พฤกษศาสตร์
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
ไม้เถาเนื้อแข็ง เลื้อยเกาะ งอกรอกที่ข้อ ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปวงรี โคนใบมนหรือรูปหัวใจ ปลายใบแหลม กว้าง 5-14 ซม. ยาว 13-18 ซม. ดอกช่อเชิงลดออกที่ซอกใบ ไม่มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอก ใบประดับรูปขอบขนานแกมรูปดาบ ผลสดรูปทรงกลม เมื่อสุกสีแดง
ส่วนที่ใช้ประโยชน์ :
ผลแห้ง
สรรพคุณ :
ยารสเผ็ดร้อน ลดอาการอักเสบ ฆ่าแมลง ขับลม
้แหล่งกำเนิดและกระจายพันธุ์ :
แหล่งกำเนิดของพริกไทยอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศอินเดีย ได้กระจายสู่พม่าและประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อื่น ๆ โดยเฉพาะที่ประเทศอินโดนีเชีย เป็นแหล่งปลูกพริกไทยที่สำคัญของภูมิภาคนี้ ต่อมาได้มีการค้าขายติดต่อกับประเทศจีน และประเทศทางยุโรป พริกไทยจึงกระจายออกไปทั่วโลก
สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม :
พริกไทยจัดเป็นไม้เลื้อยยืนต้น เจริญได้ดีในเขตอากาศร้อนชื้น ปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ย 1,200-2,500 มิลลิเมตรต่อปี อุณหภูมิที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 25-40 องศาเซลเซียส ทำให้ฤดูปลูกที่เหมาะสมอยู่ในช่วงปลายฤดูฝนถึงต้นฤดูหนาว พริกไทยชอบดินที่ร่วนซุย มีอินทรีย์วัตถุสูง ระบายน้ำได้ดี ไม่มีน้ำขัง พื้นที่ไม่ควรเป็นที่ลาดเอียงมากจนเกินไป เพราะหน้าดินจะถูกชะล้างเมื่อฝนตกหนัก ซึ่งมีผลต่อระบบรากพริกไทยเป็นอย่างมาก สภาพดินต้องค่อนข้างเป็นกรด มีค่า pH ประมาณ 6-6.5 ทำให้พื้นที่ปลูกพริกไทยนั้นจะเป็นบริเวณที่อยู่ในเขตอากาศร้อนชื้น ได้แก่ จันทบุรี ชลบุรี ระยอง ตาก ระนอง ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช กระบี่ ภูเก็ต พังงา และตรัง
พันธุ์ :
1. พันธุ์ซาราวัค หรือพันธุ์คุชชิ่ง หรือพันธุ์มาเลเซีย
เป็นพันธุ์ที่นำมาจากรัฐซาราวัค ประเทศมาเลเซีย มีผลผลิตสูงกว่าพันธุ์พื้นเมืองของไทย มักทำเป็นพริกไทยดำ สามารถต้านทานโรครากเน่า โคนเน่าได้ดี เจริญเติบโตเร็ว และให้ผลผลิตสูงประมาณ 9-12 กก./ค้าง/ปี เฉลี่ยไร่ละประมาณ 3,600-4,800 กก./ปี เป็นพันธุ์ที่นิยมปลูกกันมากที่สุด
