เมนบอร์ด
   

   เมนบอร์ด

เมนบอร์คืออะไร

เมนบอรด์ (Mainboard) หรือบางคนเรียกว่า มาร์เธอร์บอร์ด (Motherboard ) พูดง่ายๆ ก็คือ เป็นแผงวงจรขนาดใหญ่ ซึ่งมีการเชื่อมต่อวงจรต่างๆ สำหรับอุปกรณ์หลายๆ ตัวเข้าด้วยกัน ดังตัวอย่างรูปภาพ




วิธีการเลือกซื้อ
  การเลือกซื้อเมนบอร์ดแต่ละครั้งนั้นสิ่งที่เราต้องดูมีอะไรบ้าง

  1. รูปแบบของเมนบอร์ด   เป็นเมนบอร์ดแบบไหน โดยเขาแบ่งเป็น AT , ATX ,                     MicroATX ,FlexATX สำหรับเมนบอร์ดรุ่นเก่าๆ นั้นเป็นแบบ ATA  โดยพอร์ตหลายๆ อย่างต้องใช้สายเชื่อมต่ออีกครั้งหนึ่ง ต่อมาได้รับการปรับปรุงใหม่ให้เป็นแบบ ATX ที่เราใช้กันในปัจจุบันนี้ โดยคำนึงถึงการไหลเวลาของข้อมูลต่างๆ มากขึ้น โดยปรับให้มีการส่งข้อมูลได้เร็วกว่าเดิม พอร์ตต่างๆ มีการเปลี่ยนตำแหน่งจากเดิม โดยติดตั้งไว้แบบตายตัว  ส่วน MicroATX กับ FlexATX นั้นเป็นเมนบอร์ดแบบ ATX ที่มีขนาดเล็ก โดยได้ตัดพอร์ตหลายๆ อย่างที่ไม่จำเป็นออกไป ทำให้มีขนาดเล็ก ออกแบบมาสำหรับเคสที่มีขนาดเล็ก และพีซีที่เน้นเรื่องพื้นที่ ส่วนการใช้งานต่างๆ ก็เหมือนเมนบอร์ดทั่วๆ ไป แต่มีข้อจำกัดในการอัพเกรดเครื่องเล็กน้อย เพราะว่าได้ตัดสล็อตต่างๆ ออกไปแล้ว แถมสล็อตสำหรับใส่หน่วยความจำก็มีน้อยด้วย ส่วนใหญ่จะมีแค่ 1 - 2 สล็อต

ATX



FlexATX

2. ซ็อกเก็ต / สล็อต (Socket /Slot )

ซ็อกเก็ต หรือสล็อตเป็นที่สำหรับใส่ซีพียู สาเหตุที่มีทั้งซ็อกเก็ต และสล็อต ก็คือ มีซีพียูอยู่หลายๆ แบบด้วยกัน ที่ใส่ซีพียูก็เลยต่างกันไป ซ็อกเก็ตมีหลายแบบ


- ซ็อกเก็ต 7 สำหรับซีพียูเพนเทียม หรือเอเอ็มดี รุ่นเก่าๆ
- ซ็อกเก็ต 370 ออกแบบมาสำหรับซีพียูเซลเลอรอน และเพนเทียมทรี รุ่นใหม่ที่ใช้แพ็กเกจแบบ FC-PGA
- ซ็อกเก็ต 462 หรือ ซ็อกเก็ต A สำหรับซีพียูดูรอน และแอธลอน
- ซ็อกเก็ต 423 สำหรับเพนเทียมโฟร์
- ซ็อกเก็ต 478 สำหรับเพนเทียมโฟร์ตัวล่าสุด
- สล็อต 1 สำหรับเซลเรอลอนรุ่นเก่าๆ แล้วก็ซีพียูเพนเทียม ทู
- สล็อต A สำหรับซีพียูแอธลอน - สล็อต 2 สำหรับซีพียู Intel? Pentium? II/III Xeon ใช้กับเซิรฟ์เวอร์

