วารสารอิเล็กทรอนิกส์

     บทความนี้เสนอเรื่องราวเกี่ยวกับวารสารในรูปสิ่งพิมพ์  วัสดุย่อส่วน  และวารสารอิเล็กทรอนิกส์  โดยเฉพาะวารสารอิเล็กทรอนิกส์ในรูประบบเครือข่ายตลอดจนวิธีการจัดทำวารสารอิเล็กทรอนิกส์และลักษณะการให้บริการ

ความหมายของวารสารอิเล็กทรอนิกส์

     วารสารอิเล็กทรอนิกส์  หมายถึง  วารสารรูปแบบใหม่ที่มีการจัดเก็บบันทึก  และพิมพ์เผยแพร่สารนิเทศทางวิชาการไว้ในรูปแฟ้มคอมพิวเตอร์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์มีกำหนดออกแน่นอน  สม่ำเสมอ  โดยสามารถเข้าถึง  สืบค้นข้อมูล  และสั่งซื้อหรือบอกรับเป็นสมาชิกได้จากฐานข้อมูลซีดี-รอม  ฐานข้อมูลออนไลน์  และเครือข่ายคอมพิวเตอร์

รูปแบบของวารสารอิเล็กทรอนิกส์

     วารสารอิเล็กทรอนิกส์แบ่งเป็น  3  รูปแบบ  คือ

          1.  วารสารอิเล็กทรอนิกส์ในรูปของฐานข้อมูลระบบออนไลน์  (Online  Based  Electronic  Journal)  เป็นวารสารเนื้อหาฉบับเต็มที่สามารถสืบค้นข้อมูลด้วยระบบออนไลน์จากฐานข้อมูลพาณิชย์  โดยผู้ใช้สามารถเข้าถึงข้อมูลของผู้ผลิตหรือแหล่งผลิตได้ด้วยการเชื่อมตรง  (On-line)

          2.  วารสารอิเล็กทรอนิกส์ในรูปฐานข้อมูลซีดี-รอมฉบับเต็ม  (CD-ROM  Electronic)  เป็นเทคโนโลยีการจัดเก็บ  บันทึกข้อมูลในรูปดิจิตอล  จัดเป็นสื่อประเภทออปติคอล  (Optical  media)  ที่ใช้แสงเลเซอร์ในการอ่านและบันทึกข้อมูล  ซีดี-รอมเป็นสื่อบันทึกข้อมูลชนิดสื่อผสมหรือมัลติมีเดีย  (Multimedia)  ที่ใช้บันทึกข้อมูลได้ทั้งตัวอักษร  ตัวเลข  ข้อความ  ภาพ  สัญลักษณ์  และเสียง

     ปัจจุบันวารสารอิเล็กทรอนิกส์ประเภทนี้  มักจัดพิมพ์ควบคู่ไปกับวารสารที่เป็นสิ่งพิมพ์และมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว  กล่าวคือ  ในปี  ค.ศ.  1996  มีวารสารอิเล็กทรอนิกส์ในรูปซีดี-รอม  จำนวน  1,963  ชื่อ  และในปี  ค.ศ.  1998  เพิ่มขึ้นเป็น  2,903  ชื่อ  (Ulrich  International  Perildical  Directory  1998 : vii)  และผู้ผลิตวารสารอิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบนี้ก็กำลังเพิ่มผลผลิตผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตเพื่อให้สามารถส่งและเผยแพร่สารนิเทศไปยังที่ต่าง ๆ ทั้งใกล้และไกลได้อีกด้วย

          3.  วารสารอิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบเครือข่าย  (Network  Electronic  Journals)  เป็นวารสารในรูปสื่ออิเล็กทรอนิกส์ฉบับเต็มที่เผยแพร่  และให้บริการในระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต  ปัจจุบันวารสารอิเล็กทรอนิกส์ที่พบในระบบเครือข่าย  แบ่งเป็น  2  ประเภท  คือ

                3.1  วารสารที่มีการเสนอเนื้อหาในลักษณะบทความ  ข้อมูลในแต่ละฉบับจะประกอบด้วยบทความจากวารสารต่าง ๆ ซึงอาจจะมีการคัดเลือกบทความที่ตีพิมพ์เผยแพร่โดยมีคณะกรรมการพิจารณา  และสามารถบอกรับเป็นสมาชิกวารสารได้เช่นเดียวกับวารสารทางวิชาการที่พิมพ์เผยแพร่ในรูปสิ่งพิมพ์  เช่น  วารสาร  Interpersonal  Computing  and  Technology  (IPCT)  ซึ่งเป็นวารสารที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศ  จัดพิมพ์เผยแพร่โดย  Center  for  Teaching  and  Technology  ประเทศสหรัฐอเมริกา

