สื่อกับการจัดการเรียนการสอน

 

 

 

 

 

ื                       โดยนางสาวอัจฉรา  วาทวัฒนศักดิ์

ปัจจุบันการจัดการศึกษาได้ใช้หลักสูตร การศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 เป็นหลักสูตรแกนกลางของประเทศ มีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนให้เป็นพลเมืองดี ปัญญาดี สามารถดำรงชีวิตและประกอบอาชีพได้อย่างมีความสุขบนพื้นฐานของความเป็นไทยและสากล ตลอดจนการศึกษาต่อตามความถนัดและความสนใจของตนหลักสูตรศึกษาขั้นพื้นฐานมุ่งพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เป็นคนดี มีปัญญา มีความสุข มีความเป็นไทย มีศักยภาพในการศึกษาต่อและประกอบอาชีพ

การจัดการศึกษาจึงควรจัดให้เหมาะสมและครอบคลุมจุดประสงค์ เพื่อที่ผู้เรียนจะได้เกิดคุณลักษณะอันพึงประสงค์ การจัดการเรียนรู้จึงควรจะคำนึงถึงหลายสิ่ง แต่ในที่นี้จะกล่าวเน้นไปในเรื่องของสื่อการสอน เนื่องจากสื่อการสอนถือเป็นสิ่งสำคัญไม่น้อยในการที่จะช่วยให้การเรียนการสอนเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

สื่อการสอนหมายถึง สิ่งซึ่งใช้เป็นตัวกลางในการถ่ายทอดความรู้ ทักษะ และเจตคติให้แก่ผู้เรียน หรือทำให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ มนุษย์รู้จักนำเอาสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ มาให้เป็นสื่อการสอน ตั้งแต่ประมาณปี ค.ศ. 1930 เป็นต้นมา ด้วยความเจริญก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน ทำให้สิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ตลอดจนวิธีการแปลก ๆ ถูกนำมาใช้เป็นสื่อการสอนกันอย่างกว้างขวาง เช่น การใช้โทรทัศน์เพื่อการศึกษาทั้งในระบบวงจรปิด และในระบบทางไกล หรือการใช้ชุดการสอนเพื่อการเรียนรู้เป็นรายบุคคล เป็นต้น

ถึงแม้จะได้มีการใช้สิ่งประดิษฐ์ทางวิทยาศาสตร์ใหม่ ๆ หรือคิดหาเทคนิควิธีการแปลก ๆ มาใช้เป็นสื่อการสอนกันอย่างมากมายเพียงใดก็ตาม บรรดาสื่อการสอนที่เคยถูกใช้กันมาก่อน เช่น รูปภาพ, แผนภูมิ, แผนภาพ, แผนสถิติ ฯลฯ ก็ยังคงถูกนำมาใช้เป็นเครื่องช่วยในการเรียนรู้อยู่นั่นเอง

ลักษณะของสื่อการสอนที่ดี

สื่อการสอนที่ดีย่อมช่วยให้การเรียนรู้บรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะต้องประกอบด้วยคุณลักษณะต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ คือ

    1. มีความเหมาะสมสอดคล้องกับเนื้อหาและจุดมุ่งหมายของการเรียนการสอน
    2. มีความเหมาะสมกับรูปแบบของการเรียนการสอน
    3. มีความเหมาะสมกับลักษณะของผู้เรียน
    4. มีความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของการใช้สื่อ

ความเหมาะสมสอดคล้องกับเนื้อหาและจุดมุ่งหมายของการเรียนการสอน

ลักษณะเนื้อหา และจุดมุ่งหมายของการเรียนการสอน เป็นสิ่งกำหนดให้ทราบว่า พฤติกรรมขั้นสุดท้ายของผู้เรียนจะเป็นเช่นไร โดยทั่วไปเราแบ่งพฤติกรรมทางการเรียนรู้ออกเป็น

3 ประเภท ด้วยกันคือ

    • ประเภทความรู้ความเข้าใจที่จะเป็นพื้นฐานของการนำไปใช้กับปัญหาได้ ได้แก่การอธิบายได้, การประเมินค่าได้, การสร้างกฎเกณฑ์หลักการได้ เป็นต้น
    • ประเภทการลงมือปฏิบัติที่จะนำไปสู่ทักษะในการทำงานต่อไป
    • ประเภทความรู้สึกด้านอารมณ์ที่จะมองเห็นคุณค่าหรือเกิดความสนใจในเนื้อหาการเรียนนั้นต่อไป

ความเหมาะสมกับรูปแบบของการเรียนการสอน

เราอาจกำหนดรูปแบบของการเรียนการสอนเป็นลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังต่อไปนี้คือ

