header

ทำอย่างไรเมื่อลูกติดเกมคอมพิวเตอร์

โดย…… จิตราภา ทองเหลือง

เกมคอมพิวเตอร์

ปัจจุบันคอมพิวเตอร์มีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิตเพิ่มมากขึ้น จากการที่มีการพัฒนา IT ราคาคอมพิวเตอร์ถูกลง ทำให้หลาย ๆ ครอบครัวมีคอมพิวเตอร์ไว้ใช้งาน เริ่มจากพ่อแม่ ซื้อมาใช้งาน อาจจะเกี่ยวกับการมีไว้พิมพ์งานสำหรับ ครู อาจารย์ นักวิชาการต่างๆ ลูกคนโตมีไว้สืบค้นด้านการศึกษา แต่ลูกคนเล็กหรือบางบ้านที่มีลูกเล็กๆอยู่ก็จะมีการใช้งานที่ผู้ปกครองมีอาการปวดเศียรเวียนเกล้าเป็นประจำก็คือ ลูกมีอาการติดเกมคอมพิวเตอร์

อาการของโรคติดเกมคอมพิวเตอร์ ก็คือ ลูกจะเล่นแต่เกมทั้งวัน หายใจเข้าออกเป็นเกมไปหมด ผู้เขียนก็เคยมีอาการที่ว่านี้ เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว คือติดเกมกด ( Family ) ซึ่งจะมีเกมอยู่เกมหนึ่งชื่อ เกมมาริโอ จะเล่นเป็นด่าน ๆ ไป ถ้าเอาชนะก็จะได้เล่นด่านต่อไปจึงทำให้เราเกิดความฮึกเหิม มีความภูมิใจที่เล่นชนะก็จะเล่นไปเรื่อยๆ จึงทำให้เข้าใจลูกเวลาที่ลูกเล่นเกมแล้วลืมเวลา ลืมไปทุกอย่างแม้กระทั่งลืมหิว ก่อนที่เราจะตัดสินว่าการติดเกมคอมพิวเตอร์ดีหรือไม่นั้น เราควรมาทำความรู้จักกับเกมกันก่อนว่ามีอะไรบ้าง

    • GAMES FAMILY
    • GAMES PLAY STATION
    • GAMES BOY AND GAMES BOY COLOR
    • GAMES COMPUTER AND GAMES ONLINE

สำหรับในปัจจุบันมีเกมที่นิยมเล่นกันอย่างแพร่หลายก็คือ GAMES COMPUTER AND GAMES ONLINE ซึ่งส่วนใหญ่จะสร้างและพัฒนาในแถบเอเซีย คือจากประเทศเกาหลี ญี่ปุ่น จีน และไต้หวัน เขาจะมีศัพท์เฉพาะที่เรียกผู้คนที่ชอบเล่นเกมหรือมีความชำนาญในการเล่นเกมว่า”เกมเมอร์” และจากการศึกษาหาข้อมูล ขอแบ่งประเภทของเกมออกได้ดังนี้

    1. เกมฝึกประสาทสัมผัส เป็นเกมที่ฝึกการใช้ประสาทสัมผัสเช่นมือ ตา เป็นเกมที่ใช้ความแม่นยำ และรวดเร็ว
    2. เกมฝึกสมอง เป็นเกมที่เหมาะกับเด็กผู้หญิง ฝึกการตอบคำถาม
    3. เกมกีฬา เป็นเกมเกี่ยวกับกีฬา รถแข่ง
    4. เกมผจญภัย เป็นเกมที่มีเรื่องราวอันน่าตื่นเต้น และฝึกให้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ รูปภาพก็สวยงามถ้ารู้จักเลือกเกม
    5. เกมเสมือนจริง เป็นเกมที่ทำให้ผู้เล่นมีความรู้สึกว่าตนเองอยู่ในเกม เป็นคนจัดการเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งหมด รู้จักการอยู่ร่วมกับผู้คนรอบข้าง
    6. เกมฝึกการวางแผนการรบ เป็นเกมต่อสร้างของทหาร หรือนักรบต่าง จะเริ่มมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น
    7. เกมแสดงความรุนแรง เป็นเกมที่เป็นอันตรายสำหรับเด็กที่ไม่รู้จักการยั้งคิด และยิ่งเด็กไม่มีผู้ปกครองคอยแนะในทางที่ดี จะทำให้เด็กใช้ความรุนแรงตัดสินปัญหา
    8. เกม เรด R และ X เป็นเกมที่ออกไปแนวลามกอนาจาร

