ฟลูออไลด์เป็นพิษ ชุมชนแก้ไขได้

โดย Joe:D [joe@samukkee.org]
http://www.samukkee.org/magazine/

ปัญหานํ้าบริโภคสำหรับประชาชนในต่างจังหวัด ถึงแม้ว่าจะเป็นปัญหาที่ได้รับการหยิบยกดูแลและแก้ไขมานาน แต่การจัดการคุณภาพของนํ้าให้สะอาด ทัดเทียมกับนํ้าประปาที่ผ่านการบำบัดอย่างดีเช่นในกรุงเทพนั้น ยังห่างไกลความจริงอยู่มาก การคิดประดิษฐ์เครื่องกรองนํ้าที่มีประสิทธิภาพทัดเทียมของนอก ขึ้นมาใช้เองในชุมชนบ้านสันคะยอม จ.ลำพูน จึงเป็นตัวอย่างที่ดีของการพึ่งตนเอง ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ

จวบจนปัจจุบัน การหานํ้ามาใช้บริโภคของชุมชนในต่างจังหวัด โดยเฉพาะในหมู่บ้านที่อยู่ห่างจากตัวเมือง จะนำมาจากบ่อบาดาลโดยจะเอามาผ่านการกรองหรือการต้มก่อนที่จะมาใช้ดื่มกิน แต่ทว่าปัญหาที่พบและเริ่มตื่นตัวในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา คือการตรวจพบสารฟลูออไรด์ในนํ้าบาดาล ซึ่งการกำจัดสารฟลูออไรด์นั้น ไม่สามารถทำได้ด้วยการกรองแบบมาตราฐานเพียงอย่างเดียว วิธีการที่ดีที่สุดคือการใช้เครื่องกรองแบบซึมกลับ (Reverse osmosis) ซึ่งต้องอาศัยตัวเครื่องและอุปกรณ์จากต่างประเทศ อีกทั้งตัวใส้กรองยังต้องเปลี่ยนตามอายุการใช้งาน สิ่งเหล่านี้ทำให้ค่าใช้จ่ายและการบำรุงรักษาของเครื่องกรองดังกล่าวมีราคาสูง และเป็นไปได้ยากที่จะนำมาใช้ในทุกชุมชนที่มีปัญหาในเรื่องนํ้า

เป็นที่น่าภูมิใจว่า ที่บ้านสันคะยอม ตำบลมะขามแจ้ อำเภอเมือง จังหวดลำพูนได้ริเริ่มการพึ่งตนเอง โดยผสมผสานภูมิปัญญาของชาวบ้าน บวกกับความพยายามของบุคคลในท้องถิ่น และความร่วมมือของหน่วยงานรัฐบาล ได้คิดประดิษฐ์เครื่องกรองนํ้า โดยเผากระดูกสัตว์และนำเถ้าที่ได้มาใช้เป็นตัวกรองนํ้า สามารถบำบัดนํ้าจากบ่อบาดาล ให้ปราศจากสารฟลูออไรด์อย่างได้ผล

จุดเริ่มต้นของโครงการเกิดขึ้นที่โรงเรียนสันคะยอม ซึ่งเป็นโรงเรียนในชุมชนบ้านสันคะยอม ขนาดรับนักเรียนได้ 260 คน มีครูทั้งหมด 16 คน สอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงม.3 อาจารย์เกตุ ไชยมงคล ครูใหญ่ประจำโรงเรียน ได้เล่าถึงปัญหาที่เกิดขึ้นว่า ชุมชนชาวบ้านสันคะยอมได้บริโภคนํ้าบาดาลซึ่งมีสารฟลูออไรด์มานาน สารนี้เมื่อมีการสะสมในเด็กในปริมาณที่มากเกินไป จะทำให้เด็กฟันลาย มีคราบเกาะที่ฟันเป็นสีเหลือง จนเป็นที่รู้กันว่าคนบ้านสันคะยอมมีฟันเหลือง เป็นปมด้อยของเด็กนักเรียน โดยเด็กจะเริ่มมีฟันลายตั้งแต่ชั้นป.1 เด็กจะเริ่มมีปัญหาเมื่อขึ้นระดับมัธยม ปมด้อยเด่นชัดขึ้น เด็กจะขาดความมั่นใจ เวลามีกิจกรรมร่วมกันกับโรงเรียนอื่นก็จะไม่กล้าเข้าร่วมเพราะกลัวถูกล้อว่ามีฟันเหลือง เด็กๆเขาจะแก้ปัญหาด้วยการนำกระดาษทรายเบอร์ 0 มาขัดฟันให้ขาว พอพักเที่ยงเนี่ยก็จะนั่งจับกลุ่มกันขัดฟัน ดูแล้วน่าเป็นห่วง

อาจารย์เกตุได้มองเห็นถึงปัญหาและได้ศึกษา จนพบรายงานเกี่ยวกับปัญหาของสารฟลูออไรด์ในนํ้าและได้พยายามหาทางแก้ไข ช่วงแรกทางโรงเรียนได้ซื้อเครื่องกรองนํ้าทำด้วยท่อพีวีซีและบรรจุเถ้ากระดูกจากโรงเรียนแห่งหนึ่ง ซึ่งชนะการออกแบบโครงการวิทยาศาสตร์มาใช้ แต่ว่าพอใช้ไปเถ้ากระดูกก็หลุดลงมา ทำให้เด็กๆกลัวไม่กล้าใช้ เลยคิดที่จะพัฒนาเครื่องกรองนํ้าขึ้นมาใช้ในโรงเรียนเอง

