เริ่มเรียนการถ่ายภาพ1

ภาพถ่ายกับการสื่อความหมาย
สุภาษิตจีนบทหนึ่งกล่าวว่า “ภาพเพียงภาพเดียวดีกว่าคำพูดพันคำ” (a picture says more than a thousand words) หรือในภาษิตของคนไทยที่ว่า “สิบปากว่า ไม่เท่าตาเห็น”หมายความถึงว่า การสื่อความหมายทางสายตาย่อมชัดเจนเข้าใจได้แจ่มแจ้งมากกว่าการสื่อด้วยภาษาหนังสือและคำพูด ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าการที่มนุษย์สื่อสารกันด้วยภาษาหนังสือหรือคำพูดนั้น จำเป็นที่จะต้องมีการแปลความหมายเป็นภาพจินตนาการขึ้นไปในสมองเสียก่อนจึงจะทำความเข้าใจกับสิ่งเหล่านั้นได้ เนื่องจากภาษาหนังสือหรือคำพูดยังไม่สามารถสื่อความหมายในตัวเองได้และในการแปลความหมายก็ยังไม่แน่ว่าทุก ๆ คนจะเข้าใจถูกต้องตรงกันหรือไม่ ตัวอย่างเช่น การเล่า
เหตุการณ์บางอย่างจากบุคคลที่พบเห็น 20 คน อาจจะมีเพียงไม่กี่คนที่จะสามารถสื่อเรื่องราวให้บุคคลอื่น ๆ รู้ได้ถูกต้องตามความเป็นจริงที่ต้องการ แต่สำหรับภาพถ่ายแล้ว ทุกคนที่ได้เห็นก็จะสามารถเข้าใจได้ว่าจะเป็นชนชาติใดภาษาใด หรือแม้แต่คนที่อ่านหนังสือไม่ออก เพราะภาพถ่ายเป็นภาษาสากลที่สื่อความหมายให้เข้าใจได้โดยทางสายตา ผู้ดูสามารถเข้าใจเรื่องราวได้อย่างรวดเร็วและง่ายกว่าตัวอักษรมากมาย
หลายเท่านัก




ความหมายของ “การถ่ายภาพ”
ได้มีผู้ให้ความหมายของ “การถ่ายภาพ” และ “ภาพถ่าย” ไว้หลายทัศนะ เช่น
ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายของคำว่า “ถ่ายภาพ” ว่า “การจำลองหรือบันทึกภาพด้วยวิธีฉายเงาบนแผ่นวัสดุไวแสงเช่นฟิล์มกระจกถ่ายรูป”ในพจนานุกรมศิลปะกับภาพถ่ายให้ความหมายของ “ภาพถ่าย” ว่า “ภาพถ่ายเป็น
กระบวนการวาดภาพ ซึ่งใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ผลิตภาพด้วยอารมณ์ของศิลปินโดยอาศัยแสงสีและเงา ผสมผสานกับวิธีการทางฟิสิกส์และเคมี ทำให้เกิดการถ่ายทอดทางอารมณ์ ความรู้สึกและค่านิยมไปสู่ผู้ได้พบเห็น” สารานุกรมการสื่อสาร (Encyclopedia of Communication) “ภาพถ่ายคือสื่อกลางของการถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึก ทัศนคติ ความรู้ และประสบการณ์ของกระบวนการสื่อสาร”
ไม่ว่าความหมายจะเป็นเช่นไรนั้นโดยรากศัพท์จริง ๆ แล้วคำว่า “การถ่ายภาพ” ภาษา
อังกฤษใช้คำว่า “Photography” มาจากภาษากรีก ซึ่งแยกคำและความหมายเป็น
PHOS หรือ PHOTOS = Light (แสง)
GRAPHOS = to write (การเขียน)
PHOTOGRAPHY จึงหมายถึง “การเขียนด้วยแสงสว่าง” นั่นเอง