เกมคอมพิวเตอร์กับการพัฒนาทางสมองและสร้างความคิดสร้างสรรค์

ความคิดสร้างสรรค์ เป็นคุณสมบัติที่มีอยู่ในตัวเด็กทุกคน และสามารถส่งเสริมให้พัฒนาได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ในทางตรง คือ การสอน ฝึกฝน อบรม และในทางอ้อมก็คือ การสร้างบรรยากาศ และการจัดสิ่งแวดล้อมส่งเสริมความเป็นอิสระในการเรียนรู้ ซึ่งสอดคล้องกับความคิดของ โรเจอร์ ( Rogers : 1959 ) ที่ว่าความคิดสร้างสรรค์ไม่สามารถบังคับให้เกิดขึ้นได้ แต่สามารถส่งเสริมให้เกิดขึ้นได้ ซึ่งปรียบเสมือนกับชาวนาที่สามารถทำให้ต้นพืชงอกงามออกมาจากเมล็ดได้ก็ต่อเมื่อจัดสิ่งแวดล้อมให้พอเหมาะ ทั้งอากาศ น้ำ และดิน เมล็ดพืชนั้นจึงจะงอกได้ ความคิดสร้างสรรค์ก็เช่นเดียวกัน จะเสริมสร้างขึ้นได้ด้วยการจัดสภาพการณ์ เทคนิควิธีที่เหมาะสมถูกต้อง เด็กก็เช่นเดียวกัน ถ้าเราบีบบังคับเขาเหมือนกับบังคับแตงโมให้โตอยู่ในกล่องสี่เหลี่ยม เพื่อให้กลายเป็นแตงโมแปลกประหลาด ไม่ได้ เพราะเด็กมีชีวิตจิตใจ มีความคิด ถึงจะเป็นความคิดแบบเด็ก ๆ บางครั้งเขาอาจจะคิดในสิ่งที่เราคาดไม่ถึงก็ได้

ส่วนทอแรนซ์ ( Torrance : 1959 ) ซึ่งเป็นนักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ได้เสนอหลักการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ ไว้หลายประการ ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการเล่นเกมคอมพิวเตอร์ของลูกให้กลับกลายเป็นเรื่องของการสร้างสรรค์ ในการที่ส่งเสริมให้เด็กใช้จินตนาการของตนเอง ส่งเสริมให้เรียนรู้ ด้วยตนเอง สามารถนำความรู้จากเกมมาสร้างสรรค์ในงานที่ตนเองชอบ

พ่อแม่เป็นผู้ที่ใกล้ชิดลูกที่สุด และมีหน้าที่โดยตรงในการให้การอบรมเลี้ยงดู ปลูกฝังทัศนคติ และกำหนดวัฒนธรรม รวมทั้งการจัดบรรยากาศและสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีตลอดจนการจัดกิจกรรมและประสบการณ์ให้ลูกได้พัฒนาด้านต่าง ๆ เต็มขีดความสามารถ รวมทั้งการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ด้วยเพื่อเป็นพื้นฐานในการพัฒนาขั้นสูงต่อไป

ดังนั้นพ่อแม่จึงควรให้การอบรมเลี้ยงดูลูกด้วยวิธีการที่ถูกต้องเหมาะสมเพื่อเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ของลูก ในเรื่องการอบรมเลี้ยงดูลูก แอนโทนอฟสกี้ (Antonovsky : 1959) ได้ค้นคว้าความสัมพันธ์ระหว่างการอบรมเลี้ยงดูของพ่อแม่ แบบให้ความรัก แบบเรียกร้องจากลูก แบบจำกัดสิทธิของลูก กับพฤติกรรมที่แสดงออก พบว่าการพัฒนาการด้านความคิดสร้างสรรค์ของลูกที่พ่อแม่เลี้ยงดูแบบให้ความรักนั้นมีการพัฒนามากกว่าแบบอื่น