สำหรับปัจจุบันนี้ที่เรานิยมใช้กันก็คือ ซ็อกเก็ต 370 และซ็อกเก็ต A  เนื่องจากมีซีพียูที่ใช้ซ็อกเก็ตทั้งสองแบบนี้ออกมาถล่มตลาดอย่างต่อเนื่องคือ เซลเรอลอน , เพนเทียมทรี , ดูรอน และแอธลอน ส่วนเพนเทียมโฟร์ นั้นยังไม่ค่อยนิยม เนื่องจากราคาแพง และประสิทธิภาพในการทำงานนั้นถ้าเทียบกับราคาแล้วยังถือว่าไม่คุ้มเมื่อนำมาใช้งานทั่วๆ ไป

3. ชิปเซ็ต (Chipset) หัวใจของเมนบอร์ด

ชิปเซ็ตคืออะไร ชิปเซ็ตก็เป็นชิปสำหรับควบคุมการทำงานต่างๆ ของเมนบอร์ด เช่น ควบคุมระบบบัสของซีพียู หน่วยความจำ ระบบบัสของสล็อต รวมถึงการไหลเวียนของข้อมูลจากพอร์ตต่างๆ โดยชิปเซ็ตหลักๆ จะแบ่งเป็น Northbridge และ Southbridge แต่ละตัวจะแบ่งหน้าที่การทำงานอย่างชัดเจน สังเกตจากเมนบอร์ดจะมีชิปเซ็ตติดตั้งอยู่ 2 ที่ด้วยกัน แต่เมนบอร์ดบางรุ่นก็ติดตั้งชิปเซ็ตมาตัวเดียว หรือเราเรียกกันว่า Single Chip โดยจะทำหน้าที่เป็นทั้ง Northbridge และ Southbridge ซึ่งส่วนใหญ่ออกแบบมาใช้กับเมนบอร์ดที่มีขนาดเล็กประเภท FlexATX หรือ MicroATX



ชิปเซ็ตที่นิยมมาติดตั้งบนเมนบอร์ดก็มีเยอะ เช่น VIA , Intel , ALI , AMD เป็นต้น สำหรับชิปเซ็ตตัวไหนดีไม่ดียังไง คงต้องดูจากสเปกที่เมนบอร์ดจะระบุมาให้อยู่แล้ว โดยแต่ละตัวก็จะมีข้อดีแตกต่างกันไป

4. สล็อตสำหรับหน่วยความจำ

ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นสล็อตสำหรับใส่หน่วยความจำนั่นเอง โดยจะแตกต่างกันไปตามแต่ว่าเมนบอร์ดแต่ละตัวสนับสนุนหน่วยความจำแบบใหม่ ในปัจจุบันนี้หน่วยความจำที่เราใช้ๆ กันก็มี SDRAM , DDR RAM ,RAMBUS นั่นเอง แต่ละแบบสล็อตก็จะแตกต่างกันไป



5. สล็อตสำหรับเพิ่มเติมอุปกรณ์ต่างๆ

เป็นสล็อตที่ติดตั้งอยู่บนเมนบอร์ด ออกแบบมาให้เราใส่การ์ดเพิ่มเติมเข้าไป เช่น การ์ดเสียง การ์ดแสดงผล หรือการ์ดตัดต่อวิดีโอ โมเด็ม ต่างๆ สำหรับสล็อตบนเมนบอร์ดในปัจจุบันประกอบด้วย



ISA (Industry Standard Architecture ) เป็นสล็อตแบบเก่า ทำงานแบบ 16 บิต ตอนนี้บนเมนบอร์ดจะเหลือแค่ 1 - 2 สล็อตเท่านั้น บางรุ่นตัดทิ้งไปเลยก็มี เพราะอุปกรณ์ที่ออกมาในระยะหลังไม่มีการใช้สล็อตแบบนี้แล้ว

PCI (Peripheral Component Interconnect) เป็นสล็อตที่ได้รับการพัฒนาให้มีความเร็วในการทำงานมากยิ่งขึ้น โดยสามารถทำงานแบบ 32 บิต ปัจจุบันนี้ได้รับความนิยมมากที่สุด และผู้ผลิตอุปกรณ์ต่างๆ ก็ออกผลิตภัณฑ์ที่ใช้สล็อตแบบนี้มามากมาย เช่น โมเด็ม การ์ดตัดต่อวิดีโอ ซาวน์ดการ์ด เป็นต้น

