นวัตกรรมการผลิตครู 5 ปี

นวัตกรรมการผลิตครู 5 ปี

“ครูพันธุ์ใหม่” ลูก ที่เกิดจากแม่พิมพ์ “พันธุ์เก่า”

………………………………………………………………………………………………………………………………

โดย……..ผศ.เกษม สุริยวงศ์

เป็น ที่ทราบกันในสังคมคณะครุศาสตร์และคณะศึกษาศาสตร์

ของมหาวิทยาลัยราชภัฏและมหาวิทยาลัยอื่นแล้วว่า นับแต่ปี

การศึกษา 2547 เป็นต้นไป เราเริ่มดำเนินโครงการผลิตครูพันธุ์

ใหม่ หรือที่เรียกกันติดปากว่า “ครู 5 ปี” ขึ้นในคณะครุศาสตร์หรือ

คณะศึกษาศาสตร์ และคณะอื่นที่เกี่ยวข้อง ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง

ระบบการศึกษาและระบบบริหารองค์กรของมหาวิทยาลัยราชภัฏที่เพิ่ง

ก้าวย่างสู่การเป็นมหาวิทยาลัย ไปพร้อม ๆ กัน นับเป็นนวัตกรรมที่ท้าทาย

ให้ร่วมกันปฏิบัติสู่ผลสำเร็จที่คาดหวัง โดยมีองค์ประกอบแวดล้อมหลาย

ต่อหลายด้านที่ผู้เขียนขอเรียกว่า “แม่ พิมพ์ พันธุ์ เก่า” ที่ต้องมีใจรักลูกพิมพ์

ด้วยสามัคคีจิต จากแม่……ทุกแม่ในมหาวิทยาลัยของเรา

 

นโยบายการผลิตครู 5 ปีที่รับจากกระทรวงศึกษาธิการเริ่มรุ่นแรกนับแต่การจัดการสอบ ที่มีวิชาภาคทฤษฎี และวัดแววครูพร้อมกับดูบุคลิกภาพจากการสัมภาษณ์คัดเลือกจากนักเรียน ม.ปลายที่มีคะแนนไม่ต่ำกว่า 2.75 มีเกรดเฉลี่ยวิชาเอกที่เลือกเรียน 3.00 มีการกำหนดให้มีสถาบันแกนนำ ซึ่งมีอยู่ 12 แห่งทั่วประเทศแล้วกระจายภาระงานสู่สถาบันเครือข่ายร่วมผลิต 38 แห่ง ทั่วทุกภูมิภาค จัดให้อยู่หอพัก มีระบบกระจายงบประมาณมาให้ทั้งค่าดำเนินการ และทุนการศึกษาตามสัดส่วนรายหัวนักศึกษา (พลสัณห์ โพธิ์ศรีทอง,มติชน ฉ.24 กค.2547 หน้า 22)

อย่างเช่นที่คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ เริ่มมีนักศึกษาในโครงการผลิตครู 5 ปี อยู่ 45 คนซึ่งผู้เขียนขอเรียกว่า “ลูก…ศิษย์” ซึ่งแบ่งเป็น เอกปฐมวัย 5 คน เอกภาษาไทย 12 คน เอกภาษาอังกฤษ 15 คน และเอกคณิตศาสตร์ 13 คน และกระจายงบประมาณสำหรับภาคเรียนแรก หกแสนบาทเศษ เมื่อมองตลอดหลักสูตร นักศึกษากลุ่มนี้ จะต้องเรียนไม่น้อยกว่า 150 หน่วยกิต ในสถาบันอุดมศึกษาของเราและฝึกสอน 10 หน่วยกิต อีก 1 ปี รวม 5 ปี เมื่อสำเร็จหลักสูตรจะได้ใบประกอบวิชาชีพครูด้วย ซึ่งเป็นผลมาจากการที่สภาคณบดีคณะครุศาสตร์และศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย ได้เริ่มครุ่นคิดที่จะแก้ปัญหาคุณภาพครูไทยมาตั้งแต่ปี 2545

ตามที่ผู้เขียนกล่าวไว้แต่แรกว่า โครงการผลิตครู 5 ปี เริ่มเดินเครื่องเมื่อภาคเรียนที่ 1 /2547 หลักสูตรที่ใช้ สื่อการสอน อาจารย์ผู้สอน กิจกรรมการพัฒนานักศึกษาครูและบริบทแวดล้อมจึงต้องเริ่ม ค่อย ๆ เปลี่ยน จากแม่พิมพ์พันธุ์เก่าเป็นแม่พิมพ์ พันธุ์ใหม่ ด้วยบรรยากาศที่ท้าทายเช่นกัน

