   .1 ความหมายของธุรกิจขนาดเล็ก
การให้คำจำกัดความของธุรกิจขนาดเล็กมักจะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ หรือบางครั้งแม้แต่หน่วยงานที่ดูแล หรือส่งเสริมเรื่องนี้ในประเทศเดียวกัน ก็ยังมีการให้คำจำกัดความไม่เหมือนกันปรากฏให้เห็นเสมอ แต่อย่างไรก็ตามหลักใหญ่ ๆ ในการให้คำจำกัดความต่างก็จะมีการใช้คำหลักที่เป็นคำร่วมในการนำมาใช้ประกอบการอธิบายที่มักจะตรงกัน โดยคำหลักเหล่านี้ แต่ละคำต่างก็เป็นกลไกในการช่วยบอกให้ทราบถึงขนาดของธุรกิจได้โดยตรง คำหลักต่าง ๆ ที่ใช้กำหนดมีดังนี้ คือ
สินทรัพย์รวม คือ สินทรัพย์ทั้งหมดที่ธุรกิจใด ๆ เป็นเจ้าของหรือถือครองอยู่
สินทรัพย์สุทธิ คือ สินทรัพย์ต่าง ๆ ของธุรกิจที่มีอยู่ หลังจากหักหนี้สินต่าง ๆ ออกแล้ว
พนักงาน คือ จำนวนรวมของคนงานและผู้บริหารทั้งหมดซึ่งมีรายชื่อปรากฏอยู่ในทะเบียนบัญชีรายจ่ายค่าจ้าง และเงินเดือน
ยอดขาย คือ รายรับสุทธิที่ได้มาจากยอดขายรวม หักด้วยสินค้าที่รับคืนจากลูกค้าและส่วนลดที่ให้กับลูกค้า
ดังตัวอย่างในกฏหมายที่เกี่ยวกับธุรกิจขนาดเล็กของสหรัฐอเมริกาได้ระบุไว้ว่า ธุรกิจขนาดเล็ก หมายถึง กิจการที่ความเป็นเจ้าของและการดำเนินงานเป็นไปอย่างมีอิสระ และในเวลาเดียวกันกิจการนั้น ๆ จะต้องไม่มีอิทธิพล ไปครอบงำต่อการดำเนินงานของธุรกิจอื่นในแขนงเดียวกัน
สำหรับในประเทศไทย สำนักงานธนกิจอุตสาหกรรมขนาดย่อม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมกำหนดว่า อุตสาหกรรมขนาดย่อม หมายถึง อุตสาหกรรมที่มีเงินทุนจดทะเบียนหรือทรัพย์สินถาวรไม่เกิน 5 ล้านบาท
ในอีกทางหนึ่ง การใช้เกณฑ์กำหนดโดยอาศัยจำนวนพนักงานเป็นหลักนั้น ในการศึกษาวิจัย อุตสาหกรรมขนาดย่อม และขนาดกลางในประเทศไทย(พ.ศ.2521) โดยคณะวิจัยของ ดร. แสง สงวนเรือง เคยให้คำจำกัดความอุตสาหกรรม ขนาดย่อมเอาไว้ว่า หมายถึง อุตสาหกรรม ที่มีคนงาน 10-49 คน
1.2 ความสำคัญของธุรกิจขนาดเล็ก
มนุษย์ทุกคนมีความต้องการในด้านต่าง ๆ ไม่เหมือนกันและไม่มีที่สิ้นสุด นับตั้งแต่ความต้องการด้านอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค แล้วยังมีความต้องการด้านอื่น ๆ อีก เช่น ความปลอดภัย ความมั่นคงที่จะมีงานทำ มีสวัสดิภาพในสังคม ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นที่ไม่เสี่ยงภัย มีหลักประกันในทางต่าง ๆ เพื่อให้คนดำเนินชีวิตไปได้ด้วยดี ดังนั้น ธุรกิจขนาดเล็ก ซึ่งถือว่า เป็นธุรกิจพื้นฐานเข้ามามีบทบาทส่วนหนึ่ง ในการตอบสนองความต้องการของคนในสังคม และมีส่วนช่วยในการพัฒนา ประเทศด้วย ซึ่งประเทศไทยมีระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมหรือเสรี ที่ตัวบุคคลมีสิทธิเสรีภาพ ในการที่จะเลือกดำเนินการใด ๆ ภายใต้ขอบเขตของกฎหมายและเป็นระบบที่ยอมให้มีการแข่งขันกันโดยการกำกับดูแล ของรัฐบาล
1.3 คุณลักษณะของธุรกิจขนาดเล็ก
แม้ว่าการให้คำจำกัดความธุรกิจขนาดเล็กจะแตกต่างกันไปบ้าง แต่อย่างไรก็ตาม คุณลักษณะโดยทั่วไป ของธุรกิจขนาดเล็ก มักจะมีเหมือนกันในสิ่งต่อไปนี้
1. การบริหารงานเป็นอิสระ กล่าวคือ การก่อตั้งมักจะไม่จัดตั้งเป็นส่วนหนึ่งของกิจการ แห่งอื่นที่มี ขนาดใหญ่กว่า และเป็นธุรกิจที่ผู้บริหารซึ่งเป็นเจ้าของกิจการมีอิสระจากการควบคุม จากภายนอก และสามารถทำการตัดสินใจ เรื่องสำคัญต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง
2. เงินทุนมักจะได้มาจากตัวเจ้าของเอง หรืออาจจะระดมเงินทุนมาจากกลุ่มคนใกล้ชิด ที่รู้จักกันดี หรืออาจเป็นเครือญาติกัน
3. ขอบเขตการดำเนินงานส่วนใหญ่มักจำกัดอยู่ในท้องถิ่น โดยที่คนงานและเจ้าของ มักจะเป็นบุคคลที่อาศัยอยู่ในชุมชนเดียวกัน
4. ขนาดของกิจการมักจะมีขนาดเล็ก เมื่อเทียบกับธุรกิจในอุตสาหกรรมเดียวกัน ซึ่งการวัดอาจใช้ยอดขาย จำนวนพนักงาน กำไรรวมที่ทำได้หรือเกณฑ์อื่นใดที่เหมาะสมสำหรับนำมาใช้วัดก็ได้
|