                 3.2  วารสารที่มีการเสนอเนื้อหาในลักษณะจดหมายข่าว  เป็นวารสารอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถบอกรับเป็นสมาชิกโดยกลุ่มผู้ใช้บริการข่าวสาร  (Listserv)  ซึ่งจะให้ข่าวสารข้อมูล  และมีการแลกเปลี่ยนความรู้  ความคิดเห็นซึ่งกันและกันในลักษณะไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์  และการประชุมทางไกลด้วยคอมพิวเตอร์

     ปัจจุบันจำนวนวารสารอิเล็กทรอนิกส์ที่เผยแพร่ในระบบเครือข่ายทางวิชาการ  มีเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก  โดยเฉพาะเครือข่ายอินเทอร์เน็ต  ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมความรู้ข้อมูล  ที่ครอบคลุมสารสนเทศสาขาต่าง ๆ มากมาย  ผู้ใช้สามารถเข้าถึงข้อมูลด้วยการสืบค้นผ่านระบบ  OPAC  ของห้องสมุด  หรือแหล่งบริการสารสนเทศต่าง ๆ ซึ่งผู้ใช้อาจใช้บริการอินเทอร์เน็ต  บริการไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์  และเวิล์ด  ไวด์  เว็บ  ตลอดจนบริการจดหมายข่าวที่ให้บริการจากศูนย์จดหมายข่าว  เช่น  ListServ,Usenet  และ  Bitnet  เป็นต้น  โดยผู้สนใจสามารถโอนย้ายข้อมูล  (Download)  เหล่านั้นจากสำนักพิมพ์  ผู้ผลิต  หรือจากระบบเครือข่ายได้โดยตรง  นอกจากนั้น  ห้องสมุดก็สามารถทำดรรชนีวารสาร  หรือรวบรวมรายชื่อวารสารอิเล็กทรอนิกส์  หรือเว็บไซด์  (Website)  ต่าง ๆ เพื่อให้บริการผู้ใช้ต่อไป

วิธีการจัดทำวารสารอิเล็กทรอนิกส์

     วารสารอิเล็กทรอนิกส์เป็นสื่อในรูปดิจิตอล  บทความวารสารจะจัดเก็บเป็นแฟ้ม  ข้อมูลคอมพิวเตอร์ในรูปแบบต่าง ๆ และมีกลไกการจัดส่งวารสารหลายรูปแบบ  สำหรับการจัดทำวารสารอิเล็กทรอนิกส์ในปัจจุบัน  มี  3  วิธี  คือ

     1.  วารสารอิเล็กทรอนิกส์โดยวิธีสแกน  (Scanned  Journals)  เป็นวารสารอิเล็กทรอนิกส์ที่ผลิตขึ้นจากการใช้เครื่องสแกนเนอร์  สแกนบทความจากวารสารที่เป็นสิ่งพิมพ์แล้วจัดเก็บเป็นข้อมูลไว้ในลักษณะแฟ้มรูปภาพ  (Image  file)  ซึ่งสามารถสืบค้นได้จากแฟ้มรูปภาพในลักษณะแฟ้ม  PDF  และ  TIFF  เป็นต้น  ระบบการจัดการภาพในลักษณะนี้เรียกว่า  Document  Inaging  System  โดยระบบจะสแกนภาพเป็นแบบบิตแมปและใช้ซอฟต์แวร์  OCR  (Optical  Character  Recognition)  แปลงข้อความที่สแกนให้อยู่ในรูปที่คอมพิวเตอร์สามารถอ่านได้  และป้อนคำสำคัญสำหรับเอกสารแต่ละฉบับลงไปโดยการทำดรรชนีลงไปในภาพ  เพื่อให้สามารถเรียกค้นคืนได้ในภายหลัง  ตัวอย่างวารสารอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้วิธีการสแกนนี้  ได้แก่  วารสาร  J-Stor  ของ  Mellon  Foundation  วารสารนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และเศรษฐศาสตร์  ผู้สนใจสามารถสืบค้นได้จาก  URL  http://www.jstor.org

