โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนา

http://www.rdpb.go.th/thai/important/Projects/pj103.htm


โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริจังหวัดฉะเชิงเทรา


1.พระราชดำริ

เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2540 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ และได้มีพระราชกระแสรับสั่งเพิ่มเติมดังนี้

1.1 ให้ดำเนินการปลูกหญ้าแฝกเป็นแนวกั้นขอบชายป่าที่มีความลาดเท และศึกษาในพื้นที่ดินดานของเขาหินซ้อน รวมทั้งดำเนินการศึกษาความสามารถของหญ้าแฝกในการปรับปรุงโครงสร้างของดิน

1.2 เร่งรัดพัฒนาดินเสื่อมโทรม จัดทำแหล่งน้ำรวมทั้งโครงการสร้างพื้นฐานให้แก่เกษตรกรในบริเวณพื้นที่โครงการ

1.3 การจัดทำบัญชีฟาร์มและกลุ่มสหกรณ์ เพื่อให้เกษตรกรทำและใช้ประโยชน์จากการทำบัญชีฟาร์ม

2.แผนการดำเนินงานสนองพระราชดำริ

เพื่อให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมาย ได้กำหนดแนวทางและมาตรการการพัฒนาศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ สรุปได้ดังนี้

2.1 ด้านการวิจัยและพัฒนา เน้นการดำเนินงานตามแนวพระราชดำริ ด้านการเกษตรในลักษณะสหวิทยาการ โดยการแสวงหาเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการประกอบอาชีพ

2.2 ด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยี เผยแพร่ และส่งเสริม เน้นการสาธิตการพัฒนาเกษตรแบบยั่งยืน รวมทั้งการจัดฝึกอบรมและส่งเสริมการประกอบอาชีพ และการประชาสัมพันธ์การดำเนินงานของศูนย์

2.3 ด้านการบริการและขยายผล เน้นการทำการเกษตรแบบยั่งยืนตามแนวคิดทฤษฏีใหม่
การพัฒนาที่ดินตามสภาพภูมิประเทศ เพื่อการใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำ µลอดจนการบำรุงดูแลรักษาระบบโครงสร้าง พื้นฐานให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ และมีความพร้อมในการสนับสนุนการพัฒนาแก่เกษตรกร บริการและสนับสนุน
การพัฒนาอาชีพ สังคม การศึกษา สาธารณสุขของประชาชน

2.4 ด้านการบริหารจัดการ เน้นการจัดตั้งศูนย์ระบบข้อมูลและศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยี
รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรให้มีประสิทธิภาพ

ในปีงบประมาณ 2541 มีแผนงานสนองพระราชดำริ ดังนี้

การปลูกหญ้าแฝกรอบแนวป่าไม้
การทดลองปลูกหญ้าแฝกในดินดาน
การพัฒนาลุ่มน้ำโจน
การแก้ไขปัญหาน้ำรั่วของสระเก็บน้ำในพื้นที่ส่วนพระองค์
การขยายผลสู่หมู่บ้านรอบศูนย์
การจัดทำบัญชีฟาร์ม
การจัดตั้งกลุ่มสหกรณ์แต่ละหมู่บ้าน
การทดสอบปลูกยูคาลิปตัสร่วมกับยางนา/กระถิน
การจัดที่ดินในรูปแบบ สทก.1 สทก.2 สทก.3
การประชาสัมพันธ์และเผยแพร่โครงการ
3.ผลการดำเนินงานสนองพระราชดำริ

การปลูกหญ้าแฝกรอบขอบแนวป่าไม้ บริเวณขอบอ่างเก็บน้ำห้วยเจ๊ก ได้ดำเนินการไปแล้ว โดยการปลูกหญ้าแฝกตามแนวป่าของสวนพฤกษศาสตร์ภาคตะวันออก ด้านที่ติดกับอ่างเก็บน้ำห้วยเจ๊ก ในศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ ซึ่งในฤดูฝนที่จะถึงนี้ได้เตรียมการที่จะดำเนินการปลูกตามแนวขอบป่าไม้ ในบริเวณพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป

การทดลองปลูกหญ้าแฝกในดินดาน ได้ดำเนินการทดลองในดินดาน ซึ่งดินดานในบริเวณศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ มีลักษณะ 2 ประการ คือ

เป็นดินที่มีการชะล้างหน้าดินและเหลือชั้นที่มีดานในหน้าตัดดินหนา
เป็นดินดานที่แข็งตัวเมื่อขาดความชื้นหรือดินแห้ง ซึ่งการทดลองดังกล่าว อยู่ระหว่างการดำเนินการและเก็บข้อมูล
แผนการพัฒนาลุ่มน้ำโจน โดยพิจารณาความร่วมมือของชาวบ้าน

