ปุ๋ยชีวภาพกับการปลูกพืชไร้ดิน |
|
บทที่ 1
บทนำ
1.1 ที่มาและความสำคัญของโครงงาน
เนื่องจากสมาชิกในกลุ่มทุกคนเคยเรียนเรื่อง การปลูกพืชไร้ดิน ในตอนที่เรียนอยู่ในชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕ พอขึ้นมาอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ ข้าพเจ้าได้ทำโครงงานปุ๋ยวิเศษ ( น้ำปุ๋ยชีวภาพ ) ได้ข้อมูลว่า น้ำปุ๋ยจากเศษอาหารรดต้นไม้ได้เจริญเติบโตดีเท่ากับการใช้ปุ๋ยเคมี สมาชิกในกลุ่มแลเห็นว่า การปลูกพืชไร้ดินจำเป็นต้องใส่สารอาหาร A และ B แต่เราก็มีน้ำปุ๋ยที่ทำเองคือ น้ำปุ๋ยชีวภาพเลยมีความคิดว่าน่าจะนำน้ำปุ๋ยชีวภาพมาทดแทนสารอาหาร A และ B จึงได้คิดโครงงานชิ้นนี้ขึ้น
1.2 วัตถุประสงค์
1. เพื่อเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อสารอาหาร A และ B
2. เพื่อศึกษาขั้นตอนเทคนิคการปลูกพืชไร้ดิน
3. เพื่อนำความรู้ที่ได้รับไปเผยแพร่
4. เพื่อศึกษาการปลูกพืชหลายๆ แบบ
5. ใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นให้คุ้มค่า
6. เพื่อเป็นการนำกลับมาใช้ใหม่และลดมลพิษทางอากาศ
1.3 สมมุติฐาน
พืชไร้ดินที่ปลูกด้วยน้ำปุ๋ยชีวภาพ สามารถเจริญเติบโตเท่ากับพืชไร้ดินที่ปลูกด้วยสารอาหาร A และ B ดังนั้นน้ำปุ๋ยชีวภาพให้แทนสารอาหาร A และสารอาหาร B ได้
1.4 ตัวแปรที่เกี่ยวข้อง
ตัวแปรต้น น้ำปุ๋ยชีวภาพ
ตัวแปรตาม ความเจริญเติบโตของต้นพืช
ตัวแปรควบคุม 1. ชนิดของพืช
2. สถานที่ปลูก
3. ภาชนะและอุปกรณ์ในการปลูก
1.5 ขอบเขตการศึกษา
1. เรือนเกษตรของโรงเรียน
2. ระยะเวลาการทำโครงงาน พฤศจิกายน 2543 มกราคม 2544
|
|
บทที่ 2
เอกสาร
ระบบไฮโดรโพนิคส์ (Hydroponics) ได้เข้ามามีบทบาทเพื่อแก้ปัญหาของการปลูกพืชในดิน ซึ่งมีการใช้สารเคมีเพื่อกำจัดศัตรูพืชและวัชพืช อีกทั้งเชื้อโรคและพยาธิจากดินทำให้เกิดสารตกค้างในผลผลิต ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค และตัวเกษตรกรผู้ปลูกเอง รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นด้วย การปลูกพืชด้วยดินยังต้องใช้น้ำที่เปลืองถ้าปราศจากแหล่งน้ำแล้วยากที่จะปลูกได้ อีกทั้งต้องปรับสภาพดิน ตากดินการเพาะปลูกเป็นการสิ้นเปลืองเวลาและแรงงาน และต้องใช้ปุ๋ยสูตรต่างๆอยู่เรื่อยๆตามอายุของพืช และต้องใช้ประสบการณ์มาก ระบบไฮโดรโพนิคส์ เข้ามาแก้ปัญหาข้างต้นประหยัดน้ำเพราะใช้น้ำน้อย(รวมทั้งสารอาหารพืชด้วยโดยใช้สารอาหาร