header

คลิกสองครั้งเพื่อเพิ่มภาพตัดปะ
                     การย่อความ

 การย่อความ  คือการเก็บใจความสำคัญของเรื่องมาเรียบเรียงใหม่  ให้สั้นกว่าเดิมแต่มีใจความสำคัญครบถ้วนสมบูรณ์  ว่า  ใคร  ทำอะไร   ทีไหน  เมื่อไร  อย่างไร โดยใช้สำนวนภาษาของผู้ย่อเอง

ประโยชน์ของการย่อความ

1. ช่วยให้การอ่าน  การฟังได้ผลดียิ่งขึ้น  ช่วยให้เข้าใจและจดจำข้อความสำคัญที่ได้อ่านหรือฟังได้สะดวกรวดเร็ว
2. ช่วยในการจดบันทึก  เมื่อได้ฟังหรือศึกษาวิชาใดก็ตาม  รู้จักจดข้อความสำคัญลงสมุดได้ทันเวลาและเรื่องราว
3. ช่วยในการตอบแบบฝึกหัดหรือข้อสอบ  กล่าวคือผู้ตอบจะต้องย่อความรู้ทั้งหมดที่มีอยู่ในรูปของข้อเขียนสั้น ๆ          
    แต่มีใจความครบถ้วน
4. ช่วยเตือนความทรงจำ  นักเรียนอ่านหนังสือแล้วทำบทย่อหน้าเป็นตอน ๆ หรือเป็นระยะ ๆ ควรทำติดต่อกัน                  
    อย่างสม่ำเสมอ  จะช่วยให้ไม่ต้องอ่านหนังสือซ้ำใหม่ ตลอดเล่ม
5.  ช่วยประหยัดเงินในการเขียนโทรเลขได้   ถ้ารู้จักย่อความจะเขียนข้อความได้สั้น ๆ   เนื้อความกะทัดรัดชัดเจน  
     ผู้อ่านเข้าใจเรื่องราว

จุดประสงค์ที่สำคัญของการย่อความ

          1.  เพื่อรู้จักจับใจความสำคัญของเรื่อง  ว่าเรื่องที่ฟังหรืออ่าน  เป็นเรื่องของใคร   ทำอะไร   ที่ไหน    เมื่อไร  
               อย่างไร
          2.   เพื่อนำใจความสำคัญไปถ่ายทอดให้แก่ผู้อื่น  หรือเพื่อสรุปเนื้อเรื่องที่ได้ฟัง  ได้อ่านนั้น  เอาไปใช้ประโยชน์
ในโอกาสต่อไป

หลักในการย่อความ

             1.  เขียนคำนำตามประเภทของเรื่อง
             2.  อ่านเรื่องทั้งหมดอย่างละเอียด  อาจจะอ่านถึง  2 – 3 เที่ยว  เพื่อให้เข้าใจเรื่องโดยตลอด
             3.  ทำความเข้าใจศัพท์  สำนวนโวหารในเรื่อง
             4.  ถ้าเรื่องที่จะย่อเป็นร้อยกรองต้องถอดคำประพันธ์เป็นร้อยแก้วก่อนจึงย่อ
             5.  สังเกตใจความสำคัญแล้วแยกออกเป็นตอน ๆ
             6.  สรรพนามบุรุษที่ 1 , 2  ต้องเปลี่ยนเป็นสรรพนามบุรุษที่ 3   หรือเอ่ยชื่อ
             7.  ถ้าคำเดิมเป็นคำราชาศัพท์ให้คงไว้
             8.  ข้อความที่เป็นคำพูดในเครื่องหมายอัญประกาศต้องเขียนใหม่ซึ่งเรียกว่าเปลี่ยนเลขในเป็นเลขนอก
             9.  เรื่องที่ย่อถ้าไม่มีชื่อเรื่อง  ผู้ย่อต้องตั้งชื่อเรื่องเอง 1

การเขียนคำนำในการย่อความ

1. การย่อความ  บทความ  สารคดี  นิทาน  นิยาย  เรื่องสั้น  ข่าว  ฯลฯ   ให้บอกประเภท  ชื่อเรื่อง  ชื่อผู้แต่ง  ที่มาของเรื่อง     นิทานเรื่อง………………………………..ของ………………….จาก…………..…..ความว่า

2.  การย่อความประกาศ   แจ้งความ   แถลงการณ์  ฯลฯ ให้บอกประเภท   ชื่อเรื่อง   ชื่อผู้ประกาศ  วัน  เดือน   ปีที่ประกาศ      ประกาศเรื่อง…………………………ของ………………..จาก…………………..ความว่า

3.  การย่อจดหมายให้บอกประเภทชื่อผู้เขียน  ชื่อผู้รับ  วัน  เดือน  ปี  ที่เขียน
     จดหมายของ………………………ถึง…………………..ลงวันที่………………..ความว่า

4. การย่อโอวาท  คำปราศรัย  สุนทรพจน์ให้บอกประเภท   ชื่อผู้พูด  ชื่อผู้ฟัง   โอกาสที่พูด  สถานที่   วัน  เดือน  ปีที่เขียน      คำปราศรัยของ……………………….แก่………………………….เนื่องใน…………………ทาง (ณ)………………………………………วันที่……………………..ความว่า……………
5. การย่อบทร้อยกรองให้บอกประเภท   ชื่อเรื่อง  ชื่อผู้แต่ง  ที่มาของเรื่อง
    กลอนสุภาพเรื่อง……………………………ของ……………………จาก……………ความว่า

 

ตัวอย่างการย่อข่าว

                  ข่าวเรื่อง นักศึกษาไปเล่นน้ำจมก้นเขื่อน  จากหนังสือพิมพ์  ไทยรัฐ  ฉบับวันพฤหัสบดีที่  22  มีนาคม  2544  
 ความว่า

              นายประเสริฐ  พงษ์เสน  นักศึกษาชั้นปีที่ 3 ปวช. วิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่  ไปเล่นน้ำ     กับเพื่อนที่เขื่อนแม่กวง  จ.เชียงใหม่   เกิดเป็นตะคริวและจมหายไปจนเสียชีวิตในที่สุด

 

หนังสืออ้างอิง

ปราณี   บุญชุ่ม และ ภาสกร  เกิดอ่อน.  หลักภาษา การใช้ภาษา 2.
             กรุงเทพ ฯ : อักษรเจริญทัศน์.ม.ป.ท. , ม.ป.ป.
เพ็ญศรี  จันทร์ดวง , ศิริพร ขวัญรัตน์ และ พนิดา  ศรีลัด . ภาษาไทย 
             ท 101 . 2000101.   กรุงเทพฯ :  
สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ, ม.ป.ป.สุโขทัยธรรมาธิราช, มหาวิทยาลัย.   
              
สาขาวิชาศิลปศาสตร์. การใช้ภาษาไทย . พิมพ์ครั้งที่ 11 : 
              โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช , 2533.


โดย : นาง ลัฐิกา ผาบไชย, โรงเรียนด่านแม่คำมัน, วันที่ 9 ธันวาคม 2547