ได้ดำเนินการสร้างรูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดิน รูปแบบการพัฒนาตามสภาพพื้นที่เพื่อเป็นทางเลือกแก่เกษตรกรในพื้นที่ศูนย์ฯ แล้ว
ดำเนินการขุดลอกห้วยน้ำโจน ความยาวประมาณ 2 กม. และจัดทำฝายน้ำล้น จำนวน 2 แห่ง
การทบทวนการพัฒนาแหล่งน้ำ จากเดิมที่ได้ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำไปแล้ว 9 แห่ง และที่กรมชลประทานวางแผนและสำรวจไว้ อีก 9 แห่ง ได้นำมาทบทวนอีกครั้ง พบว่าสามารถก่อสร้างได้ 3 แห่ง แต่จะมีปัญหาด้านราคาที่ดินสูงมาก ส่วนอีก 6 แห่งนั้น ไม่มีศักยภาพพอที่จะก่อสร้างอ่างเก็บน้ำได้ ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงสภาพการใช้ที่ดินและสภาพภูมิอากาศในบริเวณโครงการเปลี่ยนไป จึงพิจารณาวางโครงการก่อสร้างฝายต้นน้ำแทนการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำตามลำห้วยสาขา ลำน้ำโจน จำนวน 5 แห่ง ซึ่งมีความเหมาะสมมากกว่าและมีปริมาณน้ำพอเพียงสามารถส่งให้กับพื้นที่การเกษตรได้ และได้ก่อสร้างไปแล้ว 2 แห่ง ส่วนอีก 3 แห่ง จะใช้งบปกติปี 2542 – 2543 ดำเนินการ
การแก้ไขปัญหาน้ำรั่วของสระเก็บน้ำในพื้นที่ส่วนพระองค์ สระตัวที่ 6,8,9 โดยใช้ soil cement หรือปูแผ่นยาง ได้ดำเนินการสำรวจแล้ว ขณะนี้กำลังดำเนินการออกแบบรายละเอียด และจะดำเนินการในปี 2542 โดยขอใช้งบจาก กปร.

การขยายผลสู่หมู่บ้านรอบศูนย์ฯ โดยช่วยพัฒนาด้านแหล่งน้ำ ปรับปรุงดิน โครงสร้างพื้นฐานและถ่ายทอดเทคโนโลยี

1. ได้ดำเนินการประเมินจากเกษตรกรที่ได้รับการจัดสรรแหล่งน้ำขนาด 1,260 ลบ.เมตร จำนวน 194 ราย สามารถปรับโครงสร้างการผลิตจากการทำการเกษตรเชิงเดี่ยวสู่การ
ทำการเกษตรแบบผสมผสาน โดยจำแนกได้ดังนี้

- จำนวน 27 ราย มีความสมบูรณ์ อยู่ในขั้นที่ใช้เป็นตัวอย่างได้ (แกนนำ)
- จำนวน 115 ราย อยู่ในขั้นของการพัฒนาใกล้จะเต็มรูปแบบ
- จำนวน 45 ราย อยู่ในขั้นเริ่มปรับเปลี่ยนระบบการผลิต
- จำนวน 5 ราย ใช้ประโยชน์น้ำในสระเก็บน้ำด้านอื่น ๆ ยังไม่มีการปรับโครงสร้างการผลิต

2. ร่วมกับ ดร.โสภณ ธนะมัย ภาควิชาอาชีวศึกษา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เตรียมการสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลบุคคล รายครัวเรือนในพื้นที่โครงการ เพื่อนำมาประกอบการวางแผนการพัฒนาต่อไป

3. การพัฒนาแหล่งน้ำ ปี 2541 ได้ประสานเครื่องจักรกลกับสำนักงานหน่วยบัญชาการทหารพัฒนาภาค 1 และใช้งบประมาณ จาก กปร. ดำเนินการพัฒนาแหล่งน้ำ พร้อมทั้งจัดทำโครงการนำร่องทฤษฎีใหม่ในพื้นที่เกษตรกร จำนวน 4 ราย

การจัดทำบัญชีฟาร์ม ได้ดำเนินการจัดฝึกอบรมแก่เกษตรกรหมู่บ้านรอบศูนย์ฯ เกี่ยวกับการจัดทำบัญชีฟาร์ม รวมถึงการติดตามผลทุก ๆ เดือน จากชุดนำร่อง จำนวน 35 ราย สรุปผลได้ดังนี้คือ

จัดทำบัญชีโดยสม่ำเสมอ 11 ราย
จัดทำเป็นครั้งคราว 4 ราย
ที่เหลืออีก 20 ราย ยังไม่สามารถให้ตรวจสอบได้ทั้งนี้เพราะ
1) ไม่คุ้นเคยกับการบันทึกบัญชี
2) การประกอบอาชีพมีรายการเกิดน้อยครั้งจึงลืมทำ
3) ไม่สามารถเขียนหนังสือได้

การประชาสัมพันธ์และเผยแพร่โครงการ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ ได้จัดทำการเผยแพร่ ทั้งงานด้านการขยายผลการศึกษา และผลการวิจัยที่ได้ผลแล้ว ไปสู่หมู่บ้านรอบศูนย์อยู่ตลอดเวลา นกจากนี้ ยังได้เผยแพร่ในแง่งานประชาสัมพันธ์งานวิชาการของศูนย์ฯ ให้กับประชาชน นักศึกษา กลุ่มข้าราชการ ที่เข้ามาศึกษารูปแบบการศึกษาวิจัยสาธิตต่าง ๆ ของศูนย์อยู่ตลอดเวลา และเป็นจำนวนมาก

4. แนวทางการดำเนินงานโครงการในระยะต่อไป

4.1 ด้านการวิจัยและพัฒนา ได้แก่

- งานสร้างพันธุ์ลูกผสมสองชั้นในพืชผักรับประทานผล
- งานเพาะชำกล้าไม้พรรณไม้ตะวันออก
- งานปรับปรุงพื้นที่สวนพฤกษศาสตร์และจัดตั้งหอพรรณไม้ภาคตะวันออก
- งานอนุรักษ์พันธุกรรมพืช

4.2 ด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยี เผยแพร่ และส่งเสริม ได้แก่

- งานสาธิตการทอผ้าและทอเสื่อ

4.3 ด้านการบริการและขยายผล ได้แก่

- งานขยายผลการใช้ประโยชน์ที่ดินตามแนวทฤษฎีใหม่ตามพระราชดำริ
- งานขยายผลการพัฒนาลุ่มน้ำโจน




โดย : เด็กชาย รุ่งโรจน์ ดาพรม, ราชภัฏเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์, วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2545