A และ B อย่างละประมาณ 4CC/น้ำ 1 ลิตร) และหมุนเวียนกลับไปมาอยู่ตลอดและเป็นการเติมออกซิเจนในตัว ระบบไฮโดรโพนิคส์ รางปลูกยกสูงขึ้นจากดินจึงไม่มีเชื้อโรคพยาธิและแมลงบางชนิดมารบกวน ระบบไฮโดรโพนิคส์ ปลูกได้ต่อเนื่องใช้สอยประโยชน์จากพื้นที่ได้เต็มที่ ไม่กลัวฝนแล้งและน้ำท่วม ใช้สารอาหารสูตรเดียวตลอดอายุพืช ใช้ประสบการณ์ในการปลูกน้อยก็เข้าใจความต้องการของพืชได้ และใช้แรงงานน้อย ระบบไฮโดรโพนิคส์ ต้นทุนการติดตั้งค่อนข้างสูง ถ้าลดการใช้พลังงานไฟฟ้ากับการปั้มน้ำโดยการใช้พลังงานจากธรรมชาติ เช่น ลม หรือแสงแดด ได้นับว่าคุ้มกับการลงทุนทีเดียว
ปัจจัยที่ระบบไฮโดรโพนิคส์ต้องใช้
1. น้ำ อาจใช้น้ำประปาแทนก็ได้โดยการพักน้ำไว้ก่อนปรับค่า pH. ที่ประมาณ pH. 6-6.5 ถ้าไม่มีการปรับค่า พอพืชโตไประยะหนึ่งรากพืชจะตาย แนะนำให้เปลี่ยนน้ำทุกอาทิตย์
2. สารอาหาร เป็นการผสมธาตุต่างๆที่พืชต้องการ(สารอาหารสำเร็จรูปมี สาร A และ B) โดยใช้อัตราการผสมสารอาหาร A และ B ลงน้ำที่จะใช้ปลูกให้วัดค่า CF.ให้ได้ค่าตามที่ชนิดของพืชที่จะปลูก ถ้าเป็นผักจะประมาณค่า CF. 8-12 หรือประมาณ 4 CC/น้ำ 1 ลิตร
ธาตุอาหารพืชที่จำเป็นแบ่งเป็น 3 กลุ่ม
อาหารหลัก คาร์บอน ไฮโดรเจน ออกซิเจน ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โปแตสเซียม
อาหารรอง แคลเซียม กำมะถัน แมกนีเซียม
อาหารเสริม เหล็ก แมงกานีส ทองแดง สังกะสี โบรอน โมลิบดินั่ม คลอรีน
3. ออกซิเจน ปริมาณออกซิเจนในน้ำมีมากพอในอุณหภูมิต่ำและได้โดยการไหลตกของน้ำขากลับลงถัง หรือในรางปลูกเอง และอาจใช้ปั้มช่วยในกรณีน้ำในถังอุณหภูมิสูงเกินไป อุณหภูมิน้ำในถังไม่ควรเกิน 35 องศา C.(ควรรักษาให้อุณหภูมิต่ำไว้ก่อน) ถังน้ำควรมีที่กันฝนกันแดดได้ดี
4. แสงแดด จำเป็นต่อพืชมากควรให้พืชได้รับแสงแดดอย่างเพียงพอตามชนิดของพืชนั้นๆ ถ้าแสงแดดไม่เพียงพอ พืชจะยืดเสียทรงและอ่อนแอเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่
5. สภาพแวดล้อม มีการถ่ายเทอากาศที่ดี ถ้าอุณหภูมิอากาศสูงความชื้นต่ำพืชจะคายน้ำมากเกินไปพืชจะเหี่ยวเฉา ช่วงที่มีอากาศร้อนควรจะพรางแสง หรือให้น้ำทางใบโดยใช้สเปรย์น้ำฉีดก็จะช่วยไม่ให้ใบเฉาได้ ฝน ในระยะต้นอ่อนฝนจะชะวัสดุปลูกทำความเสียหายกับรากพืชได้ควรมีที่กันฝนในระยะนี้ ฝุ่น จะจับใบทำให้การสังเคราะห์แสงแลคายน้ำได้ไม่ดีและใบไม่สวย การใช้สเปรย์น้ำฉีดจะได้ประโยชน์ทั้งสองทาง คือลดการคายน้ำและล้างใบพืช
