header

E-learning กับการศึกษายุคปฏิรูป

E – learning with Education to Reform

*******************************************************************

โดย…..นายภูริช เชื้อสุยะ

นักศึกษาปริญญาโท สาขาหลักสูตรและการสอน (ทั่วไป)

 

พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 หมวด 4 แนวทางการจัดการศึกษา มาตรา 22 การจัดการศึกษาต้องยึดหลักว่าผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด มาตรา 23 การจัดการศึกษา ทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ต้องเน้นความสำคัญทั้งความรู้ คุณธรรม กระบวนการเรียนรู้ และบูรณาการตามความเหมาะสมของแต่ระดับการศึกษา

การศึกษาในปัจจุบันเป็นการศึกษาในยุคปฏิรูปที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ การจัดกระบวนการเรียนรู้ของสถานศึกษาเป็นสิ่งที่สำคัญประการหนึ่งที่จะช่วยให้การศึกษาบรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้ สถานศึกษาทุกแห่งสอนให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง และสามารถพัฒนาศักยภาพของตนเองได้ด้วยการเรียนรู้แบบบูรณาการ การเรียนรู้แบบออนไลน์ หรือ e-learning ก็เป็นแนวทางหนึ่งที่มีส่วนช่วยให้ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนรู้ได้อย่างหลากหลาย และมีพัฒนาการทางด้านการศึกษาที่ดีเยี่ยม

การเรียนการสอนทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Learning เป็นสิ่งสำคัญในโลกยุคปัจจุบัน จากโลกยุคปัจจุบัน ข้อมูลและเทคโนโลยียังมีไม่เพียงพอ จะต้องมีเรื่องของการสื่อสารเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เมื่อก่อนนี้เราจะพูดกันถึงแต่เรื่อง IT เท่านั้น แต่วันนี้ไม่ได้แล้ว เราจะต้องพูดถึงเรื่อง ICT (Information and Communication Technology) แทน เนื่องจากจำเป็นต้องมีการสื่อสารเข้ามาเกี่ยวข้องกัน บ้านเราในเรื่องของการพัฒนา e-Learning นั้นได้เตรียมการมาจะเรียกได้ว่าช้ากว่าที่อื่นๆ พอสมควรเพราะประเทศเพื่อนบ้านเช่น ประเทศมาเลเซีย ได้มีและได้ใช้ e-Classroom กันแล้ว โดยนักเรียนจะสามารถเข้าไปเรียน เข้าร่วมทำกิจกรรมกับคนอื่นๆได้ อินเทอร์เน็ตสังคมยุคนี้เป็นยุคของสังคมความรู้ สังคมข้อมูลข่าวสาร

กระบวนการพัฒนา e-Learning ในเมืองไทยที่ผ่านมา ที่เป็นรูปธรรมจริงๆก็ เช่น School Net แต่การพัฒนา School Net ก็มีปัญหาเหมือนกัน เพราะว่าเข้าไปมองแต่เทคโนโลยี (T) นำแต่เทคโนโลยีเข้ามา แต่ข้อมูล (I) ที่เป็นเนื้อหา ไม่เพียงพอที่นักเรียนเราจะได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ เนื้อหาอิ่มตัวที่เป็นภาษาไทยก็เป็นสิ่งจำเป็นไม่ว่าจะเป็นรูปแบบบทเรียน หรือ e-Book การติดต่อกับครู หรือการใช้ School Net ให้เป็นเสมือน ห้องเรียนเสมือนจริงนั้นก็ตาม แต่ยังไม่ได้มีการดำเนินการถึงขั้นนั้น

การเรียนรู้แบบออนไลน์ หรือ e-learning การศึกษา เรียนรู้ผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต(Internet) หรืออินทราเน็ต (Intranet) เป็นการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ผู้เรียนจะได้ เรียนตามความสามารถและความสนใจของตน โดยเนื้อหาของบทเรียนซึ่งประกอบด้วย ข้อความ รูปภาพ เสียง วิดีโอและมัลติมีเดียอื่นๆ จะถูกส่งไปยังผู้เรียนผ่าน Web Browser โดยผู้เรียน ผู้สอน และเพื่อนร่วมชั้นเรียนทุกคน สามารถติดต่อ ปรึกษา แลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันได้เช่นเดียวกับการเรียนในชั้นเรียนปกติ โดยอาศัยเครื่องมือการติดต่อ สื่อสารที่ทันสมัย(e-mail, web-board, chat) จึงเป็นการเรียนสำหรับทุกคน, เรียนได้ทุกเวลา และทุกสถานที่ (Learn for all : anyone, anywhere and anytime)

แนวโน้มสำหรับ e-learning ได้มีการขยายตัวอย่างมากมายในขณะนี้ ถึงขนาดที่ว่าต่อไปในอีกสองปีการฝึกอบรมในองค์กร กว่า 50% จะเป็น e-learning ทั้งสิ้น อย่างไรก็ตามตัวเลขนี้เป็นเพียงการประเมินเท่านั้น การที่จะบอกให้แน่ชัดไปว่าองค์กรควรใช้ e-learning หรือไม่ เราควรจะต้องมีหลักเกณฑ์ที่อย่างน้อยจะเป็นตัวชี้นำความพร้อมขององค์กร ไปสู่ e-learning

หากแนวคิดการจัดการเรียนการสอนผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ นี้จะพัฒนาไปเป็นระบบ การเรียนการสอนอย่างเต็มรูปแบบในหลักสูตร ก็ควรจะต้องคำนึงถึงประเด็นต่าง ๆต่อไปนี้ กล่าวคือจะต้องมีการบริหารจัดการในด้านอื่น ๆ เช่น การลงทะเบียนการรับสมัคร ให้คำปรึกษา การประชาสัมพันธ์ เป็นต้น ในการรองรับการจัดการดังกล่าว และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การปรับค่านิยมของความสำคัญต่อคุณวุฒิของการศึกษาที่ได้รับ เนื่องจากสังคมไทยที่ผ่านมายังยึดติดกับการเรียนรู้ในระบบปิด หรือการเรียนในชั้นเรียนมากกว่าการศึกษาหรือการใช้สื่อทางไกล ดังนั้นