สิ่งแวดล้อม
การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมแนวความคิดอย่างไร


[ ขยายดูภาพใหญ่ ]

การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีแนวความคิดหลักในการดำเนินงาน ดังนี้คือ
๑. มุ่งหวังให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ประกอบกันอยู่ในระบบธรรมชาติ มีศักยภาพที่สามารถให้ผลิตผลได้อย่างยั่งยืนถาวรและมั่นคง คือ มุ่งหวังให้เกิดความเพิ่มพูนภายในระบบที่จะนำมาใช้ได้ โดยไม่มีผลกระทบกระเทือนต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนั้น ๆ
๒. ต้องมีการจัดองค์ประกอบภายในระบบธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อมหรือระบบนิเวศให้มี ชนิด ปริมาณ และสัดส่วนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแต่ละชนิดเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานตามธรรมชาติ เพื่อให้อยู่ในภาวะสมดุลของธรรมชาติ
๓. ต้องยึดหลักการของอนุรักษ์วิทยาเป็นพื้นฐาน โดยจะต้องมีการรักษา สงวน ปรับปรุง ซ่อมแซม และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ ในทุกสภาพทั้งในสภาพที่ดีตามธรรมชาติ ในสภาพที่กำลังมีการใช้และในสภาพที่ทรุดโทรมร่อยหรอ
๔. กำหนดแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนในการควบคุมและกำจัดของเสียมิให้เกิดขึ้นภายในระบบธรรมชาติ รวมไปถึงการนำของเสียนั้น ๆ กลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างต่อเนื่อง
๕. ต้องกำหนดแนวทางในการจัดการเพื่อให้คุณภาพชีวิตของมนุษย์ดีขึ้น โดยพิจารณาถึงความเหมาะสมในแต่ละสถานที่และแต่ละสถานการณ์

การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมแนวทางการจัดการอย่างไร


[ ขยายดูภาพใหญ่ ]

จากแนวคิดดังกล่าว เนื่องจากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนั้น มีหลายชนิดและแต่ละชนิดก็มีคุณสมบัติและเอกลักษณ์ที่เฉพาะตัว ดังนั้น เพื่อให้การจัดการสามารถบรรลุเป้าหมายของแนวคิด จึงควรกำหนดหลักการจัดการหรือแนวทางการจัดการให้สอดคล้องกับชนิด คุณสมบัติ และเอกลักษณ์เฉพาะอย่างของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนั้น ๆ ดังนี้
ทรัพยากรหมุนเวียน หรือทรัพยากรที่ใช้ไม่หมดสิ้น เป็นทรัพยากรที่มีอยู่ในธรรมชาติอย่างมากมาย อาทิเช่น แสงอาทิตย์ อากาศ และน้ำในวัฏจักร ทรัพยากรประเภทนี้มีความจำเป็นต่อร่างกายมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอย่างอื่น ถ้าขาดแคลนหรือมีสิ่งเจือปน ทั้งที่เป็นพิษและไม่เป็นพิษ ก็จะมีผลต่อการเจริญเติบโตและศักยภาพในการผลิตของทรัพยากรธรรมชาติ นั้น
การจัดการจะต้องควบคุมการกระทำทีจะมีผลเสียหรือเกิดสิ่งเจือปนต่อทรัพยากรธรรมชาติ ต้องควบคุมและป้องกันมิให้เกิดปัญหามลพิษจากขบวนการผลิตทั้งการเกษตร อุตสาหกรรม ที่จะมีผลต่อทรัพยากรประเภทนี้ รวมทั้งการให้การศึกษาแก่ประชาชน ทั้งผลดี-ผลเสียของการปนเปื้อน วิธีการควบคุมและป้องกัน รวมทั้งต้องมีกฎหมายควบคุมการกระทำที่จะมีผลต่อทรัพยากรธรรมชาติประเภทนี้ด้วย
ทรัพยากรทดแทนได้ เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วสามารถฟื้นคืนสภาพได้ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งได้แก่ ป่าไม้ มนุษย์ สัตว์ป่า พืช ดิน และน้ำ ทรัพยากรประเภทนี้มักจะมีมากและจำเป็นอย่างยิ่งต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ มนุษย์ต้องการใช้ทรัพยากรนี้ ตลอดเวลาเพื่อปัจจัยสี่ การเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติชนิดนี้ หรือการนำมาใช้ประโยชน์ควรนำมาใช้เฉพาะส่วนที่เพิ่มพูนเท่านั้น หรืออีกนัยหนึ่งแนวคิดนี้ถือว่าฐานของทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่เปรียบเสมือนต้นทุนที่จะได้รับผลกำไรหรือดอกเบี้ยรายปี โดยส่วนกำไรหรือดอกเบี้ยนี้ก็คือ ส่วนที่เราสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้นั่นเอง
การจัดการจะต้องจัดให้ระบบธรรมชาติมีองค์ประกอบภายในที่มีชนิด และประมาณที่ได้สัดส่วนกัน การใช้ต้องใช้เฉพาะส่วนที่เพิ่มพูนและต้องควบคมและป้องกันให้สต๊อกหรือฐานของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนั้น ๆ มีศักยภาพ หรือความสามารถในการให้ผลิตผลหรือส่วนเพิ่มพูนได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งในการใช้หรือการผลิตของทรัพยากรธรรมชาตินั้นจะต้องใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมและยึดหลักทางการอนุรักษ์วิทยาด้วย
ทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วจะหมดไป ไม่สามารถเกิดขึ้นมาทดแทนได้ หรือถ้าจะเกิดขึ้นมาทดแทนได้ก็ต้องใช้เวลานานมาก และมักเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ และสินแร่
การจัดการทรัพยากรประเภทนี้ จะต้องเน้นการประหยัดและพยายามไม่ให้เกิดการสูญเสียต้องใช้ตามความจำเป็นหรือถ้าสามารถใช้วัสดุอื่นแทนได้ก็ควรนำมาใช้แทน รวมทั้งต้องนำส่วนที่เสียแล้วกลับมาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่าต่อไป


แหล่งอ้างอิง : http://kanchanapisek.or.th/kp6/BOOK19/chapter1/t19-1-l1.htm#sect1

โดย : เด็กหญิง ศิรินภา รวยสูงเนิน, โรงเรียนสูงเนิน, วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2547