6. รางปลูกและวัสดุปลูก ควรเลือกรางปลูกให้เหมาะกับชนิดของพืช โดยคำนวณคร่าวๆเกี่ยวกับรูปทรง และขนาดปริมาณของรากพืชแต่ละชนิด ส่วนวัสดุปลูกควรสะอาดดูดซับน้ำได้ดี พรุน อากาศไหลผ่านได้ดี
7. พลังงาน ที่จะฉุดน้ำจากถังน้ำเข้าไปจ่ายผ่านรางปลูก ทั่วไปใช้ไฟฟ้า และปั้มน้ำ
วิธีการปลูกพืชระบบไฮโดรโพนิคส์
1. ใส่วัสดุปลูก(เพอร์ไลท์ + เวอร์มิคไลท์) ลงถ้วยปลูกให้เต็มถ้วย ใส่เมล็ดพันธุ์พืชลงในถ้วยปลูก โดยฝังลึกจากปากถ้วยประมาณ 1 เซนติเมตร แล้วรดน้ำให้เปียก แล้วนำไปวางในกระบะหรือถาดที่เตรียมไว้ โดยให้ได้รับแสงแดดอ่อนๆ อย่างเพียงพอ (ถ้าไม่ได้รับแสงต้นกล้าจะยืดสูงไม่แข็งแรงจะเกิดความเสียหายได้) รดน้ำเช้าเย็นทุกวันโดยเฉพาะในถาดเพาะควรมีน้ำขังประมาณ 1 เซนติเมตรเพื่อป้องกันการขาดน้ำในกรณีลืมรดน้ำ ประมาณ 2-3 วันเมล็ดจะงอก
2. เมื่อเมล็ดงอกประมาณ 2-3 วัน เริ่มให้สารอาหารโดยให้สารอาหารค่าประมาณ CF. 4-6 (สารอาหาร A และ B อย่างละประมาณ 2 CC/น้ำ 1 ลิตร) เพื่อเร่งรากโดยอาจจะให้น้ำไหลเวียนเพื่อจะได้ออกซิเจน (ในช่วงนี้อาจย้ายลงรางปลูกได้เลย)เลี้ยงจนต้นอ่อนโตมีรากพอสมควรหรือประมาณ 2 สัปดาห์จึงย้ายลงปลูกที่รางปลูก
3. เมื่ออยู่ในรางปลูก ให้สารอาหารค่าประมาณ CF. 8-12 (สารอาหาร A และ B อย่างละประมาณ 4 CC/น้ำ 1 ลิตร) รวมระยะปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวประมาณ 45-50 วัน
ถ้ามีเครื่องมือวัดค่า pH. และ CF. ควรตรวจเช็คความเป็นกรด ด่างบ้างเพื่อปรับค่า โดยใช้กรดฟอสฟอริกปรับ และค่าสารอาหารน้อย ให้เติมสารอาหาร ถ้ามากให้เติมน้ำ ถ้าไม่มีควรใช้วิธีเปลี่ยนน้ำใหม่สัปดาห์ละ 1 ครั้ง
แต่ถึงจะมีเครื่องมือวัด CF. ก็ควรที่จะเปลี่ยนน้ำใหม่ทุกๆ 3 สัปดาห์ เพราะว่าการวัดค่าจะได้ค่าสารละลายรวมเท่านั้นแต่ไม่ได้บอกค่าสัดส่วนของธาตุอาหารแต่ละชนิดที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละวัน และธาตุบางธาตุพืชนำไปใช้ได้น้อยจึงเหลือสะสมอยู่ในถังสารอาหารเช่นโซเดี่ยม คลอรีน มีผลทำให้ธาตุสารอาหารตัวอื่นๆเปลี่ยนแปลงและตกตะกอน โดยเฉพาะช่วงที่มีอากาศร้อน
|
โดย : นาย จักรกฤษณ์ แก้วประเสริฐ, โรงเรียนอนุบาลพระสมุทรเจดีย์, วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2545 |