การจัดการห้องสมุดยุคใหม่

การจัดการห้องสมุดยุคใหม่

ห้องสมุดยุคใหม่จะต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบบการดำเนินงาน การบริหารงานให้ทันต่อกระแสการปรับเปลี่ยนของโลก เพราะปัจจุบันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ส่งผลให้โลกเปลี่ยนแปลงไป จากยุคอุตสาหกรรม เข้าสู่ยุคสังคมข่าวสาร หรือยุคสารสนเทศ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบในการเรียนรู้ ของมนุษย์เป็นอย่างมากซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวสืบเนื่องมาจากพลัง และศักยภาพของเทคโนโลยีสารสนเทศที่ช่วยให้จัดการสารสนเทศจำนวนมหาศาล ลดข้อจำกัดทางด้านเวลา ระยะทาง ส่งผลให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารได้ทุกเวลา และทุกสถานที่ ดังนั้นห้องสมุดยุคใหม่ต้องปรับปรุงรูปแบบการให้บริการแบบใหม่เพราะแนวโน้มของการใช้ห้องสมุดในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปกล่าวคือ นักศึกษา อาจารย์จะใช้คอมพิวเตอร์ในการค้นหาสารสนเทศมากขึ้น และมีการให้บริการสารสนเทศในรูปสื่ออิเล็กทรอนิกส์แทนการใช้สารสนเทศจากสื่อสิ่งพิมพ์ (Lesk. 1997 : 1) ห้องสมุดยุคใหม่ต้องนำเอาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีการสื่อสารข้อมูล รวมถึง การจัดหาโปรแกรมสำเร็จรูปมาใช้งาน เพราะขณะนี้เทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้น การเชื่อมโยงเครือข่ายต่าง ๆ รวมทั้งเครือข่ายอินเทอร์เนตเพื่อมาใช้ในงานห้องสมุดก็มีมากขึ้น ทำให้เห็นความเจริญเติบโต ความสมบูรณ์ และความหลากหลายที่ส่งผลต่อศักยภาพทางการศึกษา การจัดการห้องสมุดยุคใหม่ควรดำเนินการดังนี้

  1. รูปแบบการบริหารงานในห้องสมุดมหาวิทยาลัย ควร

บริหารงานแบบกระจายอำนาจ เพื่อให้สามารถนำเนินงานได้สะดวกรวดเร็ว และสามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้บริการได้ แต่ก็ควรนำเอาระบบการบริหารงานแบบรวมอำนาจมาใช้ในการดำเนินงานด้านการจัดหาทรัพยากรสารสนเทศร่วมกัน และการให้บริการสารสนเทศร่วมกัน เป็นต้น การบริหารงานควรนำเอาระบบธุรกิจเข้ามาช่วยในการจัดการห้องสมุด มีการคิดต้นทุน กำไรในการดำเนินงาน มีการนำเอาระบบการประกันคุณภาพเข้ามาใช้ในหน่วยงาน มีการตรวจสอบการดำเนินงาน เป็นต้น

           2.การจัดการเกี่ยวกับฐานข้อมูลของห้องสมุด ห้องสมุดจะต้องมีการจัดการฐานข้อมูลที่ดี มีการจัดการ และปรับปรุงฐานข้อมูลอยู่เสมอ ควรเพิ่มศักยภาพจากการเป็นเพียงฐานข้อมูลบรรณานุกรม ให้สามารถบริการข้อมูลจากต้นแหล่งได้ และให้บริการเอกสารเต็มรูปได้ หรือจัดการสารสนเทศของห้องสมุดให้อยู่ในรูปดิจิตัล หรือในรูปมัลติมีเดียมากขึ้น

3. การจัดระบบการค้นคืนสารสนเทศ ห้องสมุดจะต้องปรับปรุง และสร้างเครื่องมือช่วยค้นที่มีคุณภาพที่ทำให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงทรัพยากรสารสนเทศของห้องสมุดได้มากที่สุด และรวดเร็ว ถูกต้องที่สุด เครื่องมือช่วยค้นที่จะต้องจัดทำได้แก่ บัตรรายการ บัตรดรรชนีวารสาร การสืบค้นสารสนเทศด้วยระบบออนไลน์ (OPAC) ในการสืบค้นสารสนเทศห้องสมุดต้องสามารถสืบค้นได้หลายวิธี เช่น ค้นคืนจากคำสำคัญ จากหัวเรื่อง จากชื่อเรื่อง จากชื่อผู้แต่ง จากเลขเรียกหนังสือ หรือด้วยวิธีตรรกะ เป็นต้น

