ใคร ? ความหวังการศึกษาไทย

“ครู” ความหมายตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๔๒ มาตรา ๔ มีความหมายว่า “บุคลากรวิชาชีพซึ่งทำหน้าที่หลักทางด้านการเรียนการสอนและการส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วยวิธีการต่าง ๆ ในสถานศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน” ซึ่งมีความสอดคล้องกับ มาตรา ๒๔ ว่า การจัดกระบวนการเรียนรู้ ให้สถานศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการดังต่อไปนี้ ( ๑ ) จัดเนื้อหาสาระและกิจกรรมให้สอดคล้องกับความสนใจและความถนัดของผู้เรียน โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล ( ๒ ) ฝึกทักษะ กระบวนการคิด การจัดการ การเผชิญสถานการณ์และการประยุกต์ความรู้มาใช้เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา ( ๓ ) จัดกิจกรรมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ฝึกการปฏิบัติให้ทำได้ คิดเป็น ทำเป็น รักการอ่านและเกิดการใฝ่รู้อย่างต่อเนื่อง ( ๔ ) จัดการเรียนการสอนโดยผสมผสานสาระความรู้ด้านต่าง ๆ อย่างได้สัดส่วนสมดุลกัน รวมทั้งปลูกฝังคุณธรรม ค่านิยมที่ดีงามและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ไว้ในทุกวิชา ( ๕ ) ส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้สอนสามารถจัดบรรยากาศ สภาพแวดล้อม สื่อการเรียน และอำนวยความสะดวกเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และมีความรอบรู้ รวมทั้งสามารถใช้การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ ทั้งนี้ ผู้สอนและผู้เรียนอาจเรียนรู้ไปพร้อมกันจากสื่อการเรียนการสอนและแหล่งวิทยาการประเภทต่าง ๆ ( ๖ ) จัดการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นได้ทุกเวลาทุกสถานที่ มีการประสานความร่วมมือกับบิดามารดา ผู้ปกครอง และบุคคลในชุมชนทุกฝ่าย เพื่อร่วมกันพัฒนาผู้เรียนตามศักยภาพ

จากความสำคัญของการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนข้างต้น การจัดวิธีการเรียนการสอนที่หลากหลาย

จึงจำเป็นในการพัฒนาความรู้ความสามารถของผู้เรียน ช่วยให้ผู้เรียนมีทางเลือกที่จะบรรลุมาตรฐานที่กำหนด เนื่องจากรูปแบบการเรียนการสอนมีเป็นจำนวนมาก ผู้เขียนขอยกตัวอย่างรูปแบบการเรียนการสอน “กระบวนการแก้ปัญหาตามหลักอริยสัจ ๔“ โดย : สาโรช บัวศรี นักการศึกษาไทยผู้มีชื่อเสียงและมีประสบการณ์สูงในวงการการศึกษาท่านหนึ่งที่เป็นผู้ริเริมจุดประกายความคิดในการนำหลักพุทธธรรมมาใช้ในการเรียนการสอนมานานกว่า ๒๐ ปี โดยการประยุกต์หลักธรรมอริยสัจ ๔ อันได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค มาใช้เป็นกระบวนการแก้ปัญหา โดยใช้ควบคู่กับแนวทางปฏิบัติที่เรียกว่า “กิจในอริยสัจ ๔“ อันประกอบด้วย ปริญญา ( การกำหนดรู้ ) ปหานะ ( การละ ) สัจฉิกิริยา

( การทำให้แจ้ง ) และภาวนา ( การเจริญหรือการลงมิอปฏิบัติ ) จากหลักทั้งสองท่านได้เสนอแนะการสอนกระบวนการแก้ปัญหาไว้เป็นขั้นตอน ดังนี้

๑) ขั้นกำหนดปัญหา ( ขั้นทุกข์ ) คือ การให้ผู้เรียนระบุปัญหาที่ต้องการแก้ไข

๒) ขั้นตั้งสมมติฐาน ( ขั้นสมุทัย ) คือการให้ผู้เรียนวิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหาและตั้งสมมติฐาน

๓) ขั้นทดลองและเก็บข้อมูล ( ขั้นนิโรธ ) คือการให้ผู้เรียนกำหนดวัตถุประสงค์และวิธีการทดลองเพื่อพิสูจน์สมมติฐานและเก็บรวบรวมข้อมูล

๔) ขั้นวิเคราะห์ข้อมูลและสรุปผล ( ขั้นมรรค ) คือการนำข้อมูลมาวิเคราะห์และสรุป

“ครู” เรากำลังอยู่ในยุคของการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา ครูจึงต้องพบกับความท้าทายตลอดเวลา ขอเป็นกำลังให้ครูไทยในการจัดการเรียนการสอนให้ผู้เรียนของตนพัฒนาได้เต็มตามศักยภาพต่อไป


ที่มา : หนังสือรูปแบบการเรียนการสอน : ทางเลือกที่หลากหลาย. ทิศนา แขมมณี. 2545

โดย : นาง อรวรรณ ตาพา, โรงเรียนบ้านนาไพร ต.ฟากท่า อ.ฟากท่า จ.อุตรดิตถ์ 53160, วันที่ 29 มกราคม 2547