animal
การจำแนกสัตว์ออกเป็นชนิดต่างๆ โดยยึดหลักของความละม้ายคล้ายคลึงกัน หรือความแตกต่างกันเป็นสำคัญนั้น ในทางชีววิทยาได้จัดไว้ในวิชาอนุกรมวิธานสัตว์ มนุษย์เรามีความสามารถในการจำแนกสัตว์ต่างๆ ออกเป็นชนิดๆ นานมาแล้ว แม้ว่าคนป่าบางหมู่ หรือผู้ที่มิได้ศึกษาวิชาชีววิทยามาโดยเฉพาะ ก็อาจจำแนกสัตว์ที่เขาคุ้นเคยออกเป็นชนิดต่างๆ ได้อย่างถูกต้องเป็นส่วนใหญ่
เราอาจจะแบ่งสมัยของการจำแนกสัตว์ออกได้เป็น ๓ สมัย สมัยแรก ได้แก่สมัยที่ศึกษาเกี่ยวกับสัตว์ที่มีอยู่เฉพาะท้องถิ่นหนึ่งๆ สมัยที่สอง ได้แก่สมัยที่นักวิทยาศาสตร์ได้รับเอาทฤษฎีวิวัฒนาการเข้ามาใช้ และสมัยที่สามได้แก่ สมัยที่นำเอาการศึกษาถึงประชากรของสิ่งมีชีวิตเข้ามาใช้ในทางอนุกรมวิธานสัตว์
ผู้ที่ศึกษาอนุกรมวิธานสัตว์ จะต้องเข้าใจความหมายของคำว่า "ชนิด" ให้ชัดเจนเสียก่อน คำว่า "ชนิด" นี้โดยทฤษฎีแล้วในวิชาอนุกรมวิธานจัดว่าเป็นหน่วยเล็กที่สุด และหมายถึงกลุ่มประชากรของสิ่งมีชีวิตชนิดใดชนิดหนึ่งในธรรมชาติที่สามารถจะสืบพันธุ์ในกลุ่มเดียวกันได้โดยอิสระ มีลูกหลานออกมาในสภาพที่ไม่เป็นหมัน
ตามหลักของอนุกรมวิธานนั้น นักอนุกรมวิธานจะจัดสิ่งมีชีวิตที่มีลักษณะโครงสร้างพื้นฐานคล้ายกันรวมกันเข้าเป็น "สกุล" หลายๆ สกุลรวมกันเข้าเป็น "วงศ์" หลายๆ วงศ์รวมกันเข้าเป็น "อันดับ" หลายๆ อันดับรวมเป็น "ชั้น" และหลาย ๆ ชั้นรวมกันเป็น "ไฟลัม" และในที่สุดหลายๆ ไฟลัมก็รวมกันเป็น "อาณาจักร" ซึ่งนับว่าเป็นลำดับสุดยอดของการจัดอนุกรมวิธานของสิ่งมีชีวิต
ปัจจุบันนี้ผู้เชี่ยวชาญได้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ให้แก่สัตว์เกือบทุกชนิดที่ค้นพบ แบบการตั้งชื่อนิยมกันแพร่หลายได้แก่ แบบที่คาโรลัส ลินเนียส เป็นผู้ที่คิดขึ้นเป็นคนแรก โดยนำเอาชื่อสกุลและชื่อชนิดมารวมกันเป็นชื่อวิทยาศาสตร์สำหรับสัตว์ชนิดหนึ่งๆ วิธีนี้เรียกว่าการตั้งชื่อโดยใช้ "ระบบไบโนมินัล" สัตว์บางอย่างชื่ออาจจะสั้นหรือยาวกว่าที่กล่าวมาแล้วนี้ก็ได้ เช่น ชื่อของฟอสซิลบางชนิด นิยมใช้ชื่อสกุลเพียงอย่างเดียวก็เพียงพอ การตั้งชื่อแบบนี้เรียกว่า "ระบบยูนิโนมินัล" แต่ในสัตว์บางชนิดผู้ตั้งได้นำเอาสกุล ชนิด และชนิดย่อยเข้ามารวมกันเป็นชื่อ วิธีนี้เราเรียกว่าตั้งขึ้นโดยใช้ "ระบบไทรโนมินัล"
การตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ให้แก่สัตว์ใดๆ จะต้องกระทำตามหลักสากลนิยม คือ ชื่อที่ตั้งต้องเป็นภาษาละติน แต่ถ้าเป็นภาษาอื่นก็ต้องทำให้เป็นภาษาละตินเสียก่อน จึงจะนำมาใช้ในการตั้งชื่อได้

ที่มา : www.school.net.th/kanchanapisek.or.th/kp6/book2/chapter1/t2-1-m.thm

โดย : เด็กหญิง sirinapa ruaysungnoen, sungnoenschool, วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2547