4. งานบริการห้องสมุด ห้องสมุดจะต้องจัดให้มีการบริการสารสนเทศหลายรูปแบบ เช่น บริการสอนการใช้ห้องสมุด บริการสารสนเทศเลือกสรร บริการข่าวสารทันสมัย บริการค้นคืนสารสนเทศด้วยระบบออนไลน์ บริการอินเทอร์เนต บริการสารสนเทศในรูปแบบของสื่ออิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น มีการกำหนดเป้าหมายไว้ว่าจะให้บริการดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ และมีความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงบริการของตน ในการตัดสินฝจว่าจะดำเนินการเปลี่ยนแปลงการให้บริการควรจะอยู่ในรูปแบบการให้บริการวิชาการ หรือให้บริการในรูปแบบของตลาดข้อมูล ควรมีการเรียนรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้ใช้บริการ เพื่อที่จะได้นำความรู้ดังกล่าวมาพัฒนาและปรับปรุงงานบริการของห้องสมุดให้อยู่ในเชิงรุก มุ่งให้บริการด้วยความพึงพอใจ

5. อุปกรณ์และเครื่องอำนวยความสะดวก ห้องสมุดยุคใหม่ต้องจัดหาอุปกรณ์ดังต่อไปนี้ให้ผู้ใช้บริการ

         5.1คอมพิวเตอร์ และเครื่องพิมพ์ที่มีการเชื่อมต่อกับเครือข่ายต่าง ๆ หรือเชื่อมต่อกับระบบออนไลน์

         5.2 ที่อ่านหนังสือส่วนบุคคล

         5.3 เครื่องถ่ายเอกสาร

          5.4 อุปกรณ์อื่น ๆ ที่เห็นว่าเหมาะสม และห้องสมุดมีความสามารถในการจัดหามาให้ผู้ใช้บริการได้

6. บุคลากรห้องสมุดควรมีการกระตุ้นให้บุคลากรที่มีอยู่แสดงพลังและศักยภาพ หรือความสามารถที่แท้จริงออกมา และผู้บริหารควรให้ความไว้วางใจ และรู้จักมอบอำนาจแก่ผู้ที่เห็นว่าเหมาะสมให้ทำงาน บุคลากรห้องสมุดถือว่าเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการพัฒนาห้องสมุด ดังนั้นบุคลากรห้องสมุดควรปรับปรุงตัวเองให้มีความรู้ความสามารถที่จะปฏิบัติหน้าที่ในห้องสมุดให้ดีที่สุด เพราะห้องสมุดในปัจจุบันได้กลายเป็นห้องสมุดอัตโนมัติ หรือบางแห่งก็กึ่งอัตโนมัติ มีการนำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศ เทคโนโลยีการสื่อสาร มาใช้ในงานห้องสมุด บุคลากรห้องสมุดจำเป็นจะต้องไดัรับการพัฒนาความรู้ความสามารถ และทักษะเกี่ยวกับเครื่องมือหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ที่นำมาใช้ในงานห้องสมุด หรือเกี่ยวข้องกับงานห้องสมุด และบรรณารักษ์ หรือ/และบุคลากรห้องสมุดควรมีความรู้ความสามารถ และทักษะดังนี้

 มีความรู้เกี่ยวกับสารสนเทศ และระบบสารสนเทศ ได้แก่ระเบียบ และกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับงาน นโยบายที่เกี่ยวข้องกับงาน ความรู้ความสามารถเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การปกครอง ของประเทศ และของโลก เป็นต้น มีความสามารถทางภาษา และวิธีการสื่อสาร โดยเฉพาะภาษาอังกฤษมีความสามารถในการสื่อสารถ่ายทอดข้อมูลทั้งโดยการฟัง การพูด การอ่าน การเขียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีคุณธรรม และจริยธรรมในวิชาชีพ นอกจากนี้ยังต้องมีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับธุรกิจ การสื่อสาร การศึกษา ตลอดจนด้านต่าง ๆ และมีความรู้ความสามารถเกี่ยวกับการจัดการ รู้จักวิธีการบริหารงานห้องสมุดให้ประสบผลสำเร็จ มีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นต้น มีลักษณะเป็นนักวิจัย หรือมีนิสัยชอบการศึกษาค้นคว้าอยู่เสมอ  บรรณารักษ์ต้องสนใจที่จะศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับเครือข่ายสารสนเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครือข่ายอินเทอร์เนต เพราะปัจจุบันสถาบันหลายแหน่งได้มีการนำเอาระบบบริการข่าวสารผ่านอินเทอร์เนต หรือมีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับวารสาร หนังสือ หนังสือพิมพ์ เอกสารตำราที่จัดทำในระบบ HTML และอื่น ๆ รวมถึงสิ่งตีพิมพ์ประเภทต่าง ๆ ลงเผยแพร่ทางอินเทอร์เนต

