ไผ่แตกกอ

       บทความทางการศึกษาของนักศึกษาปริญญาโท
                         "ไผ่แตกกอ"
                                        โดย  ลัฐิกา  ผาบไชย
                                         เอกหลักสูตรและการสอน
        เปรียบครูดุจกอไผ่     ตระหง่านได้ด้วยน้ำฝน
   ต้านลมด้วยอดทน          เพื่อแตกหน่อทุกคืนวัน
   ศิษย์นั้นดุจหน่อไผ่          แตกกิ่งใบได้ดั่งสรรค์
   ดัดได้สารพัน                เป็นรูปร่างดังต้องการ
   ผู้นำดุจน้ำฝน               ชโลมไผ่ได้อาหาร
   กอไผ่ใหญ่ตระการ          หน่อเบิกบานอาหารดี
   กอไผ่บางกอแกร่ง           หน่อแข็งแรงสมศักดิ์ศรี
   บางกอล้าเต็มที              ก็เอนลู่ไปตามลม
   หน่อไผ่ที่เติบใหญ่            แผ่กิ่งใบได้สวยสม
   บางหน่อคดงอจม            อยู่ใต้ดินสิ้นพลัง
   บางหน่อไม่ท้อถอย          เฝ้ารอคอยด้วยความหวัง
   รอฝนมาประทัง              ยังได้โผล่ขึ้นพ้นดิน
   จงเป็นเช่นหน่อไผ่            แตกกอได้ดังถวิล
   เติบใหญ่สมใจจินต์          ชุบชีวินเพราะแรงตน

บทประพันธ์ “ ไผ่แตกกอ” นี้เป็นลักษณะการแต่งกาพย์ยานี ๑๑
ซึ่งผู้แต่งเกิดแนวคิดจากธรรมชาติของต้นไผ่ที่เจริญเติบโตทุกพื้นที่ขยายพันธุ์โดยการแตกหน่อ ถ้าจะเปรียบครูเป็นกอไผ่ก็คือมีครูอยู่เป็นจำนวนมาก ลูกศิษย์จึงเปรียบเสมือนหน่อไผ่ที่ย่อมมีจำนวนมหาศาล หน่อไผ่บางหน่อสามารถเจริญเติบโตขึ้นพ้นดินได้เพราะความ         หนาแน่นของไผ่หรือเพราะขาดความสมบูรณ์ บางหน่อก็พยายาม แตกกอออกมาเพื่อให้มีชีวิตรอด ธรรมชาติของไผ่เป็นฉันใด ชีวิตคนเราก็ดำเนินไปฉันนั้นแตกต่างกันอยู่ที่คนเรามีความสมบูรณ์กว่า ไม่ต้อง ทนแดด ทนฝน ทนร้อน ทนหนาว ไผ่ได้รับน้ำเป็นอาหารหล่อเลี้ยงยังยืนอยู่ด้วยความตระหง่าน คนเราได้รับอาหารกาย อาหารใจที่ดีกว่าย่อมจะสามารถดำรงชีวิตได้ดีกว่า

 

 

 

 

 

 


โดย : นาง ลัฐิกา ผาบไชย, โรงเรียนด่านแม่คำมัน, วันที่ 29 พฤศจิกายน 2547