคที่ 2 และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้พยายามแนะนำส่งเสริมให้ราษฎรหาที่จัดเก็บให้ถูกต้อง รวมทั้งประสานขอความร่วมมือกับผู้ซื้อให้รีบดำเนินการจัดซื้อและขนย้ายเกลือ ออกจากพื้นที่ก่อนที่จะฝนตกลงมา ทั้งนี้ ราษฎรได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ประกอบกับในช่วงก่อนฤดูฝน ราคาเกลือขึ้นไปสูงมาก ราคาตันละกว่า 1,000 บาท ทำให้ราษฎรรีบขายเกลือออกไปจนหมดสิ้น ทำให้ไม่มีปัญหาการแพร่กระจายความเค็มของเกลือที่ค้างอยู่

โครงการจัดตั้งศูนย์พัฒนาพื้นที่ดินเค็มที่ได้รับผลกระทบจากการทำนาเกลือสินเธาว์
ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันจัดตั้งศูนย์พัฒนาพื้นที่ดินเค็ม เพื่อเป็นโครงการ ตัวอย่าง ที่ทำการศึกษาและสาธิตการพัฒนาพื้นที่ดินเค็มให้เหมาะสมกับความเค็มในระดับต่าง ๆ เพื่อให้การใช้ประโยชน์จากที่ดินมีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผลแบบยั่งยืน ซึ่งมีการวางแผนการดำเนินงานดังนี้
2.1 การสำรวจและจำแนกดิน มีผลการสำรวจดิน ดังนี้

กลุ่มที่ 1 ดินตอนบนเป็นดินร่วนปนทราย สีน้ำตาล มีคราบเกลือที่ผิวดินน้อย ดินตอนล่างความลึกตั้งแต่ 80 ซม. ลงไป เป็นดินร่วนปนทรายผสมลูกรัง และมีความลึก 120 ซม. เป็นชั้นลูกรังแน่นแข็ง ไม่มีปัญหาเรื่องการสะสมเกลือในดินบริเวณนี้ สภาพพื้นที่เป็นที่ดอน การระบายน้ำดีใต้ดินลึกกว่า 2 เมตรในฤดูแล้ง กลุ่มนี้มีพื้นที่ประมาณ 27.8 เปอร์เซ็นต์ หรือ 42.8 ไร่

กลุ่มที่ 2 ดินตอนบนเป็นดินร่วนปนทราย สีน้ำตาลเข้ม มีคราบเกลือที่ผิวดินปานกลาง ดินตอนล่างเป็นดินเหนียวปนทราย ดินมีความเค็มสะสมอยู่สูง มีค่าความนำไฟฟ้า EC (1 : 5) อยู่ในช่วง 3.5 –14 mS/cm. สภาพพื้นที่เป็นช่วงต่อระหว่างที่ต่ำกับที่ดอน การระบายน้ำค่อนข้างเลว น้ำใต้ดินลึกมากกว่า 2 เมตรในฤดูแล้ง บริเวณนี้มีพื้นที่ประมาณ 14.6 เปอร์เซ็นต์ หรือ 22.5 ไร่

กลุ่มที่ 3 ดินตอนบนเป็นดินร่วนปนทราย สีน้ำตาลเข้ม มีคราบเกลือที่ผิวดินปานกลาง มีค่าการนำไฟฟ้า (EC 1:5) 6.7 mS/cm.ดินตอนล่างเป็นดินร่วนเหนียวปนทราย มีค่าการนำไฟฟ้า (EC 1:5 ) อยู่ในช่วง 3-6.4 Ms/cm. ดินที่ความลึกประมาณ 1.5 เมตร อยู่ในสภาพชุ่มน้ำ สภาพพื้นที่เป็นส่วนต่ำของที่ดอน การระบายน้ำเลว น้ำใต้ดินบริเวณนี้อยู่ที่ความลึก 1.5 เมตร มีพื้นที่ประมาณ 3.2 เปอร์เช็นต์ หรือ 4.9 ไร่

