โรคซาร์

SARS

โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงนี้ มีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Severe Acute Respiratory Syndrome หรืออาจเรียกกันอย่างย่อๆ ว่า โรคซาร์ (SARS) และที่เรียกขานกันในบ้านเราว่า ไข้หวัดมรณะนั่นเอง ชื่อหลังนี้ แม้จะฟังดูน่าสะพรึงกลัวมากเกินไปบ้าง แต่ก็คงมีส่วนดี ตรงที่จะช่วยกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัว ที่จะช่วยกันป้องกันไม่ให้โรคนี้ เข้ามาแพร่ระบาด จนก่อความเสียหายกับประเทศของเราได้ ซึ่งหมายความว่า เราจะสามารถทำให้ประเทศไทยปลอดภัย สำหรับชาวต่างประเทศทุกคน ที่เดินทางเข้ามาจำนวนหลายพันคน ในแต่ละวันด้วย

คำแนะนำ สำหรับผู้ที่เดินทางกลับมาจากพื้นที่ หรือประเทศที่มีโรคซาร์ระบาดอยู่ในขณะนี้ ควรจะต้องระมัดระวัง สังเกตตนเองเป็นเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ว่า มีอาการเจ็บป่วยที่อาจเข้าข่ายเป็นโรคนี้หรือไม่ อาการสำคัญ ที่เป็นสัญญานเตือนภัย ให้ต้องรีบไปพบแพทย์ก็ คือ อยู่ๆ เกิดมีไข้สูงขึ้นมาทันทีทันใด (ถ้าตรวจวัดไข้ดู จะพบไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส) และอาจมีอาการต่อไปนี้ อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่าง คือ ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว ปวดศีรษะมาก หนาวสั่น หลังจากนั้นประมาณ 3-7 วัน ก็จะเริ่มมีอาการเจ็บคอ ไอแห้งๆ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ จะมีอาการทุเลาขึ้นอย่างช้าๆ หลังจาก 7 วันไปแล้ว และหายเป็นปกติ บางรายอาจอาการป่วยรุนแรง เนื่องจากมีอาการแทรกซ้อนที่ปอด ทำให้เกิดปอดบวมอักเสบ ในระยะนี้ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการหายใจลำบาก หรือหอบด้วย ซึ่งจะพบว่าผู้ป่วยอาจมีอาการทรุดหนักลงในช่วง 10-14 วัน และอาจเสียชีวิตได้ ในช่วงวันที่ 17-18 ของการป่วย


การป้องกันโรคนี้ที่ดีที่สุด คือ การหลีกเลี่ยงไม่ไป ในประเทศที่เป็นเขตโรคระบาด (ประเทศที่มีเขตเกิดโรคนี้ 14 ประเทศ : จีน ฮ่องกง เวียดนาม อินโดนีเซีย อกสเตรเลีย สวิสเซอร์แลนด์ เยอรมัน ไอร์แลนด์ อิสราเอล อังกฤษ สโลวาเกีย ฟินแลนด์ และแคนาดา) จนกว่าจะสามารถควบคุมโรคให้สงบลงได้ และการหลีกเลี่ยง ไม่คลุกคลีใกล้ชิด กับผู้ที่มีอาการของโรค สิ่งที่ควรปฏิบัติอีกประการหนึ่ง คือ การรักษาสุขภาพ และอนามัยส่วนบุคคลให้ดีอยู่เสมอ จะช่วยให้มีภูมิต้านทานที่ดี ที่จะคอยทำหน้าที่ป้องกันโรคได้ทุกขณะ ดังนั้น จึงควรรักษาสุขภาพให้สมบูรณ์แข็งแรงด้วยวิธีการต่างๆ ได้แก่ การออกกำลังกายสม่ำเสมอ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบถ้วนในแต่ละวัน โดยเฉพาะ ผัก ผลไม้ และดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ การนอนหลับพักผ่อน ไม่หักโหมงานติดต่อกันนานเกินไป รวมทั้งการหลีกเลี่ยงเหล้า บุหรี่ และความเครียด ถ้าทำได้เช่นนี้ก็จะปลอดภัยไปกว่าครึ่งแล้ว ที่จะช่วยได้อีกสิ่งหนึ่งคือ สุขนิสัยในเรื่องการล้างมือ เรื่องนี้มีการศึกษายืนยันว่า ช่วยป้องกันการติดเชื้อได้มากมาย โดยเฉพาะโรคทางเดินหายใจ และโรคทางเดินอาหาร ส่วนผู้ที่มีอาการป่วยแล้ว ก็ควรใช้หน้ากากอนามัย หรือผ้าปิดปากปิดจมูก จะช่วยไม่ให้แพร่เชื้อ ไปยังญาติพี่น้อง และเพื่อนฝูงได้ดีอีกด้วยค่ะ



แหล่งอ้างอิง : กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

โดย : นางสาว นวลพรรณ กันภัย, โรงเรียนสงขลาเทคโนโลยี, วันที่ 13 กรกฎาคม 2547