บทบาทของรถ Mobile Unit กับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาโรงเรียนขนาดเล็ก

          สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีภารกิจหลักคือจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพตามมาตรฐานการเรียนรู้ของหลักสูตร ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน มีสถานศึกษาในสังกัด 32,879 แห่ง สถานศึกษาดังกล่าวนี้เป็นสถานศึกษาที่มีนักเรียนต่ำกว่า 120 คนลงมา 10,877 แห่ง และในจำนวนนี้เป็นสถานศึกษาที่มีขนาดเล็กมาก กล่าวคือมีนักเรียนต่ำกว่า 60 คนลงมา ถึง 1,766 แห่ง ซึ่งสถานศึกษาขนาดเล็กเหล่านี้ ส่วนใหญ่มีปัญหาสำคัญ 2 ประการ คือ

          1.1 นักเรียนจากสถานศึกษาขนาดเล็กมีคุณภาพค่อนข้างต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับสถานศึกษาขนาดอื่นๆ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะโรงเรียนขาดความพร้อมทางด้านปัจจัยเช่นมีครูไม่ครบชั้นเรียนขาดแคลนสื่อการเรียนการสอนและวัสดุอุปกรณ์โดยเฉพาะสื่อและเทคโนโลยีที่มีราคาแพงทั้งนี้เนื่องจากเกณฑ์การจัดสรรงบประมาณส่วนใหญ่ใช้จำนวนนักเรียนเป็นเกณฑ์ในการจัดสรร

          1.2 สถานศึกษาขนาดเล็กส่วนใหญ่ขาดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ กล่าวคือมีการลงทุนค่อนข้างสูง เมื่อเปรียบเทียบกับสถานศึกษาขนาดที่ใหญ่กว่า เช่น อัตราส่วนครู: นักเรียน ซึ่งตามมาตรฐานต้อง 1 : 25 แต่สำหรับสถานศึกษาขนาดเล็ก อัตราส่วนครู: นักเรียน เท่ากับ 1:8-11 เท่านั้น 

          เพื่อให้การจัดการศึกษาของสถานศึกษาขนาดเล็กเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ กระทรวงศึกษาธิการจึงได้กำหนดเป็นนโยบายและยุทธศาสตร์ของกระทรวงศึกษาธิการ ชื่อว่าโครงการยกระดับคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็ก

          โครงการยกระดับคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็กดังกล่าวมีแนวคิดและวิธีการในการพัฒนาและยกระดับโรงเรียนขนาดเล็ก ดังนี้

          1. โรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งมีจำนวนนักเรียนต่ำกว่า 120 คน จำนวน 10,877 โรงเรียนทั่วประเทศ เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติของ ศธ. ที่ต้องการให้เด็กในชนบทยากจน ได้รับโอกาสทางการศึกษาที่ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งการศึกษาของชาติจะทิ้งให้ชนบทไม่เติบโตไม่ได้ จึงจำเป็นต้องเร่งการพัฒนา ฉะนั้น ความเร็วของการเร่งการพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็ก จึงต่างกันกับการพัฒนาโรงเรียนในเมือง ที่จำเป็นต้องเร่งให้เร็วมากขึ้น คำว่า “เร่ง” หมายถึง เร่งการพัฒนาในทุกด้าน คือ วัสดุอุปกรณ์ วิธีการ งบประมาณ บุคลากร

          2. กระบวนการยกระดับโรงเรียนขนาดเล็ก จำเป็นต้องใช้วิธีการพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็ก และกระบวนการต่างๆ เข้าไปพัฒนา เช่น การจัดวิธีการเรียนการสอนแบบใหม่ การจัดสิ่งอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ อาทิ การจัดรถโมบายคอมพิวเตอร์เคลื่อนที่เข้าไปช่วยสอนคอมพิวเตอร์แก่นักเรียน การหมุนเวียนครูเข้าไปสอน การจัดอบรมครูด้านภาษาอังกฤษ และ ICT ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาเครือข่ายครูด้วยกันต่อไป

          3. สภาพของโรงเรียนขนาดเล็กมีความแตกต่างกัน ดังนั้น ไม่ควรตั้งกติกาการทำงานหรือคำสั่งที่ดิ้นไม่ได้ แต่ควรให้ผู้บริหารโรงเรียนเสนอวิธีการพัฒนาการทำงานและความต้องการเข้ามา โดย ศธ. เป็นผู้ควบคุมคุณภาพของครูและนักเรียน เช่น บางโรงเรียน ในห้องเรียนเดียวมี 2 ชั้นเรียน แต่มีครูคนเดียวสอน ลักษณะเช่นนี้ต้องฟังครูผู้สอนว่าต้องการอะไร

          4. นักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็กต้องมีคุณภาพดีขึ้นภายในสิ้นปีการศึกษา 2547 ด้วยกระบวนการต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น แต่หากการพัฒนายังได้ผลเหมือนเดิม และไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ก็จำเป็นต้องหาแนวทางตรวจสอบและวิธีการพัฒนาที่เหมาะสมต่อไป

