สัตว์ทะเล
สัตว์ทะเล


พะยูน

ลักษณะทั่วไป
พะยูน เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดหนึ่งที่อาศัยอยู่ในทะเล อยู่ในอันดับไซรีเนีย (Sirenia) วงศ์ดูกองจิดี้ (Dugongidae) และในวงศ์นี้มีเพียง 1 สกุล คือ สกุลดูกอง (Dugong) และสกุลนี้มีอยู่เพียงชนิดเดียวเท่านั้น คือ พะยูน (Dugong dugon)

รูปร่างสัณฐานโดยรวมของลำตัวพะยูนนั้นเป็นทรงกระสวย ค่อนข้างอ้วน หรือป่องตรงกลาง แต่ป้อมสั้นไม่เพรียวเหมือนปลาโลมา เนื่องจากส่วนหัวเล็กและสั้น ช่วงอกและท้องขยายกว้าง โคนหางคอดเรียวเล็กลง พะยูนมีช่วงคอที่สามารถขยับได้ทุกทิศทาง ผิดกับปลาวาฬและแมวน้ำ แม้ว่าจะมองดูเหมือนกับไม่มีคอก็ตาม ครีบอกที่มีรูปร่างคล้ายใบพาย และเช่นเดียวกันสามารถเคลื่อนไหวได้รอบทิศทาง เหมือนกับแขนหรือขาหน้าของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบนบกชนิดอื่นๆ ส่วนแพนหางที่แผ่แบนใหญ่ในแนวราบปลายมนโค้งมีรอยบุ๋มเว้าเข้ามาตรงกลาง ทำให้ดูเหมือนว่าหางไม่มีกระดูกเช่นเดียวกับปลาวาฬ

ผิวหนังของพะยูนหนามาก และมีขนเป็นเส้นหยาบแข็งกระจัดกระจายอยู่ประปรายเช่นเดียวกับหนังช้าง แต่ผิวสีไม่เข้มนัก มักมีสีอ่อนเป็นสีเทาอมชมพูจนถึงสีน้ำตาล บนหัวอันค่อนข้างกลมเล็กของพะยูนมีรูจมูกอยู่ตอนหน้าเปิดขึ้นด้านบน จำนวน 1 คู่ มีลักษณะพิเศษ คือ มีแผ่นหนังที่ใช้ปิดรูจมูกเพื่อกันน้ำเข้าขณะที่ดำลงใต้น้ำ และเปิดออกเพื่อหายใจบนผิวน้ำ ทั้งนี้เพราะพะยูนหายใจด้วยปอด

ตาของพะยูนมีขนาดเล็กและกลม อยู่ด้านข้างของหัว ไม่มีหนังตาและขนตา การมองเห็นของพะยูนจัดว่าไม่ดีนัก แต่มีอวัยวะทดแทน คือ รูหู ซึ่งมีขนาดเล็ก ไม่มีใบหู อยู่ถัดจากตาไปด้านหลัง สามารถรับเสียงที่ผ่าน มาจากในน้ำได้อย่างดีมาก

ในช่องปาก กรามบนและกรามล่างมีฟันกรามรูปทรงกระบอกด้านละ 5-6 ซี่ ซึ่งฟันเหล่านี้ปราศจากเคลือบฟัน พะยูนเพศผู้จะมีฟันหน้าบนคู่แรก ซึ่งเป็นฟันที่ใช้ในการกัดและตัดที่งอกยาวออกมามากกว่าพะยูนเพศเมีย โดยยื่นออกมาประมาณ 6-7 เซนติเมตร ทำให้ดูคล้ายเขี้ยว อันอาจเปรียบได้กับคู่งาของช้างพลายทั้งนี้เพราะพะยูนและช้างต่างมีต้นตอการวิวัฒนาการมาจากสายบรรพบุรุษเดียวกัน และเชื่อกันว่าเขี้ยวคู่นี้มีเอาไว้ให้พะยูนเพศผู้ใช้เกาะยึดหลังพะยูนเพศเมียขณะผสมพันธุ์ ป้องกันการลื่น ขนาดของพะยูนมีความยาวตั้งแต่ 1-4 เมตร และน้ำหนักราว 200-900 กิโลกรัม ลูกพะยูนเกิดใหม่คาดว่ามีความยาว 1 เมตร และมีน้ำหนักอยู่ระหว่าง 60-100 กิโลกรัม