เดิมโรงเรียนมีงบประมาณเพียงแค่หนึ่งหมื่นบาท จึงได้ติดต่อองค์การศุภนิมิตรที่จังหวัดเชียงใหม่ และได้รับเงินสนับสนุนมาสมทบอีกสี่หมื่นบาท จากนั้นได้ติดต่อศูนย์ทันตสาธารณสุขระหว่างประเทศ (สำนักงานตั้งอยู่ในจ.เชียงใหม่) เมื่อได้ทำการตรวจสอบนํ้าดื่มในโรงเรียน พบว่ามีสารฟลูออไรด์สูงถึง 8 ppm (parts per million) เกินจากที่ยอมรับได้จากอ.ย.ที่ 1.5 ppm ทางศูนย์ได้ติดต่อพ่อกำนันไลให้ช่วยสร้างและปรับปรุงเครื่องกรองนํ้าโดยใช้เถ้าที่มาจากการเผากระดูกสัตว์มาเป็นตัวกรอง จากการทดสอบเครื่องครั้งแรก พบว่าสามารถกำจัดสารฟลูออไรด์ในนํ้าจาก 7.85 ppm ให้ลดลงเหลือ 0.74 ppm ทำให้เกิดกำลังใจในการพัฒนาเครื่องกรองนํ้าต่อมา ปัจจุบันได้วางเครื่องกรองนํ้าไว้ 3 จุดคือที่โรงอาหาร อาคารเรียนเด็กมัธยม และเครื่องใหญ่ข้างถังนํ้าของโรงเรียน

ในส่วนของเครื่องกรองนํ้านั้น กำนันไล อุตระพยอม ได้เล่าถึงความเป็นมาว่า ได้เริ่มทำเครื่องกรองนํ้ามาตั้งแต่ประมาณปีพศ. 2514 เมื่อก่อนก็รับจ้างขุดบ่อบาดาลตามชุมชน โดยการกรองก็ใช้ผ่านกรวดทรายซึ่งทำให้นํ้าแค่ใสสะอาดเท่านั้น วิธีตรวจสอบจะนำนํ้าก่อนและหลังกรองแยกใส่แก้ววางทิ้งไว้ 1 อาทิตย์ นํ้าที่ไม่ได้กรองก็จะตกตะกอน ส่วนนํ้าที่กรองแล้วถ้ายังใสไม่ตกตะกอนก็แสดงว่าเครื่องกรองนั้นใช้ได้ สมัยก่อนนั้นยังไม่รู้เรื่องฟลูออไรด์ ต่อมาทางศูนย์ทันตฯมาติดต่อจึงเริ่มศึกษาและทดลองใช้เถ้ากระดุกเป็นตัวกรองจนประสบผลสำเร็จ

กำนันไลได้ให้ข้อสังเกตุว่าสารฟลูออไรด์จะมาเกาะตามฟันและกระดูก จึงทดลองเผากระดูกสัตว์และนำเถ้ามาล้างและเอามาใช้กรองนํ้า เมื่อนำผลไปตรวจวัดสารที่ศูนย์ทันตฯก็ได้ผลดี สมัยแรกๆจะทำการเผากระดูกสัตว์ในถังนํ้ามันเปล่าขนาด 200 ลิตร แต่มีผลเสียคือกลิ่นเหม็นที่รุนแรงมาก เป็นที่รบกวนเพื่อนบ้าน ถ้าจะเผาทีก็ต้องขนใส่รถไปเผาที่ในป่าไกลๆ แต่เมื่อทางศูนย์ทันตฯได้แนะนำเครื่องเผาแบบ 2 ส่วน โดยจะเผากระดูกที่ส่วนล่างและเผาควันที่ส่วนบน ทำให้ลดปัญหาเรื่องกลิ่นได้ สามารถทำการเผาภายในบริเวณบ้านได้

การออกแบบเครื่องกรองนํ้าของกำนันไลได้รับการเสนอเป็นผลงานวิชาการในการประชุมวิชาการสาธารณสุขระดับเขตครั้งที่ 3 เมื่อเดื่อนกรกฎาคม 2542 ได้รับโล่รางวัลเกียรติคุณในฐานะประชาชนผู้ปฎิบัติงานเวชศาสตร์ป้องกันตัวอย่างประจำปี 2542 จากสมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย อีกทั้งยังได้เข้าร่วมประกวดผลงานประดิษฐ์คิดค้น ที่จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติเมื่อเดือนกันยายน 2543

นอกจากที่ได้ทำเครื่องกรองนํ้าให้กับโรงเรียนสันคะยอมซึ่งถือเป็นตัวอย่างที่ได้รับความสนใจจากโรงเรียนอื่นๆแล้ว กำนันไลยังได้เปิดหลักสูตรอบรมพร้อมปฎิบัติแก่ชุมชนในหมู่บ้านอีก 45 หลังคาเรือน ในขั้นตอนการทำเครื่องกรองนํ้าขึ้นมาใช้เองในบ้าน โครงการต่อไปก็จะพยายามให้มีใช้ในทุกหลังคาเรือนทั้ง 300 หลังในหมู่บ้านนั้น

นับว่าเป็นความน่าภาคภูมิใจในภูมิปัญญาคนไทย สามารถทำเองใช้เองได้ไม่ต้องอาศัยสินค้าจากต่างชาติ เป็นสิ่งบ่งบอกที่ดีถึงการเริ่มมีการสวนกระแสค่านิยมสินค้านอกของคนกรุง ซึ่งทำให้ประเทศชาติขาดดุลทางเศรษฐกิจมาจนทุกวันนี้



โดย : เด็กชาย รุ่งโรจน์ ดาพรม, ราชภัฏเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์, วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2545