ลักษณะประจำพันธุ์ ใบเดี่ยว ค่อนข้างเรียวเป็นรูปไข่ สีเขียวเป็นมัน มีร่องที่ก้านใบ เส้นใบประมาณ 5-7 เส้น ดอกออกเป็นช่ออยู่ตามข้อในทิศตรงกันข้ามกับใบ ช่อดอก 1 ช่อ มีดอกเฉลี่ย 64 ดอก ผลมีลักษณะเป็นช่อ ไม่มีก้านผลช่อผล 1 ช่อ มีผลเฉลี่ย 49 ผล ผลมีลักษณะกลม เมื่อสุกจะมีสีส้มเป็นส่วนใหญ่ เมล็ดค่อนข้างกลม มีขนาดเล็ก
2. พันธุ์ซีลอน หรือพันธุ์ศรีลังกา
เป็นพันธุ์ที่นำมาจากศรีลังกา นิยมปลูกขายเพื่อเป็นพริกไทยสด มากกว่าทำพริกไทยดำหรือขาว
ลักษณะประจำพันธุ์ มีทรงพุ่มใหญ่ ใบมีรูปร่างคล้ายพันธุ์ซาราวัค แต่ขนาดใบใหญ่กว่าและกว้างกว่า ลักษณะของยอดจะออกสีแดง ช่อดอกและช่อผลมีขนาดใหญ่และยาวกว่าทุกพันธุ์ คือ ยาวประมาณ 15-17 ซม. ผลมีขนาดเท่า ๆ กับพันธุ์ซาราวัค ผลสดสีเขียวเข้ม เมื่อสุกมีสีแดงเข้ม ระบบรากแข็งแรง ทนทานต่อโรครากเน่าได้ดี
3. พันธุ์ปะเหลี่ยน
เป็นพันธุ์พื้นเมืองของจังหวัดตรัง
ลักษณะประจำพันธุ์ ทรงพุ่มทึบมาก ใบมีลักษณะเล็กรีค่อนข้างป้อม ขอบใบเรียบ ใบอ่อนจะมีจุดสีเขียวอ่อนกระจายอยู่ทั่วไป ใบแก่มีสีเขียวเข้ม ข้อและกิ่งสั้น มีการแตกยอดและกิ่งมาก ช่อดอกสั้น ผลถี่และเล็ก ต้านทานโรครากเน่าได้ดีพอสมควร และต้านทานการรบกวนของไส้เดือนฝอยได้ดี แต่ผลผลิตจะต่ำกว่าพันธุ์ที่นำมาจากต่างประเทศ
4. พันธุ์พื้นเมืองกระบี่
เป็นพันธุ์ดั้งเดิมของจังหวัดกระบี่
ลักษณะประจำพันธุ์ ทรงพุ่มโปร่งกว่าพันธุ์ปะเหลี่ยน ใบเล็กค่อนข้างกลมป้อม มีลักษณะคล้ายพันธุ์ปะเหลี่ยน แต่แตกยอดและกิ่งน้อยกว่า ผลผลิตปานกลาง
การขยายพันธุ์ :
การปักชำ เป็นวิธีที่นิยมมาก เพราะได้ผลดีที่สุด
การเตรียมกิ่งพันธุ์ ใช้ลำต้น (เถา) ของส่วนยอดหรือส่วนอื่นที่ไม่แก่จัด มีอายุอยู่ระหว่าง 1-2 ปี ควรตัดจากต้นที่มีความอุดมสมบูรณ์ ให้ผลผลิตสูง ไม่เป็นโรคและมีแมลงทำลาย เมื่อคัดต้นพันธุ์ได้แล้วต้องค่อย ๆ แกะตีนตุ๊กแกให้หลุดออกจากค้าง อย่าให้ต้นหักหรือช้ำ นำกิ่งพันธุ์มาตัดเป็นท่อน ๆ ยาว 40-50 ซม. มีข้อ 5-7 ข้อ ริดใบทิ้งและตัดกิ่งแขนงตรง 3-4 ข้อล่างออก นำยอดไปปักชำในกระบะชำหรือชำใส่ถุงพลาสติก ให้ข้ออยู่ใต้ระดับดิน 3-4 ข้อ จนรากออกแข็งแรงดีจึงย้ายไปปลูก
ถ้าเป็นการปลูกพริกไทยโดยไม่ใช้ค้าง (พริกไทยพุ่ม) ให้ตัดชำโดยใช้ข้อเดียว และมีกิ่งแขนงติดอยู่ ปักชำในถุงหรือแปลงปักชำ เมื่อรากออกดีแล้วจึงย้ายปลูก