ถิ่นกำเนิดและอาศัย
พะยูนมีการกระจายอยู่ตามชายฝั่งทะเลที่เป็นเขตร้อนและเขตอบอุ่นของโลก ได้แก่ มหาสมุทรอินเดียตั้งแต่แอฟริกาตะวันออก ทะเลแดง อินเดีย ศรีลังกา ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปฟินส์ ลงมาถึงมหาสมุทร แปซิฟิกตอนใต้ เช่น นิวกีนี ออกเตรเลียตอนเหนือ หมู่เกาะโซโลมอน หมู่เกาะมาร์แชล และบริเวณตอนเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิกที่เคยมีรายงานว่าพบพะยูน คือ หมู่เกาะริวกิวรวมถึงชายฝั่งตะวันออกของประเทศจีน ซึ่งปรากฎว่าพะยูนเข้าไปปรากฎตัวอาศัยตามแม่น้ำสายต่างๆ ที่ต่อเนื่องกับทะเลเปิด
พะยูนชอบอาศัยอยู่ในบริเวณชายฝั่งทะเลที่มีระดับน้ำค่อนข้างตื้นประมาณ 1-12 เมตร โดยเข้าหากินตามแนวหญ้าทะเลที่มีความลึกประมาณ 1-3 เมตร และหลบหลีกศัตรูลงไปที่ความลึกราว 2-7 เมตร อุณหภูมิเฉลี่ยของน้ำทะเลที่พะยูนชอบประมาณ 18-19 องศาเซลเซียส แต่แม้ว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของน้ำทะเลในเขตร้อนโดยทั่วไปจะประมาณ 25-30 องศาเซลเซียส ก็ตาม พะยูนยังคงอาศัยอยู่ได้ พะยูนเลือกที่อยู่บริเวณชายฝั่งที่มีน้ำทะเลขุ่นและค่อนข้างสงบปราศจากคลื่นลมรุนแรง ทั้งนี้เพราะเป็นการง่ายต่อการทรงตัวในน้ำขณะกินหญ้าทะเล


อาหาร
พะยูน เป็นสัตว์กินพืชโดยกินหญ้าทะเลเป็นอาหารหลักจากการศึกษาพบว่าพะยูนในประเทศไทยชอบกินหญ้าทะเล 3 ชนิด คือ หญ้าทะเลใบกลม (Halophila ovalis) หญ้าเต่า (Thalassia hemprichii) หญ้าชะเงาใบสีน้ำตาล (Cymodocea rotundata) แต่มีรายงานว่า ในมหาสมุทรแปซิฟิกบางแห่งพบว่า พะยูนกินหอยขนาดเล็กบ้างแต่ไม่มากนักและไม่ใช่อาหารหลัก เข้าใจว่าคงปะปนไปกับหญ้าทะเลที่กำลังถูกดุนกัดกินอยู่ตามพื้นทะเลนั่นเอง

พะยูนดำน้ำลงกินหญ้าทะเล และจะโผล่ขึ้นมาหายใจทุก 1-3 นาที โดยใช้เวลาหายใจบนผิวน้ำสั้นมากเพียง 2-3 วินาทีต่อครั้ง พะยูนออกหากินทั้งกลางวันและกลางคืน โดยใช้เวลาหากินวันละ 15-20 ชั่วโมง เพื่อให้ได้ปริมาณอาหารประมาณ 25-30 กิโลกรัมต่อวัน การกินหญ้าทะเลของพะยูนกระทำโดยการใช้ริมฝีปากที่หนาและแข็งแรงดุนกินลำต้นหรือหัวของหญ้าทะเล ซึ่งฝังอยู่ใต้พื้นทรายเช่นเดียวกับการขุดหรือดุนหาอาหารของหมู จึงทำให้พะยูนมีชื่อไทยอีกชื่อหนึ่งว่า "หมูน้ำ" และด้วยพฤติกรรมการกินหญ้าเหมือนวัว จึงมีชื่อภาษาอังกฤษว่า "Sea cow"