ทำไมต้องเรียนครู 5 ปี คำถามนี้มีที่มาจาก พรบ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา 2546 กล่าวไว้ในตัวบท มาตรา 44 ว่า ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพครู ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามหลายประการ นอกจากนั้นในมาตราดังกล่าวยัง ได้กำหนดไว้ด้วยว่า วิชาชีพครูและผู้บริหารการศึกษา เป็นวิชาชีพควบคุม ซึ่ง วิชาชีพครูที่ผู้เขียนกำลังย้ำเน้นอยู่ในบทความนี้ นอกจากต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติทางด้านอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีแล้ว ต้องมีคุณสมบัติทางวิชาการอยู่ประการหนึ่งคือ “มีวุฒิปริญญาทางการศึกษา” และมีคุณสมบัติทางทักษะภาคปฏิบัติที่ต้องผ่านการประเมินด้านการปฏิบัติการสอนในสภานศึกษาตามหลักสูตรปริญญาทางการศึกษาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า หนึ่งปีเต็ม

 

 

 

 

 

 

 

เมื่อเรียนถึง 5 ปีเต็ม ลูกศิษย์พันธุ์ใหม่ จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร

เราหวังที่จะได้ครูพันธุ์ใหม่ที่เป็นครูชั้นวิชาชีพ มีความเป็นเลิศทางวิชาการและเชี่ยวชาญ

เฉพาะด้านซึ่งก็หมายถึงเชี่ยวชาญวิชาเอกในแต่ละสาระการเรียนรู้ นอกจากนั้นยังต้องเชี่ยวชาญในวิชาชีพและสามารถบูรณาการความรู้ ทักษะ และคุณธรรม จริยธรรมแห่งวิชาชีพเพื่อนำไปใช้ในการทำงานและไปเป็นคนดี อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข และยังต้องรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงและสามารถเผชิญปัญหาหรือวิกฤติได้ด้วยปัญญาอีกด้วย อย่างที่ปรากฎในหัวข้อปรัชญาของหลักสูตรครู 5 ปี ฉบับล่าสุดว่า ต้องการให้ครูมีความสามารถด้านวิชาการที่เรียกว่า Academic Excellence (มรอ. เอกสารโครงการพัฒนาหลักสูตรครุศาสตร์ 5 ปี หน้า 2 : 2547) กล่าวโดยสรุปก็คือ นักศึกษาครูต้องรู้และมีทักษะทั้ง เรื่องของ What to teach และ How to teach

หน้าตาของครู 5 ปีดังกล่าวจะเกิดได้ จะต้องให้ครูพันธุ์ใหม่ได้เรียนรู้จากสถานการณ์จริง โดยการผสานทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ใช้กิจกรรม การทำงาน เป็นสื่อในการสร้างองค์ความรู้ มีการทำงานเป็นทีมในกระบวนการทำงาน การปลูกจิตสำนึกของความเป็นครูอย่างหนึ่งก็คือการได้รับแบบอย่างที่ดีจากผู้สอน และจากบริบทแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาครู 5 ปีดังกล่าวในอันที่จะทำให้เขาได้ในเรื่อง How to teach ส่วนในด้านเนื้อหาเฉพาะทางก็ต้องเก่งอยู่ในขั้นที่สามารถนำไปจัดการหรือยุบย่อหรือขยาย ใช้ในช่วงชั้นที่ตนไปสอนได้

ครูพันธุ์ใหม่โดยสรุปแล้ว จะต้องมีดี 2 ประการและเก่ง 2 ประการคือ

ครูพันธุ์ใหม่เป็นคนดี ครูพันธุ์ใหม่เป็นคนเก่ง

ครูพันธุ์ใหม่เป็นครูดี และครูพันธุ์ใหม่เป็นครูเก่ง

คนดี ดีในแง่การดำเนินชีวิต มีพลังและมุ่งมั่นในการพัฒนาตน พัฒนาส่วนรวม รักชุมชนและท้องถิ่น อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข

คนเก่ง เก่งในแง่ทักษะในการใช้ภาษาไทย ภาษาต่างประเทศอย่างน้อยหนึ่งภาษา เก่งในสาขาวิชา สาระที่สอน ใฝ่รู้ ใฝ่เรียนอย่างต่อเนื่อง มีทักษะในการใช้ไอที ทักษะในการคิด การแก้ปัญหาและการเผชิญสถานการณ์ และต้องรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมอีกด้วย

