นิทานพื้นบ้าน
           ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว  มีเศรษฐีคนหนึ่ง  มีเงินทองมากมาย  เศรษฐีมีลูกชายคนหนึ่งเป็นคนไม่รักดี  ได้แต่ใช้จ่ายทรัพย์เที่ยวกิน เล่น เลี้ยงเพื่อนฝูง ไม่นึกทำมาหากิน ไม่รักษาทรัพย์ของพ่อแม่  พ่อแม่จะว่ากล่าวตักเตือนอย่างไรก็ไม่เชื่อฟัง  จนพ่อแม่หมดปัญญาที่จะชักจูงไปในทางที่ดี
           ในที่สุดเศรษฐีก็ตรอมใจตาย  แต่ก่อนตายได้เอาเงินกับทองใส่ตุ่มอย่างละตุ่มฝังไว้  แล้วได้เกิดเป็นเทวดาคอยเฝ้าดูแลความเป็นอยู่ของลูกด้วยความห่วงใย
          ฝ่ายลูกเศรษฐีเมื่อพ่อแม่ตายแล้วก็ยิ่งกำเริบ  เพราะไม่มีผู้คอยว่ากล่าวตักเตือน  ใช้เงินเลี้ยงเพื่อน  เที่ยวเตร่เสเพล  ในไม่ช้าไม่นานก็สิ้นเนื้อประดาตัว  เพื่อนฝูงที่เคยล้อมหน้าล้อมหลังก็หายหน้าไปทีละน้อย ๆ 

          อยู่มาวันหนึ่งเพื่อนชวนไปกินเลี้ยงกันตามเคย  โดยสั่งลูกเศรษฐีตกยากว่า  เวลาไปให้เอาไก่ไปร่วมในการกินเลี้ยงคราวนี้ด้วยตัวหนึ่ง  ลูกเศรษฐีเวลานั้นก็ขาดแคลนเต็มที  แต่ก็ยังขวนขวายหาไก่ไปได้ตัวหนึ่ง  ลวกน้ำร้อนถอนขนแล้วผูกห่อใบตองจะเอาไปร่วมในการกินเลี้ยงกันนั้น  ครั้นเดินมาตามทาง เหนื่อยเข้าก็ลงนอนพัก  เอาห่อไก่วางไว้ข้าง ๆ ตัว  พอม่อยหลับก็มีเหยี่ยวตัวหนึ่งมาโฉบเอาไก่ไป  จึงต้องไปกินเลี้ยงมือเปล่า  พอถึงบ้านเพื่อนที่นัดกินเลี้ยงกันก็เล่าให้เพื่อนฟังว่า  ถูกเหยี่ยวโฉบเอาไก่ไปกินเสียกลางทาง  เพื่อนทุกคนไม่มีใครเชื่อคำพูดของลูกเศรษฐี  ต่างนึกว่าคงไม่มีปัญญาหาไก่มาตามที่สั่งแล้วยังมาพูดแก้เก้อ  โทษว่าเหยี่ยวโฉบเอาไก่ไปเสียอีก  แม้ลูกเศรษฐีจะยืนยันอย่างไรว่าเรื่องที่พูดเป็นควมจริงก็ไม่มีใครเชื่อ  มีแต่พูดจาเยาะเย้ยถากถาง  ลูกเศรษฐีจึ้งแค้นใจมาก  ทั้งเจ็บทั้งอาย  ลูกเศรษฐีจึงตัดสินใจไม่ร่วมวงกินเลี้ยงด้วย  รีบเดินทางกลับบ้าน  เมื่อถึงบ้านแล้วก็ยังคิดน้อยใจไม่หายถึงความหลังเมื่อครั้งตนยังมั่งมีเงินทอง  เสียใจกินไม่ได้นอนไม่หลับ  ร่างกายก็ผ่ายผอมลง