อัตราการใช้พันธุ์/ไร่ :
จำนวนต้นต่อไร่ 400 ค้าง ๆ ละ 2 ต้น รวม 800 ต้น/ไร่
การเตรียมดิน :
กำจัดวัชพืช รากไม้ ออกจากแปลงให้หมด ไถดินลึก 40-60 ซม. แล้วตากแดดไว้ 15 วัน ถึงไถพรวนดินให้ละเอียด ปรับสภาพดินโดยใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก แล้วไถพรวนคลุกเคล้าให้เข้ากับดิน
การเตรียมเสาค้าง :
ใช้ค้างซีเมนต์ขนาด 4x4 นิ้ว ยาว 4 เมตร ฝังค้างลึก 50 ซม. ระยะห่าง 2x2 เมตร ใช้กระสอบป่านหุ้มค้างเพื่อเก็บรักษาความชื้นและเป็นที่ยึดเกาะของรากพริกไทย
การปลูก :
1. การปลูกพริกไทย
ใช้ระยะปลูก 2x2 เมตร ขุดหลุมขนาด กว้างxยาวxลึก 40x60x40 ซม. ปากหลุมห่างจากโคนค้างประมาณ 15 ซม. ผสมดินที่ขุดขึ้นมาในอัตราปุ๋ยอินทรีย์ 1 ส่วน ต่อดิน 2 ส่วน โกยดินกลบลงในหลุมประมาณครึ่งหลุม นำต้นพันธุ์ที่เตรียมไว้ลงปลูกให้ปลายยอดเอนเข้าหาค้าง หันด้านที่มีรากหรือตีนตุ๊กแกออกนอกค้าง ฝังลงดินประมาณ 2 ข้อ อีกประมาณ 3 ข้ออยู่เหนือผิวดิน กลบดินให้แน่น รดน้ำให้ชุ่ม การปลูกจะใช้ต้นพันธุ์ 2 ต้น ต่อหลุมหรือค้าง
2. การปลูกพริกไทย โดยไม่ใช้ค้างหรือพริกไทยพุ่ม
โดยปลูกใส่กระถางเป็นไม้ประดับ หรือปลูกเป็นพืชแซมโดยใช้ระยะปลูก 1x1.5 เมตร หรือ 1.25x1.25 เมตร
การดูแลรักษา :
การตัดแต่ง เมื่อต้นพริกไทยเริ่มแตกยอดอ่อน ให้คอยปลิดยอดอ่อนออก และเหลือยอดที่สมบูรณ์ไว้เพียงต้นละ 2-3 ยอด จัดยอดให้อยู่รอบค้างใช้เชือกฟางผูกยอดให้แนบติดค้าง ผูกทุกข้อเว้นข้อ ถ้ามียอดแตกใหม่เกินความต้องการให้เด็ดทิ้ง เมื่อต้นพริกไทยเจริญงอกงามดีแล้ว ควรตัดไหลที่งอกออกตามโคนทิ้ง ตัดกิ่งแขนงที่อยู่เหนือผิวดิน 8-10 ซม. ออกให้หมด เพื่อให้โคนโปร่ง ในระยะที่พริกไทยยังไม่เจริญเติบโตถึงยอดค้างต้องเด็ดช่อดอกออกให้หมด ถ้าทิ้งไว้จะทำให้พริกไทยเติบโตช้า และควรมีการตัดกิ่งส่วนบน เพื่อความสะดวกในการทำงาน ซึ่งจะทำปีละครั้งหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตเรียบร้อยแล้ว
การทำร่มเงา ในระยะแรกที่ปลูกควรทำร่มให้ต้นพริกไทย อาจใช้ทางมะพร้าวหรือใบปรงทะเลหรือวัสดุอื่นก็ได้ หลังปลูกประมาณ 1 เดือนถอนที่บังร่มออกครั้งละเล็กละน้อย เพื่อให้ต้นพริกไทยค่อย ๆ ชินกับแสงแดด เมื่อพริกไทยสามารถทนต่อแสงแดดปกติ จึงเอาวัสดุบังร่มออกให้หมด
