" ขี้ตะกรัน " ( ทองคำบนถนน )


ขี้ตะกรัน หรือสะแหลกดีบุก เกิดจากน้ำแร่และกากแร่ธาตุต่างๆ ที่ยังถลุงแยกออกไปไม่หมด เนื่องจากแร่ธาตุเหล่านั้น ไม่อาจหลอมละลายภายใต้อุณหภูมิเดียวกับดีบุก จึงถูกคัดทิ้งเมื่อเย็นลงจึงจับตัวแข็งเกาะกันเป็นก้อน มีรูปทรงสีสันต่างๆ กัน


ขี้ตะกรัน หรือสะแหลกดีบุกเหล่านี้ มีแร่แทนทาไลต์ ( Tantalite ) ผสมอยู่ แร่นี้เป็นแร่ยุทธปัจจัยใช้สำหรับทำยานอวกาศหรือหัวจรวดนำวิถี และขีปนาวุธต่างๆ ทั้งนี้เพราะมีคุณสมบัติพิเศษที่ทนต่อความร้อนที่เกิดจากการเผาไหม้เสียดสีของอากาศได้สูงมาก จึงมีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 60 – 70 บาท



สมัยที่พระยารัษฎานุประดิษฐ์ ( คอซิมบี้ ) ได้กะเกณฑ์ให้เจ้าของเหมืองทำถนนหนทางแลกเปลี่ยนกับการสัมปทานขุดแร่ บรรดาเหมืองต่างๆได้ขนสะแหลกดีบุกที่กองทิ้งเกะกะบริเวณเตาหลอมมาถมถนน หรือเอาไปถมที่สำหรับปลูกบ้านเรือน บ้านโบราณหลังใหญ่ๆ และถนนแทบทุกสายในเมืองภูเก็ตในเมืองภูเก็ต หรือเมืองตะกั่วป่าจึงสร้างทับสะแหลกดีบุกไปโดยปริยาย เหตุนี้ในราว พ.ศ. 2521 บรรดานายทุนต่างๆ จึงได้ยื่นประมูลต่อทางการขอขุดถนนเก่าๆ ทุกสายในตัวเมืองภูเก็ตโดยมีข้อตกลงว่า เมื่อขุดเสร็จแล้วจะสร้างถนนใหม่ชดใช้ให้ นับเป็นการประมูลที่แปลกประหลาด หรือบ้านที่ปลูกสร้างอยู่บนเตาถลุงที่มีขี้ตะกรันฝังอยู่มากๆ ก็จะถูกรื้อหรือทุบพื้นทิ้งเพื่อขุดเอาขี้ตะกรันดังกล่าว
ปรากฏการณ์แตกตื่นขี้ตะกรันทำให้คนภูเก็ตแห่กันขุดถนน หรือแม้แต่ขุดพื้นบ้านตัวเองเป็นการใหญ่ ถึงกับทำให้พื้นถนนทรุด บ้านถล่มจนมีผู้ได้รับบาดเจ็บ ว่ากันว่าขี้ตะกรันทำให้คนภูเก็ตรวยไปตามๆ กัน มีทั้งที่ขุดขายเองหรือรับจ้างขุด กรรมกรรับจ้างขุดขี้ตะกรันได้ค่าแรงสูงถึงวันละ 180 บาท ต่อมามีการประท้วงและเผาโรงงานแทนทาลัม และขุดหาขี้ตะกรันได้น้อยลง ปรากฏการณ์แตกตื่นขี้ตะกรนจึงเลิกไปในที่สุด










โดย : นางสาว โรจนี นนทพันธาวาทย์, โรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัย, วันที่ 7 พฤศจิกายน 2544