     2.  วารสารอิเล็กทรอนิกส์ที่ผลิตจากกระบวนการพิมพ์  (Electronic  Journals  from  Print  Production)  เป็นการผลิตวารสารที่มีลักษณะคล้ายกับกระบวนการจัดพิมพ์วารสารที่เป็นสิ่งพิมพ์ทั่วไป  โดยในระหว่างการพิมพ์บทความนั้นก็จะมีการแก้ไข  และส่งข้อมูลไปให้พนักงานจัดพิมพ์ซึ่งจะผนวกเอาตัวอักษรและรูปภาพของบทความเข้าไว้ในแฟ้มที่เรียกว่า  PostScript  file  ให้เป็น  PDF  และใช้โปรแกรม  Adobe  Acrobat  ในการอ่านแฟ้มข้อมูล  PDF  ดังกล่าว  วารสารที่ได้จากการจัดพิมพ์ลักษณะนี้  เช่น  วารสารที่ผลิตโดยสำนักพิมพ์  Academic  Press's  Electronic  Publishing  ;  UMI  ;  EBSCO  และ  IAC  เป็นต้น  หรือดูรายละเอียดได้ที่  URL  http://www.idealibrary.com

     3.  วารสารในรูปวารสารอิเล็กทรอนิกส์  (Electronic  Journal  Formats)  เป็นวารสารอิเล็กทรอนิกส์ในรูปดิจิตอล  และให้บริการบนระบบเครือข่ายอิเทอร์เน็ตเท่านั้น  โดยสำนักพิมพ์จะมุ่งให้บริการเชิงพาณิชย์เป็นหลัก  เพื่อให้วารสารเหล่านี้เป็นทรัพยากรสารนิเทศส่วนหนึ่ง  หรือเป็นบรรณานุกรมของห้องสมุด  และให้บริการหน้าสารบัญวารสารในรูปดิจิตอลด้วย  การจัดทำวารสารนี้  สำนักพิมพ์จะสร้างเว็บไซด์ของตนเองด้วยภาษา  HTML  (Hypertext  Markup  Language)  ซึ่งเป็นภาษามาตรฐานของระบบ  ASCII  ที่สามารถอ่านได้บนเวิล์ด  ไวด์  เว็บ  สำนักพิมพ์ที่จัดทำวารสารลักษณะนี้  เช่น  Elsevier  ;  academic  Press  ;  Time-Warner  ฯลฯ  ปัจจุบันสำนักพิมพ์ต่าง ๆ ให้ความสนใจการจัดเก็บและเผยแพร่บทความในลักษณะแฟ้มข้อมูล  PDF  และ  SGML  มากเป็นพิเศษ

ลักษณะการให้บริการวารสารอิเล็กทรอนิกส์

     วารสารอิเล็กทรอนิกส์ที่เผยแพร่ในปัจจุบัน  จะมีการให้บริการในลักษณะที่เรียกว่า  CAS-IAS  คือ  เป็นการนำบริการ  2  ประเภทมารวมกัน  ได้แก่

     1.  บริการข่าวสารทันสมัย  (Current  Alerting  Service-CAS)  ที่เสนอข้อมูลรายการบทความหรือสารบัญวารสารให้ผู้สนใจสืบค้นตลอดเวลาตามความสนใจ

     2.  บริการจัดส่งบทความให้ผู้ใช้เป็นรายบุคคลตามการสั่งซื้อ  (Individual  Article  Supply-IAS) 

     ธุรกิจการให้บริการวารสารอิเล็กทรอนิกส์ลักษณะข้างต้น  มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว  สำนักพิมพ์ต่าง ๆ ตลอดจนตัวแทบบอกรับวารสาร  ได้หันมาลงทุนและให้บริการจัดส่งเอกสารด้วยวิธีการดังกล่าวเป็นจำนวนมาก

     จากปัญหาที่ห้องสมุดประสบในเรื่องงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด  และความไม่แน่นอนในการจัดสรรงบประมาณในการจัดหา  โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งพิมพ์ประเภทวารสารซึ่งมีราคาเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว  ประกอบกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และการสื่อสารนั้น  น่าจะเป็นส่งที่ห้องสมุดโดยเฉพาะห้องสมุดมหาวิทยาลัยควรหันกลับมาพิจารณา  และคำนึงถึงแนวทางการจัดหาวารสารที่มีอยู่ในรูปแบบต่าง ๆ มากขึ้น  ไม่ว่าจะเป็นวารสารที่เป็นสิ่งพิมพ์  วารสารในรูปวัสดุย่อส่วน  และวารสารอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นสื่อใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมในยุคเทคโนโลยีสารนิเทศนี้  ทั้งนี้  เพื่อให้ห้องสมุดสามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใชที่ต้องการสารนิเทศในรูปแบบต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว  ถูกต้อง  และสมบูรณ์มากที่สุด


ที่มา : สมร ตาระพันธ์.บรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์ มข.18,2(พฤษภาคม 2543) : 20-30.

โดย : นางสาว วัลลภา อุทยาน, สถาบันราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์, วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2547