เทคโนโลยีสารสนเทศกับการปฏิรูป

เทคโนโลยีสารสนเทศกับการปฏิรูปการเรียนรู้

โดย นายรุ่งเรือง อ้อสถิตย์

เนื่องจากในสภาพปัจจุบันสังคมโลกได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว การที่จะทำให้ประเทศไทยเราจะก้าวให้ทัดเทียมกับนานาประเทศ คนในชาติต้องมีมีทุนทางปัญญาและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องมีการปฏิรูปในทุกส่วนของสังคมไทย หลังจากที่ไทยเราได้ใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ซึ่งได้กำหนดให้มีการปฏิรูปการศึกษา โดยมีพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 หมวด 4 กำหนดแนวการจัดการศึกษา ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ซึ่งเป็นการปฏิรูปการเรียนรู้ และหมวดที่ 9 กล่าวถึงเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ซึ่งทุกหมวดในพระราชบัญญัติการศึกษา มุ่งประโยชน์สูงสุดให้เกิดขึ้นกับผู้เรียน

ในขณะที่โลกก้าวเข้าสู่ยุคดิจิตอลและอิเลคทรอนิกส์ สังคมได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วผู้คนต้องการเข้าถึงแหล่งข้อมูลความรู้วิทยาการที่ก้าวหน้าและทันสมัยอยู่เสมอ คอมพิวเตอร์ได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้นในทุกด้าน ทำให้มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศ ระบบเครือข่ายและอินเตอร์เน็ตมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ในการเรียนการสอน โดยบุคคลที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการจัดศึกษาควรมีความตระหนักที่จะส่งเสริมเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการเรียนการสอนอย่างจริงจัง บุคลากรทุกฝ่ายในองค์กรควรร่วมกันวางแผนกำหนดเป้าหมายการศึกษา เลือกวิธีการที่จะนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ปฏิรูปการเรียนรู้ โดยต้องมีการเตรียมความพร้อมในทุกด้านที่เกี่ยวข้อง เช่นเตรียม บุคลากรและผู้สอนและผู้ดูแลระบบ เตรียมผู้เรียน เตรียมอุปกรณ์ในส่วนของฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์

ควรเลือกรูปแบบและวิธีการที่จะนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ให้เหมาะสมเช่นถ้าผู้เรียนอยู่ในระดับประถมต้น ซึ่งผู้เรียนยังต้องได้รับการดูแลช่วยเหลือจากผู้สอนอย่างใกล้ชิดก็ควรเลือกใช้ สื่อมัลติมีเดียที่ผู้เรียนและผู้สอน สามารถมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันได้ หรือถ้าผู้เรียนมีระดับที่สูงขึ้น ผู้เรียนมีความรับผิดชอบต่อตนเองแล้วก็ควรเลือกรูปแบบการเรียนการสอนแบบ E – learning ที่ผู้เรียนสามารถศึกษาผ่านระบบเครือข่ายที่ออนไลน์อยู่ ซึ่งจะเกิดประโยชน์ตรงที่ผู้เรียนสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลได้ตรงความต้องการ สะดวกและรวดเร็ว

การลงทุนทางด้านการศึกษา ความสำเร็จขึ้นอยู่กับองค์ความรู้และการจัดการระบบการศึกษา การวางโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันวางแผนว่าจะใช้รูปแบบใดในการดำเนินกิจกรรม โดยจะใช้อย่างเต็มรูปแบบหรือบูรณาการวิธีการต่างๆเข้าด้วยกันนั้น ก็ขึ้นอยู่กับองค์กรที่จะวางแผนและการประเมินผลการพัฒนาระบบและการประยุกต์ใช้งาน โดยคำนึงว่าสิ่งที่ดำเนินการไปนั้นเกิดประโยชน์สูงสุด คุ้มค่ากับการลงทุน ซึ่งผู้ที่ได้รับประโยชน์อย่างแท้จริงก็คือ ผู้เรียน นั่นเอง

บรรณานุกรม

รศ.ยืน  ภู่วรวรรณ,ผศ.สมชาย  นำประเสริฐชัย  ไอซีทีเพื่อการศึกษาไทย กรุงเทพฯ, 2546

แนะนำผู้เขียน

ชื่อ นายรุ่งเรือง   อ้อสถิตย์

สถานที่ทำงาน โรงเรียนบ้านปางหมิ่น  อ.ทองแสนขัน

สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุตรดิตถ์  เขต  1

 

โทรศัพท์  055-45338 : 09-1569542

 


ที่มา : รศ.ยืน ภู่วรวรรณ,ผศ.สมชาย นำประเสริฐชัย ไอซีทีเพื่อการศึกษาไทย กรุงเทพฯ, 2546

โดย : นาย รุ่งเรือง อ้อสถิตย์, รร.ปางหมิ่น อ.ทองแสนขัน จ.อุตรดิตถ์, วันที่ 21 สิงหาคม 2547