การใช้อินเตอร์เน็ตของเยาวชนไทย

การใช้อินเตอร์เน็ตของเยาวชนไทย

สุธารัตน์ วงศ์พุ่ม

บทนำ

      เยาวชนเป็นทรัพยากรที่สำคัญ หากเยาวชนมีคุณภาพ หมายความว่า โอกาสที่ประเทศนั้นจะพัฒนาไปในอนาคตนั้นมีมาก จึงได้มีการส่งเสริมให้มีการพัฒนาเยาวชนในด้านต่างๆ ในเรื่องของการศึกษา ปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทด้านการเรียนการสอนเป็นอย่างมาก เทคโนโลยีสารสนเทศจะก่อให้เกิดประโยชน์ก็ต่อเมื่อมีการใช้งานที่เหมาะสมรูปแบบการควบคุมให้มีการใช้งานตามวัตถุประสงค์หรือการใช้งานที่เหมาะสม

     นอกจากเนื้อหาต่างๆ ในอินเตอร์เน็ตแล้วสิ่งที่เป็นอันตรายจากการใช้งานในอินเตอร์เน็ตสำหรับเด็กนั้น ยังมีอีกหลายด้าน เช่น ใช้ในการสนทนา ทักทายกับบุคคลอื่นทางหน้าจอคอมพิวเตอร์ที่ไม่รู้จัก จากโปรแกรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Pirch chat icq และแฝงในเว็บไซต์ต่างๆ ที่มีให้บริการกันมากมายเหลือเกิน และกำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในหมู่วัยรุ่น หรือบางครั้ง แม้แต่ผู้ใหญ่ หรือวัยทำงานก็ไม่วายที่จะเข้ามาใช้บริการกับเขาด้วย ปัจจุบันนี้มีเกมออนไลน์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกมที่ค่อนข้างรุนแรง ไม่ได้พัฒนากระบวนการคิดและความคิดริเริ่มสร้างสรรค์นัก แต่เกมต่างๆ เหล่านั้นทำให้เกิดลักษณะนิสัยก้าวร้าว การใช้ความรุนแรง ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่นนอกจากจอคอมพิวเตอร์ และธุรกิจนี้ได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้เยาวชนหมกมุ่นอยู่กับเรื่องการสนทนาผ่านอินเตอร์เน็ต ซึ่งเยาวชนได้ใช้เวลานี้ไม่ก่อประโยชน์ ใช้เวลาหมดไปวันหนึ่งเท่านั้น และยังเสียเงินค่าเช่าชั่วโมง โดยไม่ได้ความรู้อะไรเพิ่มเติมเลย เสียการเรียน เพราะหมกมุ่นอยู่กับเกม การสนทนาออนไลน์ และยังก่อให้เกิดปัญหาที่รุ่นแรง ดังมีข่าวที่เยาวชน รู้จักกันทางอินเตอร์เน็ต และนัดเจอกัน ก่อให้เกิดคดีข่มขืน และคดีอื่นอีกมากมาย ยืน ภู่วรรณ และสมชาย นำประเสริฐชัย. (2546). กล่าวถึงปัญหาอินเตอร์เน็ตกับเยาวชนไทยไว้ตอนหนี่งว่า สิ่งที่น่ากลัวมากคงเป็นเรื่องชองโรคระบาดทางอินเตอร์เน็ตที่ชื่อว่า IAD (Internet Addiction Disaster) และโรค Webaholic โรคทั้งสองโรคนี้เป็นโรคติดอินเตอร์เน็ตเหมือนกัน มักมีความต้องการในการใช้คอมพิวเตอร์ออนไลน์สูง ซึ่งโรคนี้จะมีผลร้ายทั้งในเรื่องของสุขภาพของผู้ติดเอง ทั้งในเรื่องสายตา ความสมดุลทางอารมณ์และปัญหานี้จะเป็นจุดเริ่มของการก่อตัวสำหรับปัญหาอื่นๆ ที่ตามมา เช่น ประสิทธิภาพของการเรียน และการทำงานลดต่ำลง และค่าใช้จ่ายในการใช้บริการและการเชื่อมต่อสูงมากขึ้น

     โรคติดอินเตอร์เน็ตนี้ส่วนใหญ่เป็นกับเด็กวัยรุ่นทั่วโลก ในประเทศไทยเองก็มีผู้ติดโรคนี้เป็นจำนวนไม่น้อย ส่วนใหญ่มักเป็นนิสิต นักศึกษา ที่ติดการท่องเว็บ ดาวน์โหลดโปรแกรม รูปภาพ ไฟล์ หรือพูดคุยสนทนากับผู้อื่นในอินเตอร์เน็ต โดยจะทำทุกครั้งที่มีโอกาส ไม่ว่าจะดึกเพียงใด หากคนที่ติดอินเตอร์เน็ตนี้ไม่สามารถทำได้จะเกิดอาการหงุดหงิด เป็นทุกข์ เหมือนคนติดยาแต่ไม่ได้เสพ

