ภาษาไทยวันนี้เกี่ยวกับอัขระ

http://www.ku.ac.th/kuthai/thaitoday.htm
ทำไมถึงเลิกใช้ ฃ (ขวด) และ ฅ (คน)

“ฃ พยัญชนะตัวที่สามในพยัญชนะไทย นับเป็นพวกอักษรสูง เรียกชื่อว่า “ขอเขตต์” หรือ “ขอขวด” เข้าในพวกกัณฐชะ (เกิดขากคอ) ใช้เป็นตัวสะกดในมาตรากักได้ บางท่านกล่าวว่า ตั้งขึ้นแทนตัว กษ ในภาษาสันสกฤต ซึ่งเขาอ่านควบเป็นเสียงตัวเดียวกัน ถึงรูปร่างก็น่าจะกลายมาจากอักษร กษ ซึ่งเขียนหวัดติดกัน สำหรับใช้เขียนคำตัว กษ สันสกฤต เช่น เกษตร กษัตริย์ แต่เดี๋ยวนี้เลิกใช้แล้ว นับว่าไม่มีที่ใช้เลย
“ฅ พยัญชนะตัวที่ห้าในพวกพยัญชนะไทย นับเป็นพวกอักษรต่ำ อ่านว่า “คอ” เรียกชื่อว่า “คอกัณฐา” หรือ “คอคน” ออกเสียงอย่างเดียวกับ คอ (คอคิด) เดิมมีที่ใช้อยู่คำหนึ่ง คือ “ ฅอ” ที่หมายความว่า คอคน หรือคอสัตว์ มาบัดนี้ใช้ ค (คอคิด) หมดแล้ว เพราะฉะนั้นนับว่าไม่มีที่ใช้เลย และตัว ฅ นี้ ตั้งขึ้นในภาษาไทย ไม่มีในภาษาบาลีสันสกฤต บางท่านกล่าวว่าความประสงค์ตั้งขึ้นสำหรับใช้คำไทยที่ออกเสียง คอ ทั่วไป เช่น คำ, คน, ควบ เป็นต้น เพราะตัวคอคิดนั้นตั้งขึ้นแทนตัว ค บาลี ซึ่งมีเสียงเหมือน G ในคำ God ไม่ตรงกับเสียง ค ไทย แต่ไทยออกเสียง ค บาลีไม่ชัด กลายเป็นเสียง ค ไทยไปหมด เลยใช้ตัว คอคิด ทั้งในเสียงบาลีและเสียงไทย ตัว ฅ กัญฐานี้จึงไม่มีที่ใช้
นับว่าหนังสือปทานุกรม ได้ให้ความหมายของ ฃ (ขวด) และ ฅ (คน) ค่อข้างชัดเจนดีมาก ข้อสำคัญก็คือบอกว่าตัว ฅ (คน) นั้นใช้หมายถึง คอของคนหรือคอของสัตว์เท่านั้น หาได้ใช้เขียนคำว่า “คน” ไม่

ส่วนพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๔๙๓ ได้ให้คำอธิบายคำว่า ฃ (ขวด) และ ฅ (คน) ไว้เพียงสั้นๆ ดังนี้

“ฃ พยัญชนะตัวที่สามนับเป็นพวกอักษรสูง แต่เดี๋ยวนี้เลิกใช้แล้ว”

“ฅ พยัญชนะตัวที่ห้านับเป็นพวกอักษรต่ำ เดี๋ยวนี้เลิกใช้แล้ว”

คงจะเป็นเพราะพจนานุกรม ฉบับ พ.ศ.๒๔๙๓ บอกว่า “เดี๋ยวนี้เลิกใช้แล้ว” นี้เองจึงทำให้คนเข้าใจผิดคิดว่าได้มีการประกาศเลิกใช้เป็นทางการแล้ว แม้แต่พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕ ก็บอกไว้เช่นเดียวกับพจนานุกรม ฉบับ พ.ศ.๒๔๙๓ ทุกประการ

สาเหตุที่ทำให้เลิกใช้ ฃ (ขวด) และ ฅ (คน) นั้น คงเนื่องมาจากพิมพ์ดีดภาษาไทยในสมัยแรก ๆ นั่นเองที่แป้นอักษรไม่มี ฃ และ ฅ เนื่องจากก้านอักษรมีไม่พอกับจำนวนสระพยัญชนะและวรรณยุกต์ในภาษาไทย จึงต้องตัดคำบางคำหรือเครื่องหมายตัวออกไปบ้าง

(จาก "ภาษาไทยของเราดี เป็นศักดิ์ศรีของชาติ" โดย จำนงค์ ทองประเสริฐ, ราชบัณฑิต)





กลุ่มบ้านภาษาไทย ภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์




โดย : นาย โสภน หงษ์วิจิตร, ripw, วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2545