การสืบพันธุ์
พะยูนไม่มีฤดูกาลสืบพันธุ์ที่แน่นอน วัยเจริญพันธุ์หรือความพร้อมเพื่อสืบพันธุ์อยู่ในราว 8-18 ปี เมื่อพะยูนทั้งเพศผู้และเพศเมียผสมพันธุ์กันแล้วจะใช้เวลาทั้งท้อง 11 เดือน (บางรายงาน 13-15 เดือน) โดยปกติแล้ว แม่พะยูนให้กำเนิดลูกครั้งละ 1 ตัว แต่ก็มีบางครั้งที่ออกเป็นลูกแฝด ลูกพะยูนจะอยู่กับแม่เพื่อกินนมเป็นเวลา 2 ปีจึงหย่านม ซึ่งตลอดระยะเวลาพะยูนตัวที่เป็นพ่อจะยังคงช่วยเลี้ยงลูกด้วย แต่ก็มีรายงานส่วนหนึ่งกล่าวว่า พะยูนเพศผู้มักไม่ช่วยเลี้ยงลูกเพียงแต่ทำหน้าที่ผสมพันธุ์แล้วก็แยกย้ายกันไป

พะยูนเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมหรือออกลูกเป็นตัว จึงมีระบบรกเพื่อช่วยส่งเลือดไปเลี้ยงตัวอ่อนในมดลูก แต่เนื่องจากความที่ต้องอาศัยอยู่ในน้ำ ทำให้มีวิวัฒนาการของรกเป็นแบบไม่หลุดออก (Nondeciduous placental) เพื่อป้องกันมิให้เสียเลือดออกไปมากขณะคลอดลูกในน้ำ อีกทั้งการแข็งตัวของเลือดเป็นไปอย่าง
รวดเร็วมากเพื่อช่วยป้องกันการเสียเลือดอีกทางหนึ่ง ลูกอ่อนที่ออกมาจะเกาะดูดนมจากเต้านมของแม่ ตรงตำแหน่งหน้าอกใต้ครีบอกทั้งสองข้าง โดยแม่พะยูนอาจว่ายน้ำเอียงตัวให้ก่อนพร้อมทั้งใช้ครีบอกช่วยพยุงประคองลูกอ่อนไว้ จนเมื่อลูกแข็งแรงสามารถดูดนมได้เองจากด้านล่างขณะว่ายน้ำ ตลอดช่วงอายุของพะยูนเพศเมียซึ่งยืนยาวกว่า 50-55 ปีนั้น สามารถให้ลูกได้เพียง 5-6 ตัว และนี่คงเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พะยูนใกล้สูญพันธุ์ง่ายขึ้น


พฤติกรรมอื่น ๆ

พะยูนสามารถซ่อนเร้นแฝงตัวในแนวหญ้าทะเลได้ด้วย การลอยตัวสงบนิ่ง โผล่เพียงรูจมูกทั้งคู่ที่อยู่ในตำแหน่งด้านบนขึ้นมาหายใจเหนือผิวน้ำ โดยมิต้องโผล่ขึ้นมาหายใจทั้งหัวหรือทั้งตัวเลย อีกทั้งผิวสีเทาที่กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมทำให้ศัตรูมิอาจเห็นพะยูนได้ชัดเจนนัก ลูกพะยูนมักว่ายน้ำเกาะหลบอยู่บนหลังแม่เมื่อมีภัยมา ทั้งนี้เพราะภัยส่วนใหญ่มาจากทางด้านล่าง เช่น การโจมตีของฉลาม


ที่มา : การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล.ฝ่ายนันทนาการและสื่อความหมาย ส่วนอุทยานแห่งชาติทางทะเล.2538.





แหล่งอ้างอิง : www.google.com.th

โดย : เด็กหญิง ปรารถนา ผาสุข, โรงเรียนสูงเนิน, วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2547