ครูดี ดีในทางไหน เข้าใจธรรมชาติผุ้เรียนรักเมตตาและกรุณาต่อผู้เรียน เป็นกัลยาณมิตรกับศิษย์และคนที่เกี่ยวข้อง พัฒนาผู้เรียนและสถานศึกษากับทีมงาน มีจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดี

ครูเก่ง เก่งในด้านปรัชญา ทฤษฎีการเรียนรู้ การถ่ายทอดความรู้ ทำและใช้ผลวิจัยมาช่วยในการจัดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สังคมมองครูและคาดหวังครูไว้อย่างไร

ครู : ปัจจัยชี้ขาดในระบบการศึกษา

ครู: ผู้ที่ยึดชนบทได้ทุกหมู่บ้าน

ครู ปลายประสาทสัมผัสของรัฐที่ต่อถึงประชาชนมากที่สุด

ครู เสาเข็มของชาติ

ครู คือผู้นำชุมชน สอนดี มีคุณธรรม

ครู รู้ประยุกต์ รู้ปรับเปลี่ยน รู้ความคิดรู้ความรู้ รู้ใฝ่เรียนรู้ใฝ่คิด รู้พินิจพิเคราะห์ รู้ประมวลผล รู้ระเบียบ (สุนีย์ สินธุเดชะ : มติชน ฉ.24 กค.47)

ภารกิจ ภาระงาน ที่วงการครูต้องปรับเป็นแม่พิมพ์พันธุ์ใหม่โดยเร็ว

  • ผู้บริหารอาจารย์ ประธานโปรแกรม เจ้าหน้าที่ ต้องค่อย ๆ เริ่มปรับตัวเป็นองค์กรพันธุ์ใหม่
  • ครุพี่เลี้ยง อาจารย์นิเทศก์ประจำโรงเรียน อาจารย์นิเทศก์จากมหาวิทยาลัยต้องปรับตัว
  • หลักสูตร 5 ปี สื่อ เทคโนโลยีการสอน ห้องปฏิบัติการ โรงเรียนสาธิต กิจกรรมเสริมหลักสูตร อาจารย์ที่ปรึกษา ก็ต้องเปลี่ยนแปลง
  • มีระบบการผลิตครูที่ดี และต้องไม่ลืมการพัฒนาครูที่กำลังปฏิบัติงานอยู่ในเขตพื้นที่ด้วย ซึ่งดูเหมือนไม่น่าจะเกี่ยวกับผู้ผลิตครู
  • จะต้องจัดตั้งกองทุนพัฒนาครู ระดมสรรพกำลังทั้งที่เป็นเงินและทรัพยากรอื่น ๆ ขึ้นมา ส่งเสริมยกย่องครูที่ทำดี ขึ้นมาเป็นต้นแบบเพื่อผลิตและพัฒนาอาจารย์ของคณะขึ้นมาก่อนหรือพร้อมกัน
  • การออก และ ถอน ใบประกอบวิชาชีพครู ของคุรุสภามีความชัดเจน มิใช่ออกให้อย่างเดียว ต้องถอดถอนใบประกอบวิชาชีพด้วยเมื่อขาดคุณสมบัติ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งหมายถึงนักเรียน
  • ระบบบัญชีเงินเดือน สวัสดิการ สิทธิประโยชน์ ของครู และผู้ผลิตครูต้องชัดเจนหรือยัง
  • ระบบประกันคุณภาพนักเรียนครู ประกันคุณภาพครู ประกันคุณภาพการสอนของอาจารย์ในคณะครุศาสตร์ การบริการของบุคลากรในการผลิตครู
  • ทำอย่างไรจึงจะหาทางให้ คนเก่ง คนดีเลือกเรียนครู โดยกระทำเชิงรุกเข้าไปหานักเรียนให้เขาเลือกก่อนคณะ อื่น เช่น ให้เลือกตั้งแต่ขณะเรียน ม.5
  • หลักสูตร กิจกรรมเสริมหลักสูตรจูงใจผู้เรียนหรือไม่
  • คุณภาพบัณฑิตวิชาชีพครู 4 ปีที่ยังค้างอยู่ในระบบ ถึงไม่ลดลงแต่จะเพิ่มคุณภาพ ได้อย่างไร
  • ระบบการพัฒนาครูประจำการที่สอดคล้องกับค่าตอบแทนวิชาชีพเราจะเข้าไปดูและช่วยแก้ไข ในเชิงรุกได้หรือไม่ ซึ่งดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องกับผู้ผลิตครูตามที่ได้กล่าวมาแล้วแต่ผู้เขียนเห็นว่าจำเป็น
  • ปัจจัยแวดล้อมในชีวิตประจำวันของเด็กนักเรียนประถมและมัธยม กับการพัฒนาเด็กนักเรียนเหล่านั้น
  • อาจารย์ต้องพัฒนาวิธีสอน ใช้สื่อ ใช้กิจกรรมที่เชื่อมโยงกับหลักการยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางให้เป็นตัวอย่างก่อน
  • มาตรฐานวิชาชีพครู จรรยาบรรณในวิชาชีพ การประเมินคุณภาพ การพัฒนาคุณภาพครู ระบบความก้าวหน้าในวิชาชีพครูในเขตพื้นที่ เช่นการทำผลงานทางวิชาการของครูประจำการ และรวมถึงอาจารย์ในคณะครุศาสตร์ด้วย
  • กำหนดเป็นนโยบาย และมีมาตรการ การผลิตครูแนวใหม่
  • สร้างเครือข่ายการผลิตครูกับโรงเรียนเครือข่าย เขตพื้นที่ผู้ใช้ครู ครูต้นแบบ ครูแห่งชาติ บัณฑิตกิติมศักดิ์ทางครู และสายอาชีพ โดยใช้สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อ web site ให้เกิดประโยชน์
  • พัฒนาแผนการสอนและองค์ประกอบแวดล้อมในแผนนั้นให้สามารถพัฒนานักศึกษาครูได้จริง
  • ตัดสินใจจัดกิจกรรมทางวิชาการที่พัฒนาวิชาชีพครู และวิชาชีพการบริหารการศึกษา เพราะมีความเกี่ยวเนื่องกันอย่างแยกไม่ออก
  • พัฒนาการใช้นวัตกรรมการบริหารการผลิตครู ให้เกิดผลงานที่มีคุณภาพสูงขึ้น
  • เน้นการปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างที่ดีในแง่บุคลิกภาพการปฏิบัติตัว และการบริการของเจ้าหน้าที่ที่จะเกิดผลทางวัตถุ และจิตใจทียั่งยืนถาวร
  • ผู้บริหารทุกระดับควรเป็นผู้นำที่สร้างผู้นำไปพร้อม ๆ กัน
  • สร้างโอกาสในการพัฒนา และสร้างขวัญกำลังใจได้ในทุกสถานการณ์
  • การยกย่องเชิดชูเกียรติ์นักศึกษาครู ครูในเขตพื้นที่ และอาจารย์ในคณะควรสอดคล้องกัน

