ของเล่นการเรียนรู้สำหรับเด็ก

ของเล่นการเรียนรู้ตามอัธยาศัยของเด็ก.2545.[ออนไลน์].เข้าถึงได้จาก : http://dnfe5.nfe.go.th/lib-E/infor4/art5.htm.
การเล่นที่ทำให้เด็กเรียนรู้แบ่งออกเป็น 4 ประเภทคือ
1. การเล่นประเภทที่ใช้กำลังกาย เช่น ลูกบอล เชือกกระโดด อุปกรณ์การเล่นกลางแจ้งต่างๆ เป็นต้น
2. การเล่นที่ต้องใช้ความคิดและการควบคุม เช่น การต่อภาพ กระดาน หมากฮอส บิงโก เป็นต้น
3. การเล่นประเภทจินตนาการ เช่นวัสดุก่อสร้าง แท่งไม้ หุ่นกระบอก เครื่องมือสำหรับช่างไม้ เป็นต้น
4. การเล่นที่ฝึกให้เด็กเข้าสังคม เช่น ขุดเครื่องครัว เสื้อผ้าอาชีพต่างๆ เป็นต้น
ดังนั้น บรรณารักษ์ เจ้าหน้าที่ห้องสมุด จึงควรจัดหาของเล่นให้เด็กได้เล่นทั้ง 4 ประเภท เพื่อการสนับสนุนการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นอย่างสมดุล โดยควรจัดหาให้บริการในห้องสมุด เพื่อความประหยัดและเกิดการแลกเปลี่ยนการใช้อย่างคุ้มค่าที่สุด
วัตถุประสงค์ของห้องสมุดของเล่น มีดังนี้
1. เพื่อช่วยสร้างทักษะในการเคลื่อนไหว (Motor Skills) และทักษะในการเข้าใจสิ่งต่างๆ(Perceptual Skills) ให้เกิดเด็กอันจะทำให้เด็กเกิดความพร้อมในการอ่าน
2. เพื่อกระตุ้นให้ผู้ปกครองเห็นความสำคัญของการเล่นและพัฒนาการของเด็ก และส่งเสริม กิจกรรมระหว่างผู้ปกครองและเด็ก ให้ความรู้แก่ผู้ปกครองในเรื่องคุณภาพและของเล่นราคาถูกที่เหมาะสำหรับเด็ก ซึ่งผู้ปกครองสามารถทำเอง และเพื่อให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการให้การศึกษาแก่เด็ก โดยส่งเสริมให้ผู้ปกครองยืมของเล่น เพื่อนำไปเล่นที่บ้านกับเด็ก
3. เพื่อทำให้ห้องสมุดเป็นสถาบันสำหรับเด็ก
4. เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับของเล่นแก่โรงเรียนอนุบาลและสถานเลี้ยงเด็ก และช่วยโรงเรียนอนุบาลและสถานเลี้ยงเด็กเลือกของเล่นที่เหมาะสำหรับเด็ก การจัดชั้นวางของเล่น ห้องสมุดอาจใช้วัสดุครุภัณฑ์หลายชนิดสำหรับเก็บของเล่น เช่น ชั้นเตี้ย ตู้เหล็ก ถาด กล่องขนาดใหญ่ กล่องพลาสติกใส ตาข่าย ฯลฯ จากการวิจัยของศูนย์เด็กวัยก่อนเข้าเรียนของมหาวิทยาลัยมิชิแกนพบว่า "ของเล่นที่ตั้งวางอยู่บนชั้นโดยไม่ใส่ในกล่องหรือถุง หรือของเล่นที่ใส่กล่องใส กล่องพลาสติกใส ดึงดูดความสนใจของเด็กได้มากกว่าของเล่นที่ใส่ไว้ในกล่องกระดาษแข็งทึบ"
การจัดวางของเล่น สามารถทำได้โดย
1. จัดแยกตามประเภทของของเล่น หรือเรียงตามเลขทะเบียนของของเล่น
2. ชั้นวางของเล่นควรมีกระดาษสีสวยงามรอง และมีเทปกาวสีกลมกลืนติดตามขอบกระดาษรอง
3. ควรมีที่ว่างเผื่อสำหรับการจัดซื้อของเล่นเพิ่มในอนาคต
หลักการยืมของเล่น ห้องสมุดอาจจะอนุญาตให้ยืมของเล่นกลับไปเล่นที่บ้านได้ เพื่อกระตุ้นให้เกิดความสัมพันธ์ในครอบครัวระหว่างพ่อ แม่ ลูกหรือญาติคนอื่นๆ การให้ยืมของเล่น ขึ้นอยู่กับแต่ละห้องสมุดว่าจะให้ยืมได้นานเท่าใด ยืมได้ครั้งกี่ชิ้น ซึ่งขึ้นอยู่กับนโยบายห้องสมุด จำนวนของเล่น และจำนวนผู้ใช้บริการ แต่หลักการของการให้ยืมของเล่นกลับไปที่บ้านคือ ผู้ปกครองต้องเล่นร่วมกับลูก เพื่อการใช้เวลาร่วมกันในครอบครัว ในที่นี้ จะเสนอประเด็นในการกำหนดหลักการยืมของเล่นเพื่อเป็นแนวทางในการปรับใช้ คือ
1. ใครเป็นผู้มีสิทธิยืม พ่อ แม่ ผู้ปกครอง หรือตัวเด็ก
2. ยืมได้นานเท่าใด เช่น 3 วัน 1 สัปดาห์
3. หากของเล่นเสียหาย สูญหาย จะคิดค่าเสียหายอย่างไร
4. มีการมัดจำของเล่นก่อนยืมออกหรือไม่
5. จำนวนของเล่นที่ยืมได้ต่อครั้ง เช่น 1 ชิ้น 2 ชิ้น