กลุ่มที่ 4 ดินตอนบนเป็นดินเหนียว ดินเหนียวปนทราย มีสีน้ำตาลปนเทา มีคราบเกลือที่ผิวดินมาก มีค่าความเค็มสูง ดินล่างเป็นดินเหนียว มีจุดประสีแดง ที่สลายตัวมาจากหินทรายแป้ง (silt stone) มีความเค็มสะสมอยู่มาก มีค่าความนำไฟฟ้า ( EC 1:5 ) อยู่ในช่วง 3-8 mS/cm. สภาพพื้นที่เป็นที่ลุ่ม การระบายน้ำเลว น้ำใต้ดินลึกกว่า 2 เมตรในฤดูแล้ง มีพื้นที่ประมาณ 51.9 เปอร์เซ็นต์ หรือ 80 ไร่

กลุ่มที่ 5 ดินตอนบนเป็นดินร่วนปนทราย มีคราบเกลือบนผิวปานกลาง ดินตอนล่างเป็นดินร่วนเหนียวปนทราย มีความเค็มสะสมอยู่ในตอนล่างมาก สภาพพื้นที่เป็นที่ดอน การระบายน้ำดีปานกลาง น้ำใต้ดินลึกมากกว่า 2 เมตรในฤดูแล้ง มีพื้นที่ประมาณ 2.5 เปอร์เซ็นต์ หรือ 3.8 ไร่

2.2 แนวทางการดำเนินการ
เมื่อจำแนกดินและวางแผนการใช้ที่ดินให้สอดคล้องกับศักยภาพของดินแล้ว ได้นำมาใช้ในการวางแผนงานพัฒนาพื้นที่ดังนี้ คือ

แผนงานฟื้นฟูสภาพดิน – เตรียมดำเนินการขุดคูล้อมรอบพื้นที่และปรับระดับพื้นดิน เพื่อระบายความเค็มออกจากแปลงลงสู่บ่อระบายน้ำ จากนั้นเตรียมผันน้ำจากลำน้ำห้วยสาธารณะมาใช้ในพื้นที่ รวมทั้งการนำน้ำชลประทานมาเสริมในแปลง โดยเน้นการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด

แผนงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน – ดำเนินการสำรวจ ออกแบบและเตรียมการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ คันดิน ประตูน้ำ ระบบควบคุมน้ำ การระบายน้ำ ตลอดจนการจัดหาแหล่งน้ำให้สอดคล้องและถูกต้องตามหลักวิชาการ และแผนฟื้นฟูสภาพดิน

แผนการสาธิต - จัดเตรียมวางผังการใช้ที่ดิน สำหรับเป็นแปลงตัวอย่างในการดำเนินกิจกรรมการเกษตรด้านต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับระดับความเค็มของดินที่แตกต่างกัน โดยใช้ข้อมูลที่ได้รับจากการศึกษาและสำรวจ นำมาจัดทำเป็นแปลงสาธิตในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ การปรับปรุงบำรุงดินเค็มเพื่อเพิ่มผลผลิตข้าว การปลูกไม้ยืนต้นที่ทนเค็ม การทำเกษตรผสมผสาน ไร่นาสวนผสม ทฤษฎีใหม่ การเลี้ยงสัตว์ ตลอดจนการประมง

การดำเนินงานและการเตรียมแผนงานต่าง ๆ เหล่านี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรที่ประสบปัญหาดินเค็ม ตลอดจนลดความขัดแย้งระหว่างผู้ประกอบการทำนาเกลือ และชาวนาข้าว ให้สามารถประกอบอาชีพได้อย่างไม่ก่อให้เกิดปัญหาและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ แผนงานต่าง ๆ พร้อมที่จะดำเนินการในปี 2543 ต่อไป









โดย : นาย โสภน หงษ์วิจิตร, ripw, วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2545