1. สอนเป็นกลุ่มใหญ่พร้อมกัน ความรู้จะถูกถ่ายทอดจากผู้สอนไปสู่ผู้เรียน ด้วยอัตราความเร็วเดียวกัน โดยที่ผู้เรียนเพียงทำหน้าที่ฟังการถ่ายทอดจากครูแล้วจดบันทึก เท่านั้นสื่อที่ใช้จึงต้องมีขนาดใหญ่พอที่ผู้เรียนจะมองเห็นได้พร้อม ๆ กัน ในขณะที่ครูใช้ เพื่อประกอบการอธิบาย

2. การสอนกลุ่มย่อย แต่ละกลุ่มประกอบด้วยผู้เรียนประมาณ 5 - 8 คน เรียนรู้จากเนื้อหาและกิจกรรมการเรียนที่ครูจัดให้ด้วยอัตราเร็วที่ไร่เรี่ยกัน เนื้อหาและกิจกรรมการเรียนในแต่ละกลุ่มอาจเหมือนกันหรือ เป็นเรื่องราวต่อเนื่องกันโดยใช้การหมุนเวียน เพื่อการเรียนรู้ก็ได้สื่อที่ใช้กับกิจกรรมการเรียนลักษณะนี้จึงไม่ต้องการในเรื่องขนาดใหญ่ แต่ควรมีหลายชุดในกรณีกลุ่มค่อนข้างใหญ่ (6 - 8 คน )

3. การสอนรายบุคคล ผู้เรียนจะเรียนรู้จากเนื้อหาและกิจกรรมการเรียน ที่ครูจัดให้เป็นรายคนด้วยอัตราเร็วที่แตกต่างกันไปเป็นรายบุคคล สื่อที่จะช่วยให้เกิดการเรียนรู้ในลักษณะนี้ จะต้องชัดเจนพอที่จะเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง และเป็นสื่อขนาดเล็กได้

ถ้าการจัดการเรียนการสอนมีสื่อการเรียนการสอนที่ดี มีความเหมาะสม และเพียงพอ ประกอบในการเรียนรู้ ก็จะทำให้การเรียนการสอนน่าสนใจยิ่งขึ้น และผู้เรียนก็สามารถเรียนรู้แล้วเข้าใจได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้นไม่ว่าจะเป็นวิชาอะไรก็ตามสามารถนำสื่อมาใช้ในการประกอบการเรียนการสอนเพื่อให้เห็นภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้นในเรื่องที่เรียน

การเรียนการสอนด้วยการใช้วิธีสอนในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่ารูปแบบใดแต่ถ้าไม่มีสื่อที่จะมาประกอบในการเรียนการสอนที่ดีและเพียงพอ การเรียนการสอนนั้นอาจจะไม่น่าสนใจและอาจทำให้การเรียนนั้นไม่บรรลุจุดประสงค์ แต่ถ้ามีการใช้สื่อมาประกอบในการสอนเป็นการช่วยให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจได้ง่ายยิ่งขึ้นสามารถจดจำได้ดีกว่าการที่เรียนแต่ตัวหนังสือหรือบรรยายแบบไม่เห็นภาพ แม้กระทั่งการเขียนแผนการสอนยังต้องระบุถึงสื่อที่จะใช้ในการสอนเรื่องๆ นั้น จึงถือได้ว่าสื่อเป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญในการเรียนการสอนเพื่อที่การเรียนการสอนนั้นจะเป็นไปได้อย่างเป็นรูปธรรม

อ้างอิง

วรรณา เจียมทะวงษ์.(2528).ทักษะพื้นฐานของการผลิตสื่อการสอน.ภาควิชาเทคโนโลยีและ

นวกรรมทางการศึกษา วิทยาลัยครูพระนคร.

คณะครุศาสตร์ สถาบันราชภัฎอุตรดิตถ์.(2545). วารสารครุศาสตร์.พิมพ์ที่ออฟเซ็ทอาร์ท.

www.sg.ac.th/go/project/project-prer.asp

www.school.net.th

www.nitc.go.th

ประวัติส่วนตัว

นางสาวอัจฉรา วาทวัฒนศักดิ์ อายุ 23 ปี

เกิดวัน พุธ ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2525

ภูมิลำเนา 49/7-8 ถ.พระองค์ดำ อ.เมือง จ.พิษณุโลก 65000

ประวัติการศึกษา

ระดับประถมศึกษา

           จาก โรงเรียนไทยกล้าวิทยา จ. พิษณุโลก

ระดับมัธยมศึกษา

           จาก โรงเรียนจ่านกร้อง จ. พิษณุโลก

ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ

           จาก วิทยาลัยอาชีวศึกษา จ. พิษณุโลก

ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง

จาก วิทยาลัยอาชีวศึกษา จ. พิษณุโลก

ระดับปริญญาตรี

           จาก มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ จ. อุตรดิตถ์



แหล่งอ้างอิง : นางสาวอัจฉรา วาทวัฒนศักดิ์ นักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์

โดย : นางสาว อัจฉรา วาทวัฒนศักดิ์, -, วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2548