การให้น้ำ ช่วงแรกของการปลูกต้องรดน้ำทุกวัน หรือวันเว้นวันจนกระทั่งต้นพริกไทยเจริญเติบโตตั้งตัวได้ดี แล้วลดการให้น้ำเหลือ 2-3 วันต่อครั้ง ต้นพริกไทยที่ให้ผลผลิตแล้ว ควรให้น้ำ 3-5 วันต่อครั้ง ขึ้นกับความเหมาะสม การปลูกพริกไทยนั้นต้องให้ดินมีความชุ่มชื้นอยู่เสมอ โดยเฉพาะช่วงที่พริกไทยติดผลแล้ว จะต้องให้น้ำเป็นประจำทุกวัน ๆ ละครั้ง และควรคลุมโคนด้วยเศษหญ้าหรือฟางข้าว จะช่วยป้องกันการระเหยของน้ำได้ดี
การให้ปุ๋ย ควรกำจัดวัชพืชก่อนใส่ปุ๋ยทุกครั้ง การใส่ปุ๋ย ควรใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักอย่างน้อยปีละครั้ง ค้างละ 5 กก. และควรพูนโคนไปพร้อมกันด้วย สำหรับปุ๋ยเคมี ควรใช้สูตร 15-15-15 หรือ 17-17-17 อัตรา 20-30 กรัมต่อค้าง ปีละ 4 ครั้งหลังตัดแต่งกิ่ง และหากต้องการที่จะเร่งต้นพริกไทยให้ออกดอก ควรให้ปุ๋ยเคมีสูตรตัวท้ายสูงสลับ เพื่อกระตุ้นให้ตาดอกออกพร้อมกัน
การป้องกันกำจัดโรคและแมลง เมื่อพริกไทยเริ่มออกดอกจะต้องพ่นสารเคมี เพื่อป้องกันและกำจัดแมลงที่จะเข้าไปทำลายดอก เมื่อพริกไทยติดผลแล้ว ไม่ควรใช้สารเคมี เพราะอาจจะทำให้มีผลตกค้างในพริกไทยได้ ศัตรูที่สำคัญในช่วงการเจริญเติบโต คือ
เพลี้ยแป้ง พบระบาดในช่วงฤดูฝนต่อฤดูแล้ง กำจัดโดยใช้สารเคมีพวกเซฟวิน หรือมาลาไธออน ฉีดพ่นทุก 7-10 วัน
เพลี้ยอ่อน เข้าทำลายโดยการดูดกินน้ำเลี้ยงของยอดและใบ ทำให้ใบยอดม้วนงอ การกำจัดจะใช้สารเคมีเช่นเดียวกับเพลี้ยแป้ง
โรครากเน่าจากเชื้อรา จะทำให้เถาและใบเหี่ยว ร่วงจนหมดต้น ต้นบริเวณระดับดินจะเน่าดำ รากเละแฉะมีกลิ่นเหม็น การป้องกันกำจัดเมื่อพบต้นเป็นโรค ให้ขุดและเผาทำลายทิ้ง หรือใช้ยาไดโฟลาเทนละลายน้ำ อัตรา 4 ช้อนแกงต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นในหลุมปลูกให้ทั่ว
การกำจัดวัชพืช ควรใช้แรงงานคน ไม่ควรใช้ยากำจัดวัชพืชเพราะพริกไทยเป็นพืชที่ค่อนข้างอ่อนแอ ถ้าถูกละอองยา อาจทำให้พริกไทยเหี่ยวเฉา และอาจถึงตายได้ ควรใช้จอบถาก แต่บริเวณโคนต้นในรัศมี 50 ซม. ควรใช้มือถอน เพื่อป้องกันรากกระทบกระเทือน ถ้าปลูกแบบขั้นบันไดควรใช้วิธีตัด เพราะรากวัชพืชจะช่วยยึดเหนี่ยว กันการพังทะลายของดินได้
การเก็บเกี่ยว :
พริกไทยจะเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เมื่ออายุ 2 ปี แต่จะให้ผลผลิตเต็มที่เมื่อมีอายุ 3 ปี โดยจะมีอายุการเก็บเกี่ยวนานเป็น 10 ปี หากมีการบำรุงและดูแลต้นเป็นอย่างดี สำหรับระยะเวลาในการเก็บเกี่ยว พริกไทยจะ ใช้เวลาประมาณ 6-7 เดือน ตั้งแต่เริ่มออกดอกจนถึงผลแก่ ซึ่งจะเป็นช่วงเดือนพฤษภาคมที่พริกไทยเริ่มออกดอก และเข้าสู่ฤดูเก็บเกี่ยวประมาณเดือนมกราคม
การเก็บเกี่ยวพริกไทยจะเก็บทั้งรวง โดยจะทยอยเก็บตามความแก่ของพริกไทย เพราะพริกไทยจะแก่ไม่พร้อมกัน หากต้องการเก็บจำหน่ายเป็นพริกไทยอ่อน ให้เก็บในขณะที่ผลยังมีสีเขียวอยู่ทั้งรวง ถ้าเป็นพริกไทยดำต้องเก็บรวงที่แก่จัด ผลมีสีเขียวและแข็ง แต่ไม่สุก และถ้าเก็บเพื่อทำเป็นพริกไทยขาว ควรเก็บเกี่ยวเมื่อเมล็ดเริ่มมีสีเหลืองและสีแดงรวงละ 3-4 เมล็ด
ผลผลิต :
พริกไทยแห้ง 600 กิโลกรัมต่อไร่
การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว
? การเก็บเกี่ยวพริกไทยอ่อน เมื่อทำความสะอาดแล้ว สามารถนำไปจำหน่ายได้เลย
? การเก็บเกี่ยวเพื่อทำพริกไทยดำ
นำผลพริกไทยที่เก็บได้มากองรวมกัน ตากแดดประมาณ 1 แดด จากนั้นนำไปนวดให้ผลหลุดจากรวง และตากแดดอีกครั้งบนลานซีเมนต์ หรือเสื่อลำแพน ให้ถูกแดดอย่างสม่ำเสมอประมาณ 3 แดด เมื่อผลพริกไทยแห้งสนิท จะเปลี่ยนเป็นสีดำ แล้วนำไปร่วนด้วยตะแกรงหรือกระด้ง เพื่อแยกเอาเศษฝุ่น และเมล็ดที่ลีบออก พริกไทยสด 100 กก. จะได้พริกไทยดำ 33 กก. หรือในอัตราส่วน 3:1 ผลผลิตพริกไทยดำแห้งที่ได้ประมาณ 500-600 กก./ไร่
? การเก็บเกี่ยวเพื่อทำพริกไทยขาว มีขั้นตอนดังนี้
1. แช่น้ำ นำพริกไทยที่เก็บมาแล้วตากแดดเล็กน้อย นำเข้าเครื่องนวด เพื่อแยกผลออกจากรวง จากนั้นนำผลพริกไทยแช่น้ำในบ่อซีเมนต์ หรือถังไม้ หรือภาชนะอื่นที่เหมาะสม นานประมาณ 7-14 วัน
2. ล้างน้ำ นำพริกไทยขึ้นจากน้ำที่แช่ นำมานวดเพื่อลอกเปลือกแล้ว นำมาเกลี่ยบนตะแกรงเสื่อลำแพน หรือไม้ไผ่ที่มีช่องให้เปลือกพริกไทยหลุดออกได้ ใช้น้ำล้างเปลือกออกจนหมด
3. ตากแดด หลังล้างทำความสะอาดแล้ว ไปตากแดดทันที่บนเสื่อลำแพนหรือลานซีเมนต์ เกลี่ยให้สม่ำเสมอตากแดดประมาณ 4-5 วัน ให้แห้งสนิทก่อนบรรจุกระสอบจำหน่าย
ฏิทินการผลิต :



แหล่งอ้างอิง : หนังสือพฤกษศาสตร์ หน้า 25-28 25 มกราคม 2535

โดย : นาย ณัฐพงษ์ ชุมแสง, ร.ร.สวนศรีวิทยา, วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2547