AGP (Accelerated Graphics Port) ออกแบบมาสำหรับการ์ดแสดงผลโดยเฉพาะ โดยจุดเด่นของสล็อตแบบนี้ก็คือความเร็วนั่นเอง โดยจะแบ่งเป็นความเร็วในระดับ 1,2,4X โดยปัจจุบันการ์ดส่วนใหญ่จะสนับสนุน AGP โหมด 4X อยู่แล้ว โดย AGP จะทำงานแบบ 32 บิตที่ 66 เมกะเฮิรตซ์ โดยมีความเร็วในการถ่านโอนข้อมูลสำหรับโหมด 1X ที่ 266 เมกะบิตต่อวินาที 2X ที่ 533 เมกะบิตต่อวินาที ส่วน 4X ที่ 1.07 กิกะบิตต่อวินาที

CNR (Communication and Networking Riser). สล็อต CNR นี้ออกแบบโดย อินเทล ซึ่งเป็นสล็อตที่ออกแบบมาสำหรับอุปกรณ์โฮมเน็ตเวิร์ก ซึ่งได้รวมระบบแลน ออดิโอโมเด็ม เข้าไว้ด้วยกันเพื่อประหยัดต้นทุนในการผลิตการ์ดนั่นเอง โดยในขณะนี้เมืองไทยเรายังไม่นิยมใช้สล็อตแบบนี้ และยังหาอุปกรณ์ที่สนับสนุนสล็อต CNR ได้ยาก

AMR (Audio Modem Riser) เป็นสล็อตที่ออกแบบมาสำหรับอุปกรณ์ที่เราเรียกว่าออดิโอโมเด็ม เป็นโมเด็มที่มีขนาดเล็ก ซึ่งได้รวมเอาความสามารถในเรื่องของเสียงเอาไว้ด้วยโดยใส่ไว้ใน codecchip ทำให้เราประหยัดสล็อตอีกด้วย เพราะไม่ต้องทำการ์ดหลายๆ ตัว ทำให้มีสล็อตเหลือสำหรับอุปกรณ์อื่นๆ แต่ในขณะนี้ในเมืองไทยยังไม่นิยมใช้กันมากนัก

6. พอร์ตต่างๆ

พอร์ตต่างๆ ที่ว่านี้ก็คือ พอร์ตที่อยู่ทางด้านหลังเครื่อง มีไว้สำหรับต่อกับอุปกรณ์ต่างๆ เช่น คียบอร์ด เมาส์ ลำโพง หรืออุปกรณ์ต่อพ่วงต่างๆ โดยพอร์ตมีอยู่หลายๆ แบบ เช่น

USB พอร์ตเป็นพอร์ตที่มีความเร็วถึง 12 เมกะบิตต่อวินาที ซึ่งในขณะนี้มีการพัฒนา USB 2.0 ออกมาแล้ว โดยทำความเร็วได้มากถึง 420-480 เมกะบิตต่อวินาที ตอนนี้มีอุปกรณ์ที่ออกมาสนับสนุน USB2.0 ยังน้อยอยู่ แต่คาดว่าน่าจะออกตามมาเรื่อยๆ เมนบอร์ดในปัจจุบันอย่างน้อยควรมี USB พอร์ต 2 พอร์ต แต่บางรุ่นก็มีให้เราเชื่อมต่อ USB ได้มากถึง 4 - 6 พอร์ตเลยทีเดียว

Parallel Port เป็นพอร์ตสำหรับต่อกับพรินเตอร์ สแกนเนอร์ หรืออุปกรณ์อื่นๆ ที่ออกแบบมาให้ใช้กับพาราเรลพอร์ต ส่วนโหมดมาตรฐานของ Parallel Port นั้นยังแบ่งเป็น ECP (Enhanced Capability Port) EPP (Enhanced Parallel Port) SPP (Standard Parallel Port) โดยเมนบอร์ดและอุปกรณ์ส่วนใหญ่สนับสนุน ECP และ EPP