ความสำคัญของภาพถ่าย
เพราะภาพถ่ายเป็นภาษาสากลประกอบกับปัจจุบันเทคโนโลยีด้านการถ่ายภาพได้
พัฒนาก้าวไกลไปมาก การถ่ายภาพจึงไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป ภาพถ่ายจึงเข้ามามีบทบาทอย่าง
สำคัญในชีวิตประจำวันของมนุษย์ นับแต่ตื่นนอนจนเข้านอนอีกครั้ง ทั้งยังมีอิทธิพลต่อการดำรง
ชีวิต ต่อแนวคิด สร้างประชามติให้เกิดขึ้นในสังคม เฉพาะอย่างยิ่งการเป็นตัวชี้นำให้คนมีความเห็น
ไปในทิศทางเดียวกันกับเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งเมื่อผู้พบเห็นแล้ว เกิดความรู้สึกหรือ
อารมณ์ร่วมได้ การถ่ายภาพจึงมีประโยชน์อย่างมหาศาลกับสังคมโลกปัจจุบัน ซึ่งอาจจะสรุปอย่าง
กว้าง ๆ ได้ดังนี้
1. เป็นสื่อในการให้ข้อมูลตามความเป็นจริง ตามความหมายนี้หมายถึงเฉพาะการ
ใช้ภาพถ่ายในการสื่อความหมายเพื่อบอกหรืออธิบายเรื่องราวหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยเป็นไป ตาม
ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ณ ขณะนั้น อาจเป็นภาพในหน้าหนังสือพิมพ์ วารสาร ที่เสนอข่าว หรือเหตุการณ์
เพื่อให้ผู้ดูได้เข้าใจ รวมไปถึงภาพในการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ภาพวัสดุอุปกรณ์ กลไกต่าง ๆ ที่
ต้องการสื่อให้เห็นรูปร่าง ลักษณะที่ถูกต้อง หรือแม้แต่ภาพที่ใช้ในวงการศึกษา ที่มีจุดมุ่งหมายใหญ่เพื่อ
ให้ผู้ดูรู้และเข้าใจเพิ่มมากขึ้นกว่าการอ่าน เช่น ภาพขั้นตอนการทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งที่สลับซับซ้อน
ภาพถ่าย X-ray ที่ใช้ในวงการแพทย์ หรือภาพถ่ายที่ใช้การตัดสินเกมกีฬาที่ไม่สามารถตัดสินผลได้ด้วย
ตาเปล่า อาจเนื่องจากเข้าเส้นชัยพร้อมกันหรือสูสีกันมาก
2. เป็นการบันทึกข้อมูลเรื่องราว เพื่อเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์เป็นการถ่ายทอด
ข้อมูล ซึ่งบางครั้งอาจจัดเก็บในลักษณะของไมโครฟิล์ม ภาพถ่ายในลักษณะนี้มีความสำคัญต่อการ
สืบทอดประเพณีและวัฒนธรรม และการดำรงชีวิตของคนในสังคมและเป็นประโยชน์ต่อการสืบค้นเรื่องราว
ต่างๆ ในวงการศึกษา เช่นภาพวัด ปราสาท ราชวัง สถานที่ บุคคลสำคัญ เหตุการณ์สำคัญ หนังสือต่างๆ
เรามักพบเห็นภาพถ่ายในลักษณะนี้จากนิทรรศการภาพถ่ายทางประวัติศาสตร์
3. เป็นการสื่อความหมายในแง่ของความบันเทิง ภาพถ่ายประเภทนี้เป็นภาพที่แสดง
ความสวยงาม เช่นภาพดอกไม้ วิวทิวทัศน์ สถานที่ ภาพบันทึกการท่องเที่ยว ภาพถ่ายครอบครัว เรื่องราว
ที่สนุกสนานพึงพอใจ ปัจจุบันมีการใช้ภาพเป็นสื่อเพื่อความบันเทิงหลากหลายรูปแบบ ทั้งวารสาร นิตยสาร
หนังสือพิมพ์ โปสเตอร์เชิญชวน สื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ แม้กระทั่งการพิมพ์ภาพถ่ายลงในบรรจุภัณฑ์
ต่าง ๆ รวมไปถึง วิดิโอ ที่ดูจากโทรทัศน์เป็นประจำและภาพยนต์ทั่วไปล้วนแต่เป็นรูปแบบของการใช้ภาพ
ในการสื่อความหมายโดยเฉพาะในแง่ของความบันเทิง
4. เป็นการสื่อให้เห็นถึงความรู้สึกนึกคิดของบุคคล ภาพถ่ายในลักษณะนี้เป็นภาพศิลป์
ที่มีคุณค่า ซึ่งช่างภาพผู้ถ่ายพยายามที่จะถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดของตนเองให้ผู้ดูภาพเกิดอารมณ์และ
ความรู้สึกคล้อยตามที่ช่างภาพต้องการ ผู้ถ่ายภาพจะพยายามหลีกเลี่ยงการถ่ายภาพในลักษณะการให้
ข้อมูลจริง หากมุมมองภาพที่เป็นจริงดูไม่สวยงามไม่สื่อความรู้สึกทางอารมณ์ที่ต้องการ ช่างภาพจะ
พยายามเลือกมุมอื่น หรือรอจังหวะเวลาให้ได้ภาพที่ต้องการ การถ่ายภาพประเภทนี้ ผู้ถ่ายจะต้องเป็น
ผู้ที่มีความสามารถ มีประสบการณ์ และมีความพยายามอย่างมาก
5. เป็นการสื่อแห่งการค้นคว้าวิจัย เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์ จากเทคโนโลยี
ด้านการถ่ายภาพที่พัฒนาขึ้นมาก ทำให้ภาพถ่ายได้เข้ามามีบทบาทอย่างสำคัญในการค้นคว้าวิจัยในทาง
วิทยาศาสตร์ ภาพพืชและสัตว์เล็ก ๆ ที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ภาพชิ้นส่วนในเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีขนาด
เล็กมากๆ ปัจจุบันสามารถขยายให้ใหญ่ขึ้นได้หลายพันเท่าเพื่อให้มนุษย์ได้ศึกษาค้นคว้าหาต้นเหตุ ความ
เป็นมาของการเกิดโรคต่างๆ การบำบัดรักษา ช่วยให้มนุษย์มีอายุยืนยาวขึ้น รวมไปถึงเทคโนโลยีกลไก
คอมพิวเตอร์ต่าง ๆ มีความสะดวกต่อการนำไปใช้มากขึ้น
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

