เซลลูโลส ที่ได้จาก อะซิโตแบคเตอร์ ไซลินัม มีคุณสมบัติทางภายภาพพิเศษบางประการที่ได้จุดประกายความหวังให้กับการค้าหลายๆ ด้าน คุณสมบัติที่ไม่แนบติดอยู่กับบาดแผลและสามารถปรับเปลี่ยนรูปร่างได้ง่าย ทั้งยังมีลักษณะโปร่งใส ทำให้บรรดาแพทย์ในสหรัฐอเมริกาสนใจทดลองใช้เซลลูโลสในการตกแต่งบาดแผล
ในอุตสาหกรรมเครื่องเสียง บริษัทโซนี่ ได้ใช้เซลลูโลสในการผลิตหูฟังคุณภาพเยี่ยมที่เรียกว่า "ไบโอเซลลูโลส" เนื่องจากเส้นใยเซลลูโลสจากแบคทีเรียมีลักษณะละเอียดและแข็งแรง สามารถคงรูปร่างอยู่ได้แม้ถูกหล่อและสามารถถ่ายทอดเสียงได้เร็วพอๆ กับอะลูมิเนียม โดยให้เสียงก้องเพียงน้อยนิด เมื่อบริษัทเริ่มประเดิมการผลิตหูฟังในปี พ.ศ. 2532 หูฟังนี้มีราคาสูงถึงคู่ละ 2,500 ปอนด์ (หนึ่งแสนบาท) แต่ในปัจจุบันด้วยกรรมวิธีการหมักที่พัฒนาขึ้น ทำให้โซนี่สามารถขายสินค้านี้ได้ในราคาเพียงคู่ละ 200 ปอนด์ (แปดพันบาท) เท่านั้น
ในเรื่องของอาหารการกิน ที่ฟิลิปปินส์มีการเสิร์ฟขนมพุดดิงที่ทำจากส่วนผสมของน้ำตาล น้ำกะทิ และเซลลูโลสจากแบคทีเรีย ทั้งนี้ด้วยคุณสมบัติของเซลลูโลสที่ไม่ได้ให้พลังงานกับร่างกายแต่อย่างใด อาหารประเภทนี้จึงทานได้โดยไม่ต้องกลัวอ้วน และนั่นอาจทำให้เซลลูโลสกลายเป็นสารช่วยลดความอ้วนได้อย่างน่าอัศจรรย์
--------------------------------------------------------------------------------
โดย พอใจ คำปังส์ "ปฏิบัติการผลิตเซลลูโลสด้วยจุลชีพ" อัพเดท 12(133) : 42-45 ก.ค. 2540.
|