บทบาทของบรรณรักษ์ เจ้าหน้าที่ห้องสมุดในการให้บริการของเล่น เพื่อสนับสนุนการเล่นของเด็กโดยครอบครัวมีส่วนร่วมในการกระตุ้นพัฒนาการ บรรณารักษ์ เจ้าหน้าที่ห้องสมุดควรมีบทบาทดังนี้
1. จัดหาของเล่นที่ส่งเสริมพัฒนาการเด็กในทุกด้าน ซึ่งมีหลักการเลือกของเล่นคือ
- มีคุณค่าทางการศึกษา เป็นของเล่นที่ช่วยเสริมความรู้และทักษะเพื่อที่จะสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคม
-เป็นของเล่นที่ส่งเสริมให้เกิดมนุษยสัมพันธ์กับผู้อื่น
- เป็นของเล่นที่ก่อให้เกิดความอยากรู้ เกิดจินตนาการ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
- ปลอดภัยสำหรับการเล่น เช่น ไม่กลืนง่าย ไม่มีชิ้นส่วนที่เล็กที่จะสอดเข้าจมูก ปาก หู ไม่แตกง่าย ไม่มีปลายหรือขอบแหลม มีป้ายบอกว่าไม่มีส่วนประกอบของสารที่เป็นพิษ (Non Toxic) เป็นต้น
- เป็นของเล่นที่แตกต่างจากของเล่นที่บ้าน เพราะหากที่ห้องสมุดให้บริการของเล่นเหมือนที่บ้าน เด็กก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมาใช้บริการที่ห้องสมุด
- สามารถซ่อมแซมได้ สามารถซัก ทำความสะอาดได้
- ในมุมเด็กหรือมุมห้องสมุดของเล่น ไม่ได้หมายความว่ามีเพียงเฉพาะของเล่นเท่านั้น แต่ควรรวมถึง หนังสือเด็ก วีดีโอเด็ก ซีดีรอมเด็ก เทปเสียงเด็ก และเกมการศึกษาอีกด้วย
2. แนะนำวิธีเล่นของเล่นบางชนิดให้กับผู้ปกครองเพื่อให้ผู้ปกครองใช้ได้อย่างถูกต้อง และเป็นการกระตุ้นจูงใจในการนำของเล่นกลับไปเล่นร่วมกับลูก
3. จัดทำถุงที่มีตราสัญลักษณ์ของห้องสมุดสำหรับใส่ของเล่นกลับบ้าน และเมื่อนำมาคืนห้องสมุด
4. จัดทำบัญชีรายชื่อของเล่นที่มีอยู่ในห้องสมุดเผยแพร่ให้กับครูหรือผู้ปกครองทราบเพื่อการตัดสินใจใช้บริการ
5. ตรวจนับจำนวนชิ้นส่วนของของเล่นและสภาพของของเล่น ทั้งก่อนยืมและเมื่อนำมาส่ง เพื่อฝึกความรับผิดชอบของเด็ก
การจัดมุมเด็กในห้องสมุดกับกิจกรรมอื่นในห้องสมุด แม้ว่าของเล่นจะจัดไว้สำหรับให้เด็กเล่น แต่เมื่อผู้ปกครองพาเด็กไปห้องสมุดเพื่อเล่นของเล่น ระหว่างที่เด็กเล่นของเล่นอยู่นั้น ผู้ปกครองสามารถร่วมกิจกรรมที่ห้องสมุดจัดเตรียมไว้ เช่น
- การเสวนา/พูดคุยกับแพทย์ ผู้ปกครองด้วยกันเกี่ยวกับเรื่องการเลี้ยงดูเด็ก การปรับพฤติกรรมเด็ก การอบรมเลี้ยงดูเด็ก
- การฝึกทักษะอาชีพหรือกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตบางอย่าง เช่น อาหาร ขนม จัดดอกไม้ ลีลาศ เป็นต้น
- ฝึกทักษะบางอย่าง เช่น คอมพิวเตอร์ ภาษาอังกฤษ เป็นต้น
- ร่วมกันทำของเล่นจากเศษวัสดุ หรือทำเกมการศึกษาเพิ่มไว้ในมุมเด็ก
-อ่านหนังสือที่ตนเองสนใจ
การจัดระบบของเล่น ของเล่น จัดเป็นทรัพยากรสารนิเทศอย่างหนึ่งที่ต้องจัดหา จัดให้มี จัดหมวดหมู่และจัดเก็บอย่างเป็นระบบ เพื่อความสะดวกในการให้บริการเล่นและยืมคืน หากห้องสมุดของท่าน ยังใช้ระบบมือในการให้บริการ ท่านควร
1. ติดซองบัตร บัตรกำหนดส่งที่ตัวของเล่น
2. ติดวันกำหนดส่งที่ตัวของเล่น
3. นำออกให้บริการ
หากห้องสมุดของท่านใช้โปรแกรม Library ในการสืบค้น ยืมคืน ท่านควร
1. เพิ่มรายการวัสดุอื่นในโปรแกรม Library โดยกำหนดให้ของเล่นเป็นประเภทที่ 4 ต่อจากซีดีรอมที่เป็นประเภทที่ 3
2. กำหนดจำนวนวันที่ให้ยืมได้ในโปรแกรม
3. ป้อนรายละเอียดของของเล่นแต่ละชนิดลงในโปรแกรม
4. ติดบาร์โค้ดและวันกำหนดส่งที่ของเล่น
5. นำออกให้บริการ โดยที่ตัวของเล่นจะต้องมีรายละเอียดของจำนวนชิ้นของเล่นด้วย



โดย : นางสาว kumrai rungsiyo, student 4/3 klongluang patumtani 13180, วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2545