โครงการไถ่ชีวิตโค-กระบือ

โครงการไถ่ชีวิต โค – กระบือ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา

“….ธนาคารโค และกระบือ ก็คือ การรวบรวมโคและกระบือ โดยมีบัญชีควบคุม ดูแลรักษา แจกจ่าย ให้ยืม เพื่อใช้ประโยชน์ในการเกษตร และเพิ่มปริมาณโคและ กระบือ ตามหลักการของธนาคาร
ธนาคารโคและกระบือ เป็นเรื่องใหม่ของโลกที่มีความจำเป็นเกิดขึ้น ตามหลักการความคิดแต่จะใช้เครื่องกลไก เป็นเครื่องทุ่นแรงในกิจการเกษตร แต่เมื่อราคาน้ำมันเชื้อเพลิงแพงขึ้น ความก้าวหน้าในการใช้กลไกเสียไป จำเป็นต้องหันมาพึ่งแรงจากสัตว์ที่เคยให้อยู่ก่อน เมื่อหันกลับมาก็ปรากฏว่ามีปัญหามาก เพราะชาวนาไม่มีเงินซื้อโคและกระบือ มาเลี้ยงเพื่อใช้แรงงาน
ธนาคารโคและกระบือ พอจะอนุโลมใช้ได้เหมือนกับธนาคารที่ดำเนินการเกี่ยวกับการเงิน เพราะโดยความหมายทั่วไป ธนาคารก็ดำเนินการเกี่ยวกับสิ่งมีค่ามีประโยชน์ การตั้งธนาคารโคและกระบือก็มิใช่ว่าตั้งโรงขึ้นมาเก็บโคหรือกระบือ เพียงแต่มีศูนย์กลางขึ้นมา เช่นอาจจัดให้กรมปศุสัตว์เป็นศูนย์รวม ใครจะสมทบธนาคารโคและกระ
บือ ก็ไม่จำเป็นต้องนำโคหรือกระบือไปมอบให้ อาจบริจาคในรูปของเงิน….”

พระบรมราโชวาทที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแก่เกษตรทั่วประเทศ ณ บริเวณโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา เมื่อวันพืชมงคล ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๒๓ เกี่ยวกับโครงการธนาคารโค และกระบือ ตามพระราชดำริ

วัตถุประสงค์ของโครงการธนาคารโค –กระบือ เพื่อเกษตรกร ตามพระราชดำริ ( ธคก. )
เพื่อช่วยเหลือให้เกษตรกรที่ยากจนทั่วประเทศ ได้มีโค-กระบือไว้ใช้แรงงานและเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร เป็นการช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น
มีวิธีการให้บริการกับเกษตรกรเป็น ๕ แนวทาง โดยจะให้บริการโค-กระบือแก่ผู้ต้องการรายละ ๑ ตัว ดังนี้
๑. การให้ยืมแม่โคหรือแม่กระบือ เพื่อการผลิตลูกโคหรือลูกกระบือ
๒. การให้เช่าซื้อ กรณีที่เกษตรกรต้องการเป็นเจ้าของโค-กระบือ
๓. การให้ยืมพ่อพันธ์โค – กระบือแก่เกษตรกร
๔. การให้เช่าโค – กระบือ เพื่อใช้แรงงาน
๕. การให้บริการอื่น ๆ เป็นกรณีพิเศษ ซึ่งต้องได้รับการพิจารณาอนุมัติจากปศุสัตว์จังหวัด และ ธคก.

ที่มา : สารสนเทศสมาคมศิษย์เก่าบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล ฉ. ๗ ปี ๒๕๔๕







โดย : นาง เอมอร Aem-on พิทยายน Phitthayayon, มหาวิทยาลัยมหิดล, วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2545