เนื้อหาในเรื่องเริ่มเรียนการถ่ายภาพทั้งตอนนี้เและตอนต่อๆ ไปเรียบเรียงจาก

ณรงค์ สมพงษ์. หลักการถ่ายรูป. นครปฐม: ศูนย์ส่งเสริมและฝึกอบรมการเกษตรแห่งชาติ
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน, 2529
นพดล อาชาสันติสุข. เริ่มเรียนถ่ายภาพที่ตรงนี้. กรุงเทพฯ: เลเซอร์กราฟฟิค, 2536
ประหยัด จิระวรพงศ์. เทคโนโลยีทางการถ่ายภาพ. กรุงเทพฯ: อักษรวัฒนา,2528
พัลลภ พิริยะสุรวงศ์. เทคโนโลยีการผลิตภาพถ่าย. กรุงเทพฯ: สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า
พระนครเหนือ, 2537
พาศนา ตัณฑลักษณ์. หลักการออกแบบ. กรุงเทพฯ: พิทักษ์อักษร, 2527
วิรุณ ตั้งเจริญ. การออกแบบ. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: วิฌวลอาร์ต, 2527
สมาน เฉตระการ. การถ่ายภาพเบื้องต้น. กรุงเทพฯ: 9119 เทคนิค พริ้นติ้ง, 2529
สุโขทัยธรรมาธิราช, มหาวิทยาลัย. ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับภาพนิ่งและภาพยนต์ หน่วยที่
1-5.นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช 2529
สุโขทัยธรรมาธิราช, มหาวิทยาลัย. ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับภาพนิ่งและภาพยนต์ หน่วยที่
6-10. นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช 2529
สุภาณี กอสุวรรณศิริและสุมิตรา ขันตยาลงกต, จากอดีต…ถึงปัจจุบันการถ่ายภาพ. กรุงเทพฯ:
สารมวล, 2532
สุมิตรา ขันตยาลงกต. ทฤษฎีการถ่ายภาพ. กรุงเทพฯ: ประยูรวงศ์, 2535
อเนก นาวิกมูล. ถ่ายรูปเมืองไทยสมัยแรก. กรุงเทพฯ: แสงแดด, 2530



โดย : นางสาว สมควร เพียรพิทักษ์, กรมวิชาการ, วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2545