Serial Port จะเป็นพอร์ตขนาดเล็ก สำหรับต่อกับอุปกรณ์เช่น โมเด็ม หรือเมาส์แบบเดิม โดยส่วนใหญ่จะติดตั้งมาให้ 2 พอร์ต

PS/2 Port พอร์ตแบบนี้ออกแบบมาใช้กับคีย์บอร์ดและเมาส ์โดยเฉพาะ ซึ่งทำให้ช่วยประหยัด Serial Port จะได้เอาไว้ต่อกับอุปกรณ์อื่นๆ ได้ เมนบอร์ดทุกตัวจะติดตั้งมาให้ 2 พอร์ตสำหรับเมาส์ และคียบอร์ด

MIDI Port / Game Port เป็นพอร์ตที่มักจะมากับการ์ดเสียง ออกแบบมาต่อกับอุปกรณ์ดนตรี เช่น อิเล็กโทน คียบอร์ด นอกจากนี้ยังใช้กับจอยสติ๊ก จอยแพดได้อีกด้วย

คอนเน็กเตอร์ (Connector)

คอนเน็กเตอร์ออกแบบมาสำหรับต่อกับอุปกรณ์อื่นๆ ผ่านทางสาย โดยจะมีอยู่บนเมนบอร์ดเต็มไปหมดเลย เริ่มด้วย

IDE CONNECTOR เป็นคอนเน็กเตอร์สำหรับต่อกับฮาร์ดดิสก์ หรืออุปกรณ์ IDE อื่นๆ  เช่น CDROM , DVDROM โดยจะแบ่งการเชื่อมต่อเป็นแบบ ATA33 , 66 , 100 เป็นต้น บางยี่ห้อใฃ้ UDMA แทนคำว่า ATA  ซึ่ง ATA นี้เป็นมาตรฐานการเชื่อมต่อ ตัวเลขด้านหลังหมายถึง ความเร็วในการถ่ายโอนข้อมูลที่สนับสนุน เช่น ATA100 สามารถถ่ายโอนข้อมูลได้ถึง 100 เมกะไบต์ต่อวินาที แต่ว่าฮาร์ดดิสก์ที่เราใช้นั้นก็ต้องสนับสนุนการเชื่อมต่อแบบ ATA100  ถึงจะได้ความเร็วในระดับนี้

Floppy Connector เป็นคอนเน็กเตอร์สำหรับต่อกับฟลอปปี้ดิสก์ไดรฟ์ หรือไดรฟ์ A นั่นเอง โดยช่องนั้นจะมีขนาดเล็กว่า IDE Connector 

USB Connector ออกแบบมาเพื่อให้สามารถเพิ่มเติม USB พอร์ตได้ภายหลัง โดยต่อต่อกับอุปกรณ์เพิ่มพอร์ต USB  ส่วนใหญ่ติดตั้งไว้ด้านหน้าของเมนบอร์ดเพื่อต่อเข้ากับตัวเคสทางด้านหน้า สะดวกสำหรับต่อกับอุปกรณ์

IR Connector สำหรับต่อกับอุปกรณ์ประเภทอินฟาเรด เช่น การเชื่อมต่อโทรศัพท์มือถือ เข้ากับคอมพิวเตอร์ ซึ่งค่อนข้างหาซื้ออุปกรณ์มาต่อยากพอสมควร

WOL , WOM เป็นคอนเน็กเตอร์สำหรับต่อกับการ์ดแลน หรือโมเด็มโดยโมเด็ม หรือการ์ดแลนต้องสนับสนุนฟังก์ชันนี้ด้วย ประโยชน์ก็คือ สามารถสั่งเปิดเครื่องพีซีผ่านการ์ดต่างๆ เหล่านี้ได้

คอนเน็กเตอร์สำหรับสวิทซ์ และสายไฟต่างๆ บนเมนบอร์ดจะมีคอนเน็กเตอร์ต่างๆ เหล่านี้อยู่ โดยเป็นจุดสำหรับต่อสายจากเคส เช่น สายไฟสำหรับแสดงการทำงานของฮาร์ดดิสก์ หรือปิดเปิดเครื่อง สังเกตว่าจะมีการกระพริบของไฟ เมื่อมีการอ่านข้อมูลจากฮาร์ดดิสก์ โดยการต่อสายต่างๆ เหล่านี้ต้องอาศัยดูคู่มือ เพราะว่าค่อนข้างจะเยอะ และไม่เหมือนกันในแต่ละบอร์ด