          ฝ่ายเทวดาพ่อแม่เห็นอาการของลูกอย่างนั้นก็สงสาร  จึงมาเข้าฝันลูกว่า  "นั้นแหละลูกเอ๋ย  เมื่อพ่อแม่ยังอยู่ก็ได้สอนเจ้านักหนาว่าเรื่องการใช้เงินทองนั้น  เมื่อยามลำบกยากจน  ใครเขาจะมานับถือ  พูดจริงก็เป็นหลอกไปได้  ขอให้เจ้ารู้สึกตัวและทำตัวเสียใหม่  พ่อแม่จะช่วย"
          ในฝันนั้นเองทำให้ลูกเศรษฐีคิดได้  และเห็นความผิดของตนเองจึงรับปากกับเทวดาว่า  "ต่อไปจะเลิกความประพฤติเดิม  จะตั้งใจทำมาหากินเลี้ยงตัวให้มีเงินพอจะไม่ให้ใครมาดูถูกไได้อีกต่อไป"
          เมื่อเทวดาพ่อแม่ได้รับคำสัญญาจากลูกเช่นนั้นแล้วก็พอใจเป็นยิ่งนัก  ไม่มีครั้งใดจะขื่อใจเท่ากับเมื่อได้เห็นลูกกลับตนเป็นคนดี  จึงบอกที่ซ่อนตุ่มเงินและตุ่มทองให้ในฝันนั้นเอง
          พอรุ่งเช้าลูกเศรษฐีจำความฝันได้แม่น  ก็ไปขุดหาตุ่มเงินตุ่มทองตามที่เทวดาบอกไว้  ก็พบจริงดั่งฝัน  ตั้งแต่นั้นมาก็เอาเงินทองในตุ่มทำทุนตั้งหน้าตั้งตาทำมาหากิน  ไม่นานก็กลับฟื้นตัว  พอมีฐานะขึ้นอีก  ลูกเศรษฐียังจำวันที่เพื่อนฝูงเยาะเย้ยไม่เชื่อเรื่องเหยี่ยวโฉบไก่เอาไปเสียนั้นได้ไม่ลืม  ตกมาถึงเวลานี้เพื่อนที่เคยเลิกคบกันไประหว่างตกยากก็เริ่มกลับมาหามาคบกันใหม่เพิ่มจำนวนขึ้นทุกวัน  วันหนึ่งลูกเศรษฐีเห็นได้โอกาสจึงชวนเพื่อนมากินเลี้ยง  กันอีกเหมือนเมื่อยังร่ำรวยหนก่อน  เพื่อนฝูงต่างก็มากันพร้อมหน้าพร้อมตา
          ขณะที่กินเลี้ยงกันอย่างครึกครื้นเฮฮาอยู่นั้น  ลูกเศรษฐีได้นำมีดเหี้ยน ๆ เล่มหนึ่งมาให้เพื่อนดู  พลางพูดขึ้นว่า
          "อัศจรรย์จริง ๆ มีดเล่มนี้เพิ่งซื้อมายังใหม่ ๆ อยู่แท้ ๆ ทิ้งไว้คืนเดียวหนูมากัดเสียจนเหี้ยนหมดเหลือเท่านี้เอง"
          เพื่อนฝูงทั้งหลายได้ยินดังนั้น  ก็รับคำเชื่อตามคำพูด  บางคนก็ประสมโรงพูดว่า  "จริงเหมือนเพื่อนว่า  ไม่เก็บไว้ให้ดี  หนูมันร้ายนักกัดเอาเหี้ยนอย่างนั้นแหละ  ของเราก็เคยโดนเหมือนกัน  เหี้ยนเหมือนอย่างนี้ไม่มีผิด"  ส่วนคืนอื่น ๆ อีกหลายคนก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเคยโดนหนูกัดมีดคนละเล่มสองเล่มอย่างเดียวกับมีดของลูกเศรษฐีนี่แหละ

          ลูกเศรษฐีได้เห็นข้อพิสูจน์นั้นแล้วก็ตั้งเป็นหลักเกณฑ์ว่า "ยามเมื่อเรายากจนคนดูถูกถ้อยคำที่พูดไม่มีน้ำหนัก  ถึงพูดความจริงก็ยังไม่มีคนเชื่อ  แต่เมื่อยามมั่งมีเงินทอง  จะพูดอย่างไรจริงหรือเท็จไม่สำคัญ  คนย่อมยอมรับเชื่อถือ"

ข้อคิดที่ได้จากนิทานเรื่องนี้

          1.คนใช้จ่ายทรัพย์สุรุ่ยสุรุ่ยฟุ่มเฟือย  สักวันหนึ่งทรัพย์สินเงินทองนั้นก็หมดไปแล้วตนเองจะได้รับความทุกข์ยาก
          2.คนขยันหมั่นหาทรัพย์  รู้จักเก็บออมและใช้จ่ายอย่างประหยัดจะทำให้ตนเองมีฐานะมั่นคง
          3.ยามมั่งมีมากมายมิตรหมายมอง
              ยามมัวหมองมิตรมองเหมือนหมูหมา
              ยามไม่มีมิตรเมินไม่มองมา
              ยามมอดม้วยหมูหมาไม่มามอง


แหล่งอ้างอิง : http://www26.brinkster.com/ppvgang/showstory1_admin.asp?ID=32

โดย : เด็กชาย เกียรติศักดิ์ นาแซง, ร.รสูงเนิน, วันที่ 29 มกราคม 2547