          ในการจัดสรรงบประมาณให้โรงเรียนนั้น จำนวนนักเรียนจะเป็นเกณฑ์ ๆ หนึ่งในการจัดสรร ดังนั้น โรงเรียนขนาดเล็กมักจะไม่ได้ รับจัดสรรครุภัณฑ์ที่มีราคาสูง ๆ เช่น คอมพิวเตอร์ ดังนั้น จึงทำให้นักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็กจะไม่มีโอกาสได้เรียนคอมพิวเตอร์ นอกจากจะได้รับ การสนับสนุนจากท้องถิ่นเป็นกรณีพิเศษ ด้วยเหตุนี้ จึงมีแนวคิดที่จะนำคอมพิวเตอร์เข้าไปหานักเรียนตามโรงเรียนต่าง ๆ โดยจัดเป็นหน่วยคอมพิวเตอร์เคลื่อนที่ ซึ่งเรียกว่า Computer mobile unit

          ลักษณะของหน่วยคอมพิวเตอร์เคลื่อนที่ นั้น จะมีหลายลักษณะขึ้นอยู่กับการจะนำหน่วยคอมพิวเตอร์เคลื่อนที่ดังกล่าว ไปใช้ในสภาพ ภูมิศาสตร์เช่นไร เช่น ถ้าโรงเรียนอยู่ที่พื้นราบก็จะใช้รถบัสหรือรถตู้ แต่ถ้าอยู่ในถิ่นทุรกันดารก็จะใช้รถ 6 ล้อ ที่มีสภาพดี

          รูปแบบของหน่วยคอมพิวเตอร์เคลื่อนที่ ที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เลือกใช้มี 3 รูปแบบ คือ Bus mobile unit (มีคอมพิวเตอร์คันละ 21 เครื่อง ) Minibus mobile unit (มีคอมพิวเตอร์คันละ 11 เครื่อง ) และ Container mobile unit (มีคอมพิวเตอร์คันละ 15 เครื่อง ) เหมาะสมกับพื้นราบห่างไกล วิ่งให้บริการสัปดาห์ละ 6 วัน รวม 120 วัน (พฤษภาคม-กันยายน)

          ในบางพื้นที่อาจมีสภาพไม่เหมาะที่จะใช้หน่วยคอมพิวเตอร์เคลื่อนที่อย่างไรก็ตามก็คงต้องมีวิธีการที่จะให้นักเรียนได้มีโอกาสเรียนคอมพิวเตอร์ โดยใช้วิธีเลือกโรงเรียนใดโรงเรียนหนึ่งที่โรงเรียนอื่นๆ สามารถเดินทางมาได้สะดวก โรงเรียนที่ได้รับเลือกเป็นศูนย์กลางดังกล่าวจะเป็นที่ตั้ง ห้องคอมพิวเตอร์ซึ่งได้ค่าใช้จ่ายใกล้เคียงกับรถ Mobile unit เพียงแต่เปลี่ยนค่าน้ำมันรถเป็นค่าพาหนะให้ครูและนักเรียนเดินทางมาเรียนคอมพิวเตอร์ ที่โรงเรียนศูนย์คอมพิวเตอร์

          คอมพิวเตอร์และเครือข่าย IT การใช้คอมพิวเตอร์ของกระทรวงศึกษาธิการ ต้องมีเป้าหมายที่เป็นผลผลิตของการศึกษาว่าต้องการผู้เรียนอย่างไร การจัดซื้อจัดหาคอมพิวเตอร์ต้องบูรณาการทั้งระบบ นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการต้องมีเครือข่ายคอมพิวเตอร์เพื่อการบริหารอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ การจัดซื้อจัดหาคอมพิวเตอร์ให้โรงเรียนต้องดำเนินการโดยทันทีเพราะเป็นสิ่งจำเป็นมาก ในขณะเดียวกัน การจัดทำ Mobile Computers ในรถบัสขนาดใหญ่ซึ่งมีคอมพิวเตอร์ประมาณ ๑๕ เครื่อง เข้าไปสอนในโรงเรียนที่ขาดแคลน เพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการเพิ่มคุณภาพมาตรฐาน ให้โอกาสแก่เด็กยากจนในชนบท และเป็นการยกฐานะ ระดับของโรงเรียนขนาดเล็กให้มีความพร้อมมาตรฐานสูงขึ้น


ที่มา : http://mywebpage.netscape.com/nantadejlyx.dos , http://sea.seach.msn.com/preview , http://small school.obec.go.th/intho.php , http://small school.obec.go.th/know/small.pdf , http://www.m-education.co.th/news/read.asp?presseduid:00000694

โดย : นางสาว จิราภรณ์ เพ็ชรสว่างเกิด, ร.ร.บ้านนาหล่ม อ.ชาติตระการ จ.พิษณุโลก, วันที่ 30 มกราคม 2547