วีดีโอออนดีมานต์
วีดีโอออนดีมานด์

หากธุรกิจของท่านมีความต้องการที่จะเลือกดูรายการต่าง ๆ อาทิ รายการภาพยนตร์ สารคดี ข่าว หรือรายการบันเทิงอื่น ๆ จากเครื่องรับสัญญาณโทรทัศน์ในเวลาที่ต้องการ บริการวิดีโอออนดีมานด์จะช่วยให้การบริการแก่ท่านได้ โดยรายการต่าง ๆ เหล่านี้จะถูกบันทึกอยู่ในหน่วยข้อมูลขนาดใหญ่ (Video Jukebox) ซึ่งตั้งอยู่ในศูนย์บริการ รายชื่อของรายการต่าง ๆ จะปรากฏขึ้นบนจอโทรทัศน์เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้เลือกชม โดยผู้ใช้บริการสามารถดูเนื้อเรื่องสั้น ๆ ของแต่ละรายการได้ก่อนที่จะตัดสินใจเลือกชมรายการใด ๆ
บริการวิดีโอออนดีมานด์ใช้เทคโนโลยีที่จะต้องโต้ตอบระหว่างผู้รับบริการและผู้ให้บริการ จึงทำให้บริการอื่น ๆ นอกเหนือจากการชมภาพยนตร์เป็นไปได้ ดังตัวอย่างเช่น
  • คาราโอเกะออนดีมานด์ (Karaoke On Demand) คือเลือกร้องเพลงได้ที่บ้าน
  • นิวส์ออนดีมานด์ (News On Demand) คือเลือกอ่านข่าวเฉพาะที่ต้องการ เช่น ข่าวเฉพาะที่ต้องการ เช่น ข่าวการเมือง ข่าวกีฬา ข่าว Hot-Line เป็นต้น
  • เทเลช้อปปิ้ง (Tele-Shopping) คือเลือกซื้อของได้ตามต้องการจากร้านค้าทั้งในประเทศ และต่างประเทศได้ที่บ้าน
  • วิดีโอคอนเฟอร์เรนซิ่ง (Video conferencing) คือเลือกประชุมทางไกลกับใครก็ได้ที่อยู่ในระบบตามต้องการ
  • เลคเชอร์ออนดีมานด์ (Lecture On Demand) คือเลือกเรียนเรื่องที่สนใจได้ตามต้องการ

มวลชน

จะเห็นได้ว่าวิดีโอออนดีมานด์ไม่ได้จำกัดตัวเองอยู่ที่การให้บริการด้านความบันเทิงเท่านั้น แต่สามารถให้ประโยชน์ครอบคลุมถึงด้านธุรกิจ และด้านการศึกษาด้วย จากข้อมูลของบริษัท Digital คาดคะเนว่าภายในปี 1996 บริการวิดีโอออนดีมานด์จะเข้าถึงกว่า 100,000 หลังคาเรือน ในสหรัฐอเมริกา กว่า 125,000 หลังคาเรือน ในยุโรป และกว่า 500,000 หลังคาเรือน ในเอเชียแปซิฟิก โดยมีอัตราการเติบโต 200-300 % ต่อปี จนถึงปลายศตวรรษนี้จะมีผู้รับบริการถึง 20 ล้านหลังคาเรือนทั่วโลก คิดเป็นปริมาณในตลาดถึง 5,000 ล้านดอลลาร์
สำหรับตลาดในเมืองไทย คงจะต้องรอผลการสำรวจตลาด โดยการทดลองการให้บริการ ซึ่งจะกล่าวถึงในหัวข้อต่อไป

การทำงานของระบบ

การทำงานของระบบวิดีโอออนดีมานด์มีส่วนประกอบด้วยกัน 3 ส่วน ดังแสดงในรูปที่ 1


1. Video Server และ Switch Combination
ตัว Server จะทำหน้าที่เลือกและดึงข้อมูลของรายการต่าง ๆ จากหน่วยข้อมูลตามความต้องการของผู้ใช้บริการสำหรับการให้บริการระบบวิดีโอออนดีมานด์ขนาดใหญ่นั้น อาจจะให้ ATM (Asynchronous Transfer Mode) Switches ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่สำหรับส่งข้อมูลด้วยความเร็วสูง

2. สายส่งสัญญาณ (Transmission Medium)
โดยปกติแล้วสายนำสัญญาณที่ใช้คือสายใยแก้วนำแสง (Optical Fiber) โดยใช้เทคโนโลยีการบีบอัดข้อมูลเพื่อลดขนาดของข้อมูล สายนำสัญญาณอีกแบบหนึ่ง คือสายโทรศัพท์ (สายทองแดงทั่วไป) ซึ่งใช้กับเทคโนโลยี ADSL (Asynchronous Digital Subscriber Line) และระบบส่งสัญญาณอีกแบบหนึ่งที่ไม่ต้องใช้สายเคเบิล คือดาวเทียม การทำงานของระบบทั้งสามจะกล่าวในรายละเอียดต่อไป

3. ตัวแปลง และรับสัญญาณ (Set Top Convertor) ตัวแปลง และรับสัญญาณนี้จะรับสัญญาณจากสายส่งสัญญาณ แล้วแปลงไปเป็นสัญญาณภาพเข้าเครื่องรับโทรทัศน์ นอกจากนี้ยังทำการส่งคำสั่งต่าง ๆ และข้อมูลการเก็บค่าบริการ (Billing) จากผู้ใช้ไปยัง Switch อุปกรณ์ Set Top จะอยู่ที่บ้านผู้ใช้ซึ่งมี Interactive Remote Control สำหรับผู้ใช้เพื่อติดต่อกับ Video Server ในระหว่างการชมรายการ ซึ่งสามารถใช้หยุดพักการชมรายการชั่วคราว (Pause) กรอไปข้างหน้า (Fast Forward) หรือกรอกลับ (Rewind) ได้เหมือนเครื่องเล่นวิดีโอทั่วไป

Video Servers

เป็นส่วนที่เก็บรายการต่าง ๆ ที่จะให้บริการ ซึ่งมีส่วนประกอบดังแสดงในรูปที่ 2 รายการต่าง ๆ ที่เก็บอยู่ในส่วน Video Storage จะถูกบีบอัดด้วยเทคนิค MPEG1 หรือ MPEG2 เพื่อลดขนาดของข้อมูล ข้อมูลที่เก็บอยู่จะถูกส่งต่อไปยัง Distribution System เพื่อส่งไปตามระบบส่งสัญญาณ (Transmission System) โดยมี Video Transfer Engine เป็นตัว Interface ระหว่าง Video Server และ Transmission System ซึ่งมีหน้าที่ดึงข้อมูลจาก Video Server และรักษาความเร็วในการส่งข้อมูลให้คงที่


ระบบส่งสัญญาณ (Transmission System)

ระบบ Transmission ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะนำมาใช้กับวิดีโอออนดีมานด์ มีอยู่ด้วยกัน 3 ระบบ คือ
1. Hybrid Fiber Coaxial (HFC) เป็นระบบผสมผสานระหว่าง Fiber กับ Coaxial โดยใช้ Fiber เชื่อมระหว่าง Video Hub กับเครือข่ายตอนนอก (Outside Plant) และใช้สาย Coaxial เข้าถึงครัวเรือน รายละเอียดการทำงานของระบบ HFC แสดงอยู่ในรูปที่ 3 ข้อมูล Digital จาก Video Server จะถูกปรับคลื่นความถี่โดย BHDT (Broadband Host Digital Terminal) เพื่อให้อยู่ระหว่างช่วงความถี่ 550-750 MHz และส่งไปตามบ้าน ระบบ addressable set top จะทำการเลือกข้อมูลที่ส่งมา พร้อมทั้งปรับและแปลงสัญญาณนั้นให้ผู้ชมที่บ้าน บริษัท AT&T อยู่ระหว่างการทดลองใช้ระบบ HFC ที่ลองไอส์แลนด์ นิวยอร์ก โดยการลงทุนประมาณ 2,500 เหรียญสหรัฐฯ ต่อผู้รับบริการ 1 ท่าน