     นอกจากที่กล่าวมาแล้วยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่น่าเป็นห่วง คือการเข้าไปใช้บริการในเว็บไซต์ต่างๆ ที่ไม่เหมาะสม เช่นเว็บไซต์ลามกอนาจาร ที่มีอยู่จำนวนมาก โดยการเข้าไปใช้บริการเว็บนั้นๆ ง่ายดายมาก ถึงแม้ว่าในสถานที่ราชการ หรือสถานศึกษาบางแห่งจะเข้าไปสกัดกั้น ไม่ให้เข้าไปใช้บริการบนเว็บนั้นได้ แต่ก็ไม่สามารถสกัดกั้นได้ เนื่องจากยังมีสถานที่ที่ค่อยรองรับการบริการแบบเช่าชั่วโมงให้กับเยาวชน ซึ่งมีกระจายอยู่ทั่วไป ข้อมูลเว็บไซต์เหล่านั้นมีออกมาหลากหลายรูปแบบ เพื่อดึงดูดความสนใจ ไม่ว่าจะนำเสนอเป็นภาพนิ่ง วีดีโอ ภาพยนตร์ ฯลฯ จึงทำให้ธุรกิจด้านสื่อลามกมีผู้ใช้บริการมากขึ้น จากการที่เยาวชนของเราได้เข้าไปดูในเว็บไซต์ต่างๆเหล่านี้ อาจก่อให้เกิดปัญหาตามมาอย่างมากมาย เช่น ปัญหาการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร ปัญหาโรคเอดส์ ปัญหาครอบครัว ฯลฯ

     จากการปัญหาที่เกิดขึ้น ต้นเหตุปัญหาที่สำคัญไม่ได้อยู่ที่อินเตอร์เน็ต แต่ที่สำคัญอยู่ที่คนของเรา คือผู้ใช้ ไม่มีความพร้อม สำนึกรู้ที่จะใช้ชีวิตในยุคเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) ไม่มีวุฒิภาวะพอที่จะรับรู้ข้อมูลบางเรื่องที่ไม่สามารถวิเคราะห์แยกแยะได้ ไม่สามารถเร่งเห็นถึงคุณประโยชน์ และคุณโทษของเทคโนโลยีสารได้สนเทศ หากแต่ผู้ใช้มีความพร้อมมีศักยภาพพอที่จะจัดการกับตัวเองได้ ผู้ปกครองหมั่นเอาใจใส่ดูแลบุตรหลานของตนในการใช้งานอินเตอร์เน็ต โดยอาจกำหนดช่วงเวลาในการใช้งาน และหากพบว่าไม่สามารถควบคุมหรือเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของบุตรหลานได้ก็จำเป็นต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหรือจิตแพทย์เพื่อช่วยเหลือ และควรสร้างสัมพันธ์ภายในครอบครัว การมีเวลาอยู่ด้วยกัน ทำกิจกรรมร่วมกันนั้น ช่วยลดปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในสังคมได้เป็นอย่างดี

แหล่งอ้างอิง

เกมออน์ไลน์. [ ออน-ไลน์]. (2547). แหล่งที่มา : www.thaigamecenter.com

คุยสนทนา. [ออน-ไลน์]. (2547). แหล่งที่มา : www.chat.sanook.com

บทความเกี่ยวกับเพศศึกษา. [ออน-ไลน์]. (2547). แหล่งที่มา : www.geocities.com/ tokyo/harbor/2093/doctors/mental.html

พิมพันธ์ เดชะคุปต์ และคณะ. ประมวลบทความนวตกรรมเพื่อการเรียนรู้สำหรับครูยุคปฏิรูปการศึกษา เล่ม 1 . กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , 2545.


. ประมวลบทความนวตกรรมเพื่อการเรียนรู้สำหรับครูยุคปฏิรูปการศึกษา เล่ม 2 . กรุงเทพฯ :จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2545.

พีซีสยาม. [ออน-ไลน์]. (2547). แหล่งที่มา : www.pcsiam.com

ยืน ภู่วรวรรณ และสมชาย นำประเสริฐชัย. ไอซีที เพื่อการศึกษาไทย. กรุงเทพฯ : ซีเอ็ดยูเคชั่น, 2546.

Thai save sex. [ออน-ไลน์]. (2547). แหล่งที่มา : www.thaisavesex.com

Teen people. [ออน-ไลน์]. (2547). แหล่งที่มา : www.teenpeople.com

 

แนะนำผู้เขียน

ชื่อ - สกุล นางสาวสุธารัตน์ วงศ์พุ่ม

การศึกษา ค.บ. สาขา คณิตศาสตร์และวัดผลการศึกษา สถาบันราชภัฏอุตรดิตถ์

ปัจจุบัน กำลังศึกษาปริญญาโท สาขาวิจัยและการประเมินผลการศึกษา สถาบันราชภัฏอุตรดิตถ์

ประสบการณ์การทำงาน

พ.ศ. 2545 - 2545 เจ้าหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูลระดับบัณฑิตศึกษา

พ.ศ. 2545 – 2547 รับราชการครูโรงเรียนบ้านห้วยปูลิง อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่

พ.ศ. 2547 – ปัจจุบัน รับราชการครู โรงเรียนบ้านห้วยมุ่น อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์

 

คำสืบค้นหลัก

    1. สุธารัตน์
    2. เทคโนโลยีสารสนเทศ
    3. การใช้อินเตอร์เน็ต
    4. เยาวชนไทย
    5. สนทนาออนไลน์


แหล่งอ้างอิง : สุธารัตน์ วงศ์พุ่ม.โรงเรียนบ้านห้วยมุ่น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุตรดิตถ์ เขต 2.

โดย : นาย อัศวิน วงศ์พุ่ม, โรงเรียนบ้านห้วยมุ่น, วันที่ 25 มกราคม 2547