มัลติมีเดียคอมพิวเตอร์กับการศึ

www.final4u.com

มัลติมีเดียคอมพิวเตอร์กับการศึกษา

โดย  น.ส.รุ่งพิวา  แคว้งอินทร์  มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์

ปัจจุบันคนไทยเริ่มเล็งเห็นความสำคัญของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีซึ่งกำลังมีบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะอิทธิพลต่อการศึกษาของไทย ซึ่งไทยควรจะมีการจัดทำสื่อเพื่อเตรียมบุคลากรทางการศึกษา คือ ครูและผู้บริหารการศึกษาให้ก้าวไปพร้อมกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ตระหนักถึงการเชื่อมโยงระหว่างเทคโนโลยีมัลติมีเดียกับการศึกษา และบทบาทของครูกับนักเรียนเพื่อที่จะนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด

เมื่อกล่าวถึงมัลติมีเดีย จะเป็นสิ่งที่กว้างมาก เนื่องจากว่ามัลติมีเดียเกิดจากการนำภาพ เสียง ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว วิดีโอมาผสมผสานเข้าด้วยกัน แต่เนื่องจากว่าปัจจุบันนี้คอมพิวเตอร์กำลังเข้ามามีบทบาทกับชีวิตของคนเราเป็นอย่างมาก ดังนั้นถ้าหากได้ยินใครกล่าวถึงมัลติมีเดียคนทั่วไปมักจะนึกถึงคอมพิวเตอร์เพียงอย่างเดียว ซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นความเข้าใจที่ผิด แต่ก็ได้มีนักการศึกษาหลาย ๆ ท่านได้ให้ความหมายของมัลติมีเดียไว้ดังนี้

มัลติมีเดีย หมายถึง การนำองค์ประกอบของสื่อชนิดต่าง ๆ มาผสมผสานเข้าด้วยกัน ซึ่งประกอบด้วย ตัวอักษร ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว เสียง วิดีโอ โดยผ่านกระบวนการทางระบบคอมพิวเตอร์ (ทวีศักดิ์ กาญจนสุวรรณ. 2546)

มัลติมีเดีย คือ ระบบสื่อสารข้อมูลข่าวสารหลายชนิด โดยผ่านสื่อทางคอมพิวเตอร์ ซึ่งประกอบด้วย ข้อความ ฐานข้อมูล ตัวเลข กราฟิก ภาพเสียงและวิดีทัศน์ (Jeffcoate. 1995)

มัลติมีเดีย คือ การใช้คอมพิวเตอร์สื่อความหมายโดยการผสมผสานสื่อหลายชนิด เช่น ข้อความ กราฟ ภาพศิลป์ (Graphic Art) เสียง ภาพเคลื่อนไหว (Animation) และวิดีทัศน์ เป็นต้น ถ้าผู้ใช้สามารถควบคุมสื่อเหล่านี้ให้แสดงออกมาตามต้องการได้ระบบนี้จะเรียกว่า มัลติมีเดียปฏิสัมพันธ์(InteractiveMultimedia) (Vaughan. 1993)

มัลติมีเดีย คือโปรแกรมซอฟต์แวร์ที่อาศัยคอมพิวเตอร์เป็นสื่อในการนำเสนอโปรแกรมประยุกต์ซึ่งรวมถึงการนำเสนอข้อความสีสัน ภาพกราฟิก (Graphic images) ภาพเคลื่อนไหว (Animation) เสียง (Sound) และภาพยนตร์วิดีทัศน์ (Full motion Video) (Hall. 1996)

เนื่องจากว่าคอมพิวเตอร์กำลังได้รับความนิยมแพร่หลายทั่วไปเพราะมีราคาถูก หาซื้อได้ง่ายให้ทั้งภาพกราฟิกและภาพเคลื่อนไหว และในสถานศึกษาต่าง ๆ ก็จะจัดให้ผู้เรียนได้เรียนคอมพิวเตอร์เพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน ดังนั้นทุกวันนี้คอมพิวเตอร์จึงได้เข้ามามีบทบาทกับการศึกษาเป็นอย่างมาก และเนื่องจากเทคโนโลยีปัจจุบันได้เจริญก้าวหน้าไปมาก มีสิ่งต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมายคอมพิวเตอร์ในส่วนของมัลติมีเดียทางการศึกษาก็เช่นเดียวกัน ในช่วงหลาย ๆ ปีที่ผ่านมาได้มีสิ่งต่าง ๆ เกิดขึ้นกับคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาที่รู้จักกันดี เช่น e – learning โปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอน หรือ CAI ซึ่งจะสังเกตเห็นว่าทั้ง e – learning และ CAI ต่างก็เป็นมัลติมีเดียคอมพิวเตอร์ที่เกิดจากการนำเอาภาพ เสียง ภาพเคลื่อนไหวต่าง ๆ มาผสมผสานกันเพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้อีกแหล่งหนึ่งของผู้เรียน ทำให้เนื้อหาของบทเรียนมีความน่าสนใจ น่าศึกษามากขึ้น คอมพิวเตอร์จึงได้กลายเป็นแหล่งข้อมูลมัลติมีเดียทางการศึกษาขนาดใหญ่ที่ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ระหว่างกันเองได้

