ใครเลยจะคิดว่า "ผักชีฝรั่ง" ผักพื้นบ้าน ที่ให้ทั้งกลิ่นและรสชาติที่หอมเฉพาะตัว จะกลายเป็น พืชเศรษฐกิจ ที่สำคัญไปได้ เพราะไม่เพียงแต่นิยมบริโภคกันภายในประเทศ เท่านั้น ปัจจุบันตลาดต่างประเทศเกือบทั่วโลก โดยเฉพาะ อย่างยิ่ง ญี่ปุ่น สิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง อเมริกา ตะวัน ออกกลาง มีความต้องการมากเช่นเดียวกัน และนอกเหนือจากการนำไปบริโภคสดแล้วยังนำไปแปรรูปเป็นผง เพื่อใช้ประโยชน์ในด้านด้วย สมุนไพร เครื่องเทศ และเครื่องปรุงรสบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปอีกด้วย คุณประจวบ จันทร์ทอง อยู่บ้านเลขที่ 11 หมู่ 10 ตำบลมะม่วง อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ เป็นเกษตรกรผู้หนึ่งที่ประสบผลสำเร็จในการปลูกผักชีฝรั่ง มีพื้นที่ปลูกทั้งหมด 15 ไร่ บอกว่าในอดีตทำนาข้าว แต่ทว่าไม่รุ่ง มีแต่หนี้สิน เห็นเพื่อน ๆ ปลูกผักชีฝรั่งแล้วมีรายได้ดี เลยหันมาปลูกบ้าง ซึ่งไม่ผิดหวัง เพราะสร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำมากถึง 7-8 หมื่นบาท/พื้นที่ 2 ไร่/การปลูก 1 ครั้ง (หักต้นทุนแล้ว) ราคาเฉลี่ยทั้งปี 15-16 บาท/กิโลกรัม พันธุ์ที่นิยมปลูก คือ พันธุ์เชียงใหม่ ที่มีคุณสมบัติใบใหญ่ น้ำหนักดี และกลิ่นไม่ฉุนมาก
การปลูก มักปลูกกันในเดือน 12 และจะเก็บผลผลิตเมื่อมีอายุ 120 วัน ปลูก 1 ครั้ง จะสามารถเก็บผลผลิตได้ 3 รุ่น รวมผลผลิตประมาณ 3,000-3,400 กิโลกรัม/ไร่ ตั้งแต่ผลิตมาหลายปียังไม่เคยมีปัญหาด้านการตลาด ผลิตเท่าไรขายได้หมด สำหรับรูปแบบการปลูกเป็นอาชีพมี 2 แบบ ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ ได้แก่ การปลูกแบบหว่านแห้ง คือ ไถพลิกดิน แล้วคราดดินให้ละเอียด ปล่อยน้ำเข้าพื้นที่ให้พอชื้นแฉะ แล้วค่อยหว่านเมล็ด ส่วนรูปแบบที่ 2 ปลูกแบบหว่านตม (เหมือนทำนา) เป็นการปลูกแบบดั้งเดิม แต่ใช้ต้นทุนสูงกว่าแบบแรก
ข้อดีของการปลูกผักชีฝรั่ง คือ ปลูกง่าย ดูแลง่าย ปัญหาเรื่องโรคและแมลงมีน้อย ต้นทุนระยะแรกประมาณ 30,000-40,000 บาท/ไร่ ซึ่งเป็นค่าปรับพื้นที่และค่าเมล็ดพันธุ์ โดยใช้ประมาณ 4-5 กิโลกรัม/ไร่ แต่เมื่อปลูกรุ่นต่อ ๆ ไป ไม่จำเป็นต้องซื้อเมล็ดพันธุ์อีก เพราะสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ ที่เกิดจากในแปลงมาปลูกได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีค่าเสา ค่าเชือก และซาแรนพรางแสง 60% ซึ่งถือว่าเป็นเทคนิคที่ช่วยให้ผลผลิตมีคุณภาพ เพราะถ้าได้รับแดดมากไปจะทำให้ใบแข็ง ไม่อ่อนนุ่ม และ ความหวานลดลง
เกษตรกรที่สนใจจะปลูกผักชีฝรั่ง ควรตรวจดูสภาพพื้นที่ด้วยว่าเหมาะสมหรือไม่ พื้นที่ปลูกได้ดีเป็นพื้นที่ราบลุ่ม น้ำไม่ท่วมขัง ดินร่วนหรือดินเหนียวก็ได้ แต่ต้องไม่เหนียวจนเกินไปนัก และต้องมีแหล่งน้ำเพียงพอ ถ้าจะให้ดีควรรวมกลุ่ม เพราะจะสามารถกำหนดเวลาการปลูกก่อนหลังของแต่ละราย เพื่อให้พอดีกับการมารับซื้อของพ่อค้า ตลอดจนได้ใช้วัสดุอุปกรณ์ร่วมกันได้อย่างสะดวก เช่น โรงล้างทำความสะอาดผักหลังตัด เป็นต้น ท่านใดต้องการข้อมูลการผลิตและการตลาดเพิ่มเติมติดต่อได้โดยตรงที่ คุณสุนทร พบสุวรรณ สำนักงานเกษตรจังหวัดนครสวรรค์.
ข้อมูลจาก www.sanook.com/www.rakbankerd.com
|