7. ทรัพยากรสารสนเทศ ห้องสมุดซึ่งถือว่าเป็นแหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ที่สำคัญ จะต้องจัดหาทรัพยากรสารสนเทศทุกชนิดทุกรูปแบบมาไว้ให้บริการอย่างเพียงพอ และแนวโน้มของทรัพยากรสารสนเทศควรเน้นสารสนเทศที่อยู่ในรูปแบบของสื่ออิเล็กทรอนิกส์มากกว่าสื่อสิ่งพิมพ์ เป็นต้น

8. มีการสร้างระบบควบคุมคุณภาพของห้องสมุด หมายถึงการสร้างระบบตรวจสอบ ติดตาม และประเมินผล ตลอดจนการกำหนดมาตรฐานของงานห้องสมุดและมาตรฐานนั้นจะต้องเป็นที่ยอมรับ เช่น มีการกำหนดเกณฑ์ในการวัดผล หรือกำหนดดัชนีชีวัดคุณภาพของห้องสมุด มีการสร้างมาตรฐานขึ้นมาเพื่อให้ห้องสมุดสามารถเปรียบเทียบผลงานได้ และที่สำคัญการควบคุมคุณภาพในห้องสมุดต้องให้ทุกฝ่ายได้เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ เพราะการประเมินคุณภาพต้องการให้ทุกฝ่ายร่วมกันทำงาน ไม่ใช่มาจับผิดการทำงานของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

9. มีการสร้างความร่วมมือระหว่างห้องสมุด เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการใช้ทรัพยากรสารสนเทศร่วมกัน หรือเพื่อแบ่งเบาภาระหน้าที่ในการทำงาน เช่นแบ่งหน้าทีในการสร้างฐานข้อมูลในด้านต่าง ๆ ที่เป็นรูปแบบของ Full text แบ่งหน้าที่ในการจัดหาวารสารร่วมกัน แบ่งหน้าที่ในการทำดรรชนีวารสาร แบ่งหัวข้อในการทำกฤตภาค มีความร่วมมือในการพัฒนาเครือข่ายห้องสมุด ห้องสมุดจะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาเครือข่ายของห้องสมุดเพราะจะทำให้เกิดความร่วมมือในการทำงานด้านต่าง ๆ เครือข่ายห้องสมุดมหาวิทยาลัยในประเทศไทยมีอยู่ 2 เครือข่าย ได้แก่

9.1 PULINET (Provincial University Library Network) หรือข่ายงานห้องสมุดมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค ซึ่งได้ก่อตั้งขึ้นมาเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2529 ในระยะแรกใช้ชื่อว่า “โครงการจัดตั้งข่ายงานห้องสมุดมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค” ซึ่งมีสมาชิกทั้งหมด 6 สถาบันด้วยกันได้แก่ สำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สำนักวิทยบริการมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายหอสมุดคุณหญิงหลง อรรถกระวีสุนทร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี สำนักวิทยบริการมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม และสำนักหอสมุดกลางมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ และปัจจุบันมีสมาชิกถึง 12 สถาบันด้วยกัน เครือข่ายที่ใช้ในการติเดต่อระหว่างห้องสมุดต่าง ๆ จะใช้เครือข่ายไทยสาร (ThaiSARN) ของ เนคเทค (NECTEC) (สุวันนา ทองสีสุขใส และอัฉรา จันทรสุวรรณ์. 2539 : 1-24)

9.2 เครือข่าย THAILINET (M) เป็นเครือข่ายที่จัดตั้งขึ้นหลังจากเครือข่ายห้องสมุดมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค ซึ่งเกิดจากมติที่ประชุมคณะอนุกรรมการการพัฒนาห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา ในปี พ.ศ. 2535 ซึ่งได้เสนอให้ห้องสมุดมหาวิทยาลัยส่วนกลางจัดทำโครงร่างพัฒนาเครือข่ายคอมพิวเตอร์ให้เสร็จสิ้นในเดือนมิถุนายน 2535 เพื่อให้ทันต่อการเสนอของบประมาณประจำปี 2537 ทางทบวงมหาวิทยาลัยจึงได้นำโครงการดังกล่าวเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และได้รับการพิจารณาเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 1 มิถุนายน 2536 โดยได้รับงบประมาณ 177,272,700 บาท และจัดหาซอฟต์แวร์เพื่อมาดำเนินงานห้องสมุดการติดต่อสื่อสารระหว่างเครือข่ายจะมีศูนย์กลางอยู่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


ที่มา : ศิริพร ศรีเชลียง (2546) ห้องสมุดมหาวิทยาลัย. ปทุมธานี : มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์

โดย : นาง siripon sichaliang, ม.ราชภัฏวไลยอลงกรณ์, วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2548