2. Asymmetric Digital Subscriber Line (ADSL) จะใช้เทคโนโลยีของการบีบอัดข้อมูล โดยส่งผ่านสายโทรศัพท์ทั่วไปที่มีเครือข่ายอยู่แล้ว โดยแถบความกว้างสัญญาณขาไปที่ส่งได้ถึง 6 MBps องค์ประกอบ VOD โดยใช้ ASDL แสดงในรูปที่ 4 ข้อมูลจาก Video Server ซึ่งถูกบีบอัดจะผ่านการสลับช่องสัญญาณในส่วนของ DCS และผ่านเข้าสู่มัลติเพลกเซอร์ (MX) เพื่อส่งรายการตามที่ผู้ใช้เลือก และส่งเข้าสู่ ADSL XMTR เพื่อส่งตามสายโทรศัพท์สู่เครื่องรับของผู้ใช้ที่บ้าน ระบบ ADSL จะมีข้อจำกัดตรงระยะทางระหว่าง Head Find กับเครื่องรับของผู้ใช้ ราคาการลงทุนประมาณ 1,500 เหรียญสหรัฐฯ ต่อผู้ใช้ 1 ท่าน ข้อดีของระบบนี้คือ สามารถติดตั้งได้รวดเร็ว และราคาการลงทุนถูกกว่า แต่จำกัดที่จำนวนรายการ ระบบ ADSL อยู่ระหว่างการทดสอบโดยบริษัท เบลแอตแลนติก บริษัท เทลสทรา ที่ออสเตรเลีย และบริษัทเบลกาคอม ที่บรัสเซล เบลเยี่ยม


3. Direct Broadcast Satellite (DBS) ใช้เทคโนโลยีดาวเทียมเป็นระบบส่งสัญญาณขาไปผ่านดาวเทียม และสัญญาณขากลับส่งผ่านสายโทรศัพท์ จำนวนของสัญญาณมีได้ถึง 74-150 ช่อง ราคาการลงทุนประมาณ 1,000 เหรียญสหรัฐฯ ต่อผู้ใช้ 1 ท่าน องค์ประกอบการทำงานของระบบ DBS แสดงในรูปที่ 5


LNB (Low Noise Block) และ Down Converter จะปรับสัญญาณความถี่จาก C-BAND ของแถบความกว้างสัญญาณระหว่าง 4.2 GHz - 8.7 GHz ลงมาถึง 900 MHz ซึ่งอาจจะมีการรวมสัญญาณกับ Off-air Channels โดยส่วนของ "COMB" เพื่อส่งไปตามครัวเรือนอีกทีหนึ่ง

ทิศทางการบริการในไทย

ขณะนี้มีการทดลองให้บริการวิดีโอออนดีมานด์หลายแห่งทั้งในอเมริกา ยุโรป และเอเชีย ซึ่งการทดลองให้บริการอยู่ในช่วง 50 ถึง 1,000 ครัวเรือน และปริมาณรายการให้เลือกระหว่าง 50-1,000 รายการ ดังแสดงในตารางที่ 1


ในโซนเอเชียแปซิฟิกมีการทดลอง หรือเตรียมการทดลองวิดีโอออนดีมานด์ที่ประเทศจีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย สิงคโปร์ และประเทศไทย ดังแสดงในตารางที่ 2


สำหรับประเทศไทยนั้นเครือข่ายที่มีอยู่แล้วคือเครือข่ายโทรศัพท์ ซึ่งเทคโนโลยี ADSL เป็นเทคโนโลยีที่น่าจับตามอง และมีการทดลองให้บริการในหลาย ๆ แห่งทั่วโลก เมื่อเทคโนโลยีการบีบอัดข้อมูลมีการพัฒนามากขึ้น การติดตั้งระบบก็เป็นไปได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้น ADSL น่าจะเป็นเทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับการให้บริการในประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม เมื่อเครือข่ายใยแก้วนำแสงเสร็จเรียบร้อย เทคโนโลยี HFC ก็จะเป็นอีกเทคโนโลยีหนึ่งที่ไม่อาจมองข้ามไปได้ สำหรับการให้บริการวิดีโอออนดีมานด์ในช่วงเริ่มต้นนั้น ควรจะให้บริการลูกค้าที่เป็นกลุ่มธุรกิจก่อน เช่น โรงแรม เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อใช้เวลาในช่วงนี้สำรวจตลาด และทดสอบเทคโนโลยีในเวลาเดียวกัน


เขียนโดย : ดร.อำไพ พรประเสริฐกุล, ดร.ไกรสิน ส่งวัฒนา
นิตยสาร Telecom ฉบับเดือนกรกฎาคม 2538
Last update : 16/07/1999


แหล่งอ้างอิง : เขียนโดย : ดร.อำไพ พรประเสริฐกุล, ดร.ไกรสิน ส่งวัฒนา

โดย : นาย นาย ไตรเทพ เมฆมณฑา, มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์, วันที่ 1 ธันวาคม 2547