สิ่งทั้งหลายทั้งมวลเป็นนวัตกรรมการผลิตครูตามที่ผู้เขียนได้ตั้งเป็นชื่อของบทความที่ผู้อ่านกำลังอ่านมาถึงตอนท้ายของบทความนี้ เป็นนวัตกรรมการศึกษา เพราะเรื่องนี้ เป็นสิ่งที่ใหม่ ยังไม่เป็นส่วนหนึ่งของระบบการผลิตครูของคณะครุศาสตร์ ซึ่งสอดคล้องกับหลักการของ ศ.ดร.ชัยยงค์ พรหมวงศ์ ที่ว่า “นวัตกรรมทางการศึกษานั้นนอกจากจะเป็นเรื่องการสอนวิธีใหม่ เทคนิควิธีการสอนที่ไม่เคยปฏิบัติมาก่อน การพัฒนาสื่อใหม่ ๆ เทคโนโลยีใหม่ ๆ แล้ว ยังรวม ถึงการออกแบบหลักสูตรใหม่ ๆ ด้วย” (อ้างจาก ชัยยง พรหมวงศ์ : www.uni.net.th / on line) และสิ่งทั้งหลายทั้งมวลนั้น กำลังค่อย ๆ ออกมาเป็นผลผลิตจากระบบย่อย ๆ ของระบบใหญ่ คือระบบการผลิตครูของคณะครุศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ซึ่งผู้เขียนเรียกว่าเป็น แม่พิมพ์พันธุ์เก่า ที่ต้องเริ่มตระหนักถึงสามัคคีจิต ให้กำเนิด ลูกศิษย์ที่เป็น ครูพันธุ์ใหม่ สู่ระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานของชาติต่อไป

…………………………………………………



แหล่งอ้างอิง : ผศ.เกษม สุริยวงศ์ ครุศาสตร์ ม.ราชภัฏอุตรดิตถ์ เพื่อประกอบการสอน นักศึกษาปริญญาโท วิจัยและประเมินผลการศึกษา 1/2547

โดย : ผศ. เกษม สุริยวงศ์, มหาวิทยาลัยราชภัฏ จ.อุตรดิตถ์, วันที่ 7 สิงหาคม 2547