นอกจากระบบการศึกษาจะต้องเตรียมตัวรับกับความก้าวหน้าของมัลติมีเดียคอมพิวเตอร์แล้ว ครูในฐานะผู้ใช้เทคโนโลยีมัลติมีเดียก็จะต้องเตรียมความพร้อมให้มีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องของเทคโนโลยีทั้งในเรื่องของวิธีการใช้ฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ เพื่อให้สามารถควบคุมและประยุกต์ใช้คอมพิวเตอร์ในการสร้างสื่อต่างๆได้ ครูจะต้องเป็นผู้ที่พัฒนาตนเองอยู่เสมอในการที่จะขวนขวายหาความรู้และทำความเข้าใจการใช้คอมพิวเตอร์มัลติมีเดียในการจัดการเรียนการสอนให้มีความทันสมัย เร้าความสนใจเด็ก

ดังนั้นมัลติมีเดียคอมพิวเตอร์จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยในการลดภาระงานสอนและประหยัดเวลาของ ผู้สอน และนอกจากนั้นยังช่วยให้ผู้เรียนได้เลือกเข้าไปศึกษาได้ตามความสนใจ ทุกที่ ทุกเวลาโดยไม่จำกัด สามารถฝึกได้ตลอดจนเกิดความชำนาญ และช่วยให้ระบบการจัดการศึกษามีความน่าสนใจมากขึ้นอีกด้วย

แหล่งอ้างอิง

http://www.seameo.org/vl/pallop/multime.htm

http://www.nectec.or.th/courseware/multimedia/0003.html

http://www.nectec.or.th/courseware/multimedia/0001.html

-  สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติและคณธ(2544).    

             มัลติมีเดียเทคโนโลยีกับโรงเรียนในศตวรรษที่ 21.  ไทยวัฒนาพานิช.

-  ทวีศักดิ์  กาญจนสุวรรณ.  (2546).  Multimedia ฉบับพื้นฐาน.  บริษัทเคทีพี

             คอมพ์ แอนด์ คอนซัลท์จำกัด.  กรุงเทพฯ.

แนะนำผู้เขียน

นางสาวรุ่งพิวา  แคว้งอินทร์

ที่อยู่  89  หมู่ 6  ต.หนองแดง  อ.แม่จริม  จ.น่าน  55170

ประวัติการศึกษา

     พ.ศ.2536     ประถมศึกษาปีที่ 6     โรงเรียนบ้านแคว้ง  อ.แม่จริม  จ.น่าน

     พ.ศ.2539     มัธยมศึกษาปีที่ 3       โรงเรียนแม่จริม  อ.แม่จริม  จ.น่าน

     พ.ศ.2542     มัธยมศึกษาปีที่ 6(วิทยาศาสตร์ - คณิตศาสตร์) โรงเรียนแม่จริม

     พ.ศ.2546     ค.บ.(คณิตศาสตร์ - การวัดผลการศึกษา) สถาบันราชภัฏอุตรดิตถ์

ประสบการณ์

     - เป็นเลขานุการคณะกรรมการสโมสรนักศึกษาคณะครุศาสตร์  ปีการศึกษา 2545

     - ผ่านการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูเป็นเวลา 1 ภาคเรียน  ณ  โรงเรียนลองวิทยา     อ.ลอง  จ.แพร่  เมื่อปีการศึกษา 2546

     - เข้าร่วมอบรมการสร้าง  Home Page  ณ  โรงเรียนลองวิทยา

     - เข้าร่วมอบรมการวิจัยเชิงคุณภาพ  ณ  มหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์

     - เข้าร่วมฟังบรรยายและนำเสนอผลงานทางวิชาการในงานวิทยาศาสตร์  คณิตศาสตร์ในโรงเรียนที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีจังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 26 - 29 มกราคม  พ.ศ. 2548
 


ที่มา : นางสาวรุ่งพิวา แคว้งอินทร์ นักศึกษาปริญญาโท เอกหลักสูตรและการสอน (การสอนคณิตศาสตร์) วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2548

โดย : นางสาว รุ่งพิวา แคว้งอินทร์, มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์, วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2548