บุหรี่กับการเกิดโรคมะเร็ง

สารพิษในควันบุหรี่มีประมาณ 4,000 ชนิด แบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ 3 กลุ่ม คือ
ทาร์หรือน้ำมันดิน
นิโคติน
ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์
สำหรับกลุ่มที่มีผลต่อโรคมะเร็งคือ ทาร์หรือน้ำมันดิน ซึ่งบางคนเรียกว่าเป็นคราบบุหรี่นั่นเอง ทาร์หรือน้ำมันดินจัดเป็นกลุ่มที่น่าสพึงกลัวที่สุด เพราะเปรียบเสมือนเป็นตัวรุกรานเงียบ ในปัจจุบันพบว่า ในควันบุหรี่จะมีสารก่อมะเร็งทั้งหมดประมาณ 42 ชนิด ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งรวมสารก่อมะเร็งมากที่สุด สำหรับสารที่เป็นส่วนประกอบของทาร์ หรือน้ำมันดิน คือพวกกลุ่มไฮโดรคาร์บอน จะมีการรวมตัวกันเป็นสารที่มีความเหนียวติดอยู่กับเนื้อปอด โดยตัวของมันเองจะมีคุณสมบัติเป็นสารก่อมะเร็ง นอกจากนี้ในควันบุหรี่ยังมีสารบางชนิดที่จะก่อให้เกิดมะเร็งได้ ถ้ารวมกับสารเคมีชนิดอื่น ๆ ในควันบุหรี่ นอกจากนี้ในควันบุหรี่ยังมีสารที่เร่งสารเจริญเติบโตของมะเร็ง หากผู้สูบบุหรี่นั้น ๆ มีมะเร็งอยู่ในร่างกายแล้ว
จากสถิติของโรคมะเร็งในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า มีจำนวนถึง 30 เปอร์เซนต์ของผู้ป่วยโรคมะเร็ง ที่มีสาเหตุสำคัญเกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ รองจากสารก่อมะเร็งที่มีอยู่ในอาหารและสารปรุงแต่งทุกชนิด
มะเร็งที่เกิดจากการสูบบุหรี่ได้แก่ มะเร็งปอด ลำคอ กล่องเสียง ช่องปาก และหลอดอาหารส่วนต้น นอกจากนี้ยังมีมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ตับอ่อนและปากมดลูกอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากสถิติการเกิดมะเร็งปอดในประเทศไทยพบว่า ภาคเหนือของประเทศไทยมีอัตราการเกิดมะเร็งสูงสุดทั้งนี้อาจเนื่องจากอัตราการสูบบุหรี่ในภาคเหนือสูงกว่าในภาคอื่น ๆ
ถ้าหากท่านยังไม่เคยสูบบุหรี่มาก่อนขอให้ตัดสินใจให้ดีนะคะ ส่วนผู้ที่สูบบุหรี่อยู่แล้ว ก็คงยังไม่สายเกินไปที่จะเลิกบุหรี่ เพราะสองสิ่งแรกที่ท่านจะได้รับทันทีจากการเลิกสูบบุหรี่คือ ตัวท่านรับสารพิษน้อยลงไป และบุญกุศลจากการที่ท่านจะไม่ทำร้ายผู้อื่นอีกต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำร้ายคนในครอบครัวของท่านเอง
 
 

ที่มา : www.bangkokhealth.com

โดย : นางสาว จุฑารัตน์ ยันตระ, สงขลาเทคโนโลยี, วันที่ 6 กรกฎาคม 2547