7. ไบออส

ไบออสเป็นส่วนที่เก็บค่าพื้นฐานต่างๆ ของเมนบอร์ดเอาไว้ เช่น ฮาร์ดดิสก์ที่ใช้ พอร์ต่างๆ ตำแหน่งของการ์ดต่างๆ โดยอาศัยไฟจากแบตเตอรี่ก้อนเล็กๆ เพื่อให้สามารถเก็บข้อมูลได้ตลอดเวลา โดยรวมถึงเวลาของเมนบอร์ด้วยซึ่งสังเกตได้ว่าถ้าแบตเตอรี่ของเมนบอร์ดหมดค่าต่างๆ จะกลับไปเริ่มใหม่หมด รวมถึงวันที่ต่างๆ ด้วย สำหรับไบออสก็จะเปิดชิปติดตั้งในเมนบอร์ด มีของหลายๆ ยีห้อเช่น intel , AMI ,Award , Phoneix แต่ละยี่ห้อก็จะแตกต่างกันไป โดยเราสามารถอัพเดพ หรือ Flash ไบออสได้เพิ่มปรับปรุงให้เมนบอร์ดรู้จักซีพียูใหม่ๆ หรือแก้ไขข้อผิดพลาดต่างๆ


8. อุปกรณ์ออนบอร์ด

อุปกรณ์ออนบอร์ดนั้นผู้ผลิตได้ติดตั้ง คอนโทรเลอร์ชิปลงไปบนเมนบอร์ดทำให้เราไม่ต้องซื้ออุปกรณ์ต่างๆ เพิ่มเติมอีก บางเมนบอร์ดติดตั้งมาให้ครบเลยตั้งแต่ การ์ดแสดงผล โมเด็ม ซาวน์ดการ์ด การ์ดแลน ครบชุดแถมราคาถูกอีก เมนบอร์ดในปัจจุบันส่วนใหญ่จะติดตั้งการ์ดเสียงมาบนเมนบอร์ดอยู่แล้ว ซึ่งถ้าเทียบคุณภาพเสียงกับการ์ดแยกต่างหากก็คงเทียบกันไม่ได้ แต่หลังๆ ก็มีเมนบอร์ดบางรุ่นปรับปรุงและใช้ชิปที่มีคุณภาพสูงขึ้น ทำให้เสียงดีขึ้น

จะว่าไปแล้วอุปกรณ์ออนบอรดก็มีข้อดีเหมือนกัน คือทำให้เราประหยัดเงิน และไม่ต้องมายุ่งยากติดตั้งการ์ดแต่ละตัวกันอีก แต่ก็มีข้อเสียเหมือนกันคือ การอัพเกรดค่อนข้างลำบาก เพราะเขาจะตัดสล็อตต่างๆ ที่ไม่จำเป็นออกไป และอีกอย่างหนึ่งก็คือ ไม่เหมาะสำหรับการใช้งานที่หนักๆ  ส่วนใหญ่เหมาะสำหรับใช้ในออฟฟิศมากกว่า

บทสรุป

จริงๆ แล้วการเลือกซื้อเมนบอร์ดนั้นเป็นเรื่องที่ค่อนข้างต้องละเอียดกันหน่อย เพราะว่าเมนบอร์ดเป็นอะไรที่เราต้องใส่อุปกรณ์ทุกๆ อย่างเข้ากับเมนบอร์ดไม่ว่าจะติดตั้งไปโดยตรง หรือผ่านทางสายต่างๆ  ถ้าเสียไปแล้วแน่นอนว่า ต้องรอซื้อเมนบอร์ดใหม่อย่างเดียว หาอะไรอย่างอื่นมาแทนไม่ได้ทั้งนั้น และราคาค่อนข้างจะสูง อย่าลืมเรื่องการรับประกันด้วย


ที่มา : http://www.thaidevice.com/

โดย : นาง ณัฐธิดา เชื้อคง, โรงเรียนสูงเนิน, วันที่ 19 มกราคม 2547