มุสเซน ( Mussen : 1956) ได้ให้ข้อคิดและอธิบายว่าเด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูแบบประชาธิปไตย คือเด็กที่มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ถกเถียงปัญหาต่าง ๆ ได้ พ่อแม่ที่ให้ความอบอุ่นในลักษณะเช่นนี้ เด็กจะมีความอยากรู้อยากเห็น มีความคิดสร้างสรรค์สูงกว่าเด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูแบบอื่น และมุสเซนและคณะ สรุปว่าจากการศึกษาเกี่ยวกับการอบรมและบรรยากาศในบ้านว่า พ่อแม่และบรรยากาศในบ้านมีความสำคัญต่อบุคลิกภาพของเด็กมาก เด็กที่มาจากบ้านและสิ่งแวดล้อมที่เป็นประชาธิปไตยจะเป็นผู้ที่มีลักษณะคล่องแคล่ว กล้าแสดงออก ซึ่งผลการศึกษานี้สอดคล้องกับการศึกษาของ วัตสัน (Watson : 1957) ว่าเด็กที่ได้รับอิสระจากพ่อแม่ จะมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ สูงกว่าเด็กที่พ่อแม่ควบคุม

สำหรับการศึกษาวิจัยในประเทศไทย วินิจ เกตุขำ ได้ศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างการอบรมเลี้ยงดูกับความคิดสร้างสรรค์ของเด็กพบว่า การอบรมเลี้ยงดูแบบให้ความรักความอบอุ่นและการให้คำแนะนำชี้แจงเหตุผลต่าง ๆ อันมีบรรยากาศเป็นประชาธิปไตยมีแนวโน้มว่าจะทำให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์ ส่วนการอบรมเลี้ยงดูแบบลงโทษตามอารมณ์อย่างไม่มีเหตุผล ซึ่งเป็นลักษณะของพ่อแม่ที่ปล่อยปละละเลยนั้น มีความสัมพันธ์ทางลบกับความคิดสร้างสรรค์อย่างเห็นได้ชัด

ตามทฤษฎีทางความคิดของหลักพุทธธรรม แบบโยนิโสมนสิกา ได้กล่าวไว้ว่า วิธีคิดแบบคุณโทษและหาทางออก เป็นการคิดแบบลึกซึ้ง เป็นการยอมรับความจริงว่าทุกสิ่งในโลกมีทั้งส่วนดีและส่วนเสีย หรือมีทั้งคุณและโทษ จึงน่าจะนำมาใช้กับปัญหานี้ได้ ถ้าเราคิดว่าการติดเกมเป็นเรื่องที่ไม่ดีสำหรับเด็กก็จะเป็นการด่วนสรุปเร็วเกินไป เด็กก็คือเด็กถ้าเราบอกว่าเกมมันไม่ดีนะลูก ห้ามไม่ให้เล่นเขาก็จะถามว่าถ้าไม่ดีแล้วทำไมถึงมีขาย มีให้เล่นกันให้เกลื่อนเมือง ทำไม่ตำรวจไม่จับ ทำไมผู้ใหญ่เล่นกันได้ ทำไมและทำไม เพราะฉะนั้นเราต้องมาทำความเข้าใจกับเกมเสียก่อน ในเมื่อห้ามลูกไม่ให้เล่นเกมไม่ได้ เราควรจะต้องศึกษาเรื่องเกมให้รู้ หรือพอรู้เพื่อที่จะตามลูกให้ทัน เลือกเกมให้ลูกเล่นให้ได้ บางครั้งเล่นเกมกับลูกได้ด้วย จะทำให้เขามีความรู้สึกว่าสิ่งที่เขาเล่นเขาทำเป็นเรื่องที่ถูกต้อง

การเล่นเกมคอมพิวเตอร์นั้น สามารถที่จะโยงเข้ากับวิชาที่เรียนได้หลายวิชาเช่น วิชาศิลปะ ก็ให้ดูที่การจัดภาพ ระยะใกล้ไกลของภาพ และการใช้สี วิชาวิทยาศาสตร์ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอนาคต วิชาเกษตร มีการจัดการเรื่องฟาร์ม วิชางานบ้าน เป็นเรื่องของการจัดตกแต่งบ้านให้น่าอยู่ วิชาคณิตศาสตร์ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการบวกเลข ภาษาไทยลูกจะได้ฝึกจากการอ่านหนังสือเกมเพื่อต้องการเล่นเกมได้ ฯลฯ ถ้าเราไม่ดูดายก็สามารถหาประโยชน์จากการเล่นเกมของลูกได้ เช่นกัน

บทบาทของพ่อแม่ที่มีต่อลูกติดเกมฯ

ผู้เขียนมีลูกซึ่งติดเกมเอามาก ๆ ใหม่ ๆ ก็มีความรู้สึกว่า เกมฯ มันไม่ดี ก็จะมีความวิตกกังวลว่าจะทำให้ลูกก้าวร้าวหรือเปล่า แต่ก็ไม่ห้ามที่ลูกจะเล่น แต่จะคอยถามว่าเกมนี้เล่นอย่างไร ทำไมถึงเป็นอย่างนี้ และดูแลในการเล่นเกมของลูก เวลาลูกเล่นเพลิน คอยบอกให้ลูกดื่มนมเมื่อถึงเวลา เรียกรัปทานอาหาร และอยู่ในสายตาของพ่อแม่ไม่ไปสร้างพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์นอกบ้าน ได้พยายามศึกษาเกมที่ลูกเล่นจึงได้เห็นว่าแท้จริงแล้วเกมนั้นก็ไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายเสมอไป อย่างเช่น เกม THE SIMS ซึ่งเป็นเกมสร้างเมือง การจัดบ้าน จัดสวน และการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม เราสามารถนำเรื่องราวในเกมนี้สอนลูกได้ว่าควรทำอย่างไร หรือควรประพฤติตัวอย่างไร และ เกม HARVEST MOON จะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับฟาร์ม ซึ่งถูกปล่อยให้ร้างมาหลายปี และคนที่เล่นเกมนั้นสมมุติให้เป็นหลานคุณปู่ ต้องหาทางให้ฟาร์มกลับมาเจริญเหมือนเดิม โดยใช้เวลา 3 ปี ถ้าไม่สามารถทำได้ก็ต้องถูกให้ออกจากหมู่บ้าน ในฟาร์มก็จะมีการเลี้ยงสัตว์ ปลูกผักต่างๆ ทำให้รู้จักการแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับสัตว์เลี้ยงและผักที่ปลูก การเปิดโอกาสให้ลูกทำในสิ่งที่ตนเองชอบ โดยที่มีพ่อแม่คอยเป็นที่ปรึกษาดูแลให้ลูกปฏิบัติไปในทางที่ถูกต้องแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างจะเกิดขึ้นภายใต้ความมีเหตุผล นอกจากนั้นพ่อแม่ควรสนใจเกี่ยวกับเรื่องราวโดยทั่วไปของลูก เช่นกิจกรรมยามว่าง ลูกชอบเล่นอะไรพยายามเข้าใจลูก และชื่นชมในสิ่งที่ลูกได้กระทำ พยายามให้อยู่ในสายตาเรามากที่สุด พ่อแม่บางคนชอบที่ลูกเล่นเกมจะได้ไม่ต้องมายุ่งเวลาทำงาน ซึ่งเป็นความคิดที่ไม่น่าจะถูกต้องนักเพราะเราไม่สามารถรู้เลยว่าลูกเล่นเกมประเภทไหนเพราะเกมที่เป็นอันตรายต่อความคิดของเด็กก็มีอยู่มากมาย และหาเล่นได้ง่ายด้วย

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า เกมคอมพิวเตอร์มีบทบาทในการพัฒนาสมองและความคิดสร้างสรรค์ของเด็ก ถ้าเราคิดว่า การติดเกมคอมพิวเตอร์ของลูกเป็นวิกฤต ก็ควรแปรวิกฤตินั้นให้เป็นโอกาสที่จะส่งเสริมเขาให้ไปในทางที่ถูกที่ควร ดังคำพูดที่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีทั้งด้านดีและด้านเลว อยู่ที่ว่าเราจะนำด้านใดมาใช้เท่านั้น



แหล่งอ้างอิง : อ.จิตราภา ทองเหลือง,ร.ร.ลับแลพิทยาคม

โดย : นาง จิตตราภา ทองเหลือง, ร.ร.ลับแลพิทยาคม อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์, วันที่ 17 มกราคม 2547