header
                                    

ผลการใช้สื่อคอมพิวเตอร์ช่วยสอนหลักภาษาเรื่องคำและหน้าที่ของคำในภาษาไทย   ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2
โรงเรียนด่านแม่คำมัน
โดย ลัฐิกา ผาบไชย
นักศึกษาปริญญาโท
เอกหลักสูตรและการสอน ( การสอนทั่วไป )
มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์

             หลักภาษา หมายถึงกฎเกณฑ์ที่เราใช้เป็นหลักทั้งในด้านการอธิบายให้ความรู้เกี่ยวกับภาษาและการให้แนวทางการออกเสียง การอ่าน การเขียน และการเรียบเรียงข้อความให้ถูกต้องตามแบบแผนและตามความนิยมของผู้ที่มีการศึกษาส่วนใหญ่ในสังคมแต่เนื่องจากกฎเกณฑ์ทางภาษาเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากซับซ้อนสำหรับนักเรียน นักเรียนจึงไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องศึกษาให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ เป็นผลให้นักเรียนขาดทักษะในด้านการใช้ภาษาเช่นใช้ประโยคในการสื่อสารไม่ถูกต้องทั้งการพูด การเขียน ใช้ลักษณนามผิด เขียนขยายความไม่ได้ เขียนเรียงความไม่สละสลวยเป็นต้น และในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 เรื่องที่พบว่าเป็นปัญหามากที่สุดในการสอนหลักภาษาคือ เรื่องคำและหน้าที่ของคำในภาษาไทยจากผลการประเมินปลายปี ปีการศึกษา 2542 พบว่านักเรียนมีคะแนนเฉลี่ยในจุดประสงค์การเรียนรู้ที่ 16 เรื่องคำและหน้าที่ของคำในภาษาไทยร้อยละ 47    ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน
               ดังนั้นการใช้สื่อการสอนที่มีประสิทธิภาพประกอบแผนการสอนที่เป็นกระบวนการน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้การเรียนหลักภาษาไทยเกิดประสิทธิผลและทำให้มาตรฐานคุณภาพนักเรียน ในวิชาภาษาไทยของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นโรงเรียนด่านแม่คำมันสูงขึ้นได้เพราะสื่อเป็นนวัตกรรมสำคัญที่จะช่วยให้กระบวนการเรียนการสอนมีประสิทธิภาพช่วยให้ผู้เรียนสนใจและเข้าใจ บทเรียนมากขึ้น สื่อที่ทันสมัยในปัจจุบันคือสื่อประสม ( Multi - Media ) สำหรับครูและนักเรียนใช้พัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ครอบคลุมครบถ้วนตามหลักสูตรของแต่ละวิชาสามารถใช้ได้ตลอดปี ( 200 วันทำการ) (สงบ ลักษณะ . 2539 : 66) และปัจจุบันสื่อที่ได้รับการพัฒนาอย่างแพร่หลายและเป็นที่นิยมคือ
สื่อคอมพิวเตอร์

               ปัจจุบันสื่อคอมพิวเตอร์เป็นนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพสามารถช่วยให้นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้นในระดับต่าง ๆ หลายวิชา นักเรียนมีความคงทนในการเรียนรู้และมีเจตคติที่ดีต่อการเรียนผู้เขียนได้ทดลองผลิตสื่อบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนเรื่องคำและหน้าที่ของคำในภาษาไทยชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ในลักษณะของสื่อมัลติมีเดีย โดยใช้โปรแกรม Authroware และได้ทดลองใช้จริง 2 ปีการศึกษา พบว่า

1. ผลจากการใช้สื่อบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนหลักภาษา เรื่องคำและหน้าที่ของคำในภาษาไทยชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนด่านแม่คำมันในปีการศึกษา 2543 และปีการศึกษา 2544 มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 โดยที่ ในปีการศึกษา 2543 มีประสิทธิภาพ 88.77 / 80.40 และในปีการศึกษา 2544 มีประสิทธิภาพ 91.02 / 82.86 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด แสดงว่าสื่อบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนหลักภาษา เรื่องคำและหน้าที่ของคำในภาษาไทยมีประสิทธิภาพดีสามารถนำไปพัฒนาการสอนหลักภาษา เรื่องคำและหน้าที่ของคำในภาษาไทยได้ซึ่งสอดคล้องกับผลการวิจัยของนิสา กรีหิรัญ (ออนไลน์ :2543.
http://edu.swu.ac.th/edtech/database1/content/mcomtentcom/contentcom43.htmบทคัดย่อ) ได้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์มัลติมีเดีย เรื่องอวัยวะรองรับฟัน เพื่อใช้สำหรับสอนนิสิตระดับชั้นปริญญาตรี ปีที่ 1 โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาและหาประสิทธิภาพบทเรียนคอมพิวเตอร์มัลติมีเดีย เรื่อง อวัยวะรองรับฟัน ผลการศึกษาค้นคว้า พบว่า บทเรียนคอมพิวเตอร์มัลติมีเดีย เรื่องอวัยวะรองรับฟันสำหรับสอนนิสิตระดับปริญญาตรีชั้นปีที่ 1 มีประสิทธิภาพเป็น 94.16/94.40 สูงกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้ คือ 90/90

2. ผลจากการเปรียบเทียบคะแนนเฉลี่ยร้อยละของการทดสอบหลังเรียนหลักภาษา เรื่องคำและหน้าที่ของคำในภาษาไทยโดยใช้บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนสูงกว่าก่อนเรียน คือในปีการศึกษา 2543 คะแนนเฉลี่ยร้อยละก่อนเรียน 64.69 คะแนนเฉลี่ยร้อยละหลังเรียน 80.41 ในปีการศึกษา 2544 คะแนนเฉลี่ยร้อยละก่อนเรียน 53.88 คะแนนเฉลี่ยร้อยละหลังเรียน 82.86 ซึ่งเป็นไปตามความคาดหวัง ข้อที่ 2 และสอดคล้องกับผลการวิจัยของพุทธชาติ จินันทุยา(2541:39) ที่ได้ทดลองใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอนวิชาภาษาไทยเรื่อง การเขียนสะกดคำชั้นประถมศึกษา ปีที่ 6 ว่าการนำคอมพิวเตอร์ช่วยสอนมาใช้ควบคู่ไปกับการเรียนการสอนตามปกติจะทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนดีขึ้นกว่าการใช้การเรียนการสอนวิธีใดวิธีหนึ่งเพียงอย่างเดียว

3. ผลจากการเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในจุดประสงค์ที่ 16 จากการสอบ วัดผลปลายภาคเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนด่านแม่คำมันซึ่งใช้ข้อสอบของ กลุ่มโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา สำนักงานการประถมศึกษาอำเภอลับแล พบว่าคะแนนเฉลี่ยของผลสัมฤทธิ์หลังเรียนในปีการศึกษา 2543 และปีการศึกษา 2544 สูงขึ้นกว่าปี 2541 และ 2542 ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของชุติมา ปันโชติพงษ์ ( 2539) ว่า คอมพิวเตอร์ช่วยสอนสามารถทำให้ นักเรียนเรียนรู้ได้ในเวลาอันรวดเร็วและมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น

4. จากการวิเคราะห์เจตคติของนักเรียนต่อการเรียนโดยใช้บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนพบว่านักเรียนส่วนใหญ่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการใช้บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนคิดเป็น ร้อยละ68.33 และรองลงมานักเรียนร้อยละ 30.83 เห็นด้วยกับการใช้บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน อยู่ในระดับมาก และพบว่านักเรียนส่วนใหญ่เห็นว่าบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนให้ทั้งความรู้และ ความสนุกสนานเพลิดเพลิน คิดเป็นร้อยละ 100 คอมพิวเตอร์ช่วยสอนช่วยให้เรียนได้สะดวกและรวดเร็วกว่าการเรียนปกติร้อยละ 100 และคอมพิวเตอร์ช่วยให้เรียนรู้ได้อย่างกว้างขวางร้อยละ 100 ซึ่งสอดคล้องกับผลการวิจัยของนุตพล ธรรมลังกา (2538) ที่ได้ศึกษาเปรียบเทียบผลการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ เรื่องความเท่ากันทุกประการของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โดยใช้คอมพิวเตอร์ ช่วยสอนกับการสอนปกติ แล้วทดสอบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ความคงทนในการเรียนรู้ เจตคติ ต่อวิชาคณิตศาสตร์ และเจตคติต่อคอมพิวเตอร์ช่วยสอน ผลการวิจัยพบว่านักเรียนกลุ่มที่ใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ความคงทนในการเรียนรู้ และเจตคติต่อวิชาคณิตศาสตร์หลังทดลองดีกว่ากลุ่มที่เรียนตามปกติ นักเรียนกลุ่มที่ใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอนมีเจตคติ ที่ดีต่อวิชาคณิตศาสตร์และสอดคล้องกับความเห็นของอุบลรัตน์ วัตนวงศ์ (2540:บทคัดย่อ) ที่ได้พัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่องการใช้ตัวสะกด ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ปรากฏว่านักเรียนส่วนใหญ่ชอบเรียนบทเรียนคอมพิวเตอร์และต้องการให้มีบทเรียนลักษณะนี้เพิ่มขึ้นอีกซึ่งผลจากการวิเคราะห์เจตคติของนักเรียนต่อการเรียนโดยใช้บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนเรื่องคำและหน้าที่ของคำในภาษาไทยชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2
             การจัดการเรียนการสอนโดยใช้สื่อบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนในปัจจุบันสามารถตอบสนองความต้องการของผู้เรียนเป็นรายบุคคลได้เป็นอย่างดีในหลาย ๆ วิชา แต่ปัญหาที่พบในขณะนี้คือครู ผู้สอนขาดความรู้ความสามารถในการผลิตสื่อด้วยตนเอง หากใช้สื่อ CAI สำเร็จรูปที่มีจำหน่ายในท้องตลาดก็สามารถช่วยแก้ปัญหาได้ระดับหนึ่งแต่อาจไม่ตรงกับสภาพปัญหาที่ครูผู้สอนพบ หากครูนำปัญหาที่พบไปจ้าง Programmer ผลิต ก็อาจมีราคาสูงเกินไป แนวทางแก้ไขผู้เขียนคิดว่าน่าจะมีการบรรจุความรู้ด้านการผลิตสื่อคอมพิวเตอร์ให้แก่นักศึกษาในหลักสูตรระดับปริญญาตรี และระดับปริญญาโท ในรายวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาเพื่อเป็นพื้นฐานให้สามารถนำความรู้ไปผลิตสื่อการสอนในอนาคตได้ สำหรับครูผู้สอนที่สนใจรัฐควรสนับสนุนให้มีการพัฒนาโดยการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพื่อให้ครูสามารถเข้ารับการอบรมได้มากขึ้นซึ่งจะส่งผลให้มีสื่อคอมพิวเตอร์อย่างหลากหลายวิชาและสนองตอบต่อความต้องการในการแก้ปัญหาของผู้เรียนได้


โดย : นาง ลัฐิกา ผาบไชย, โรงเรียนด่านแม่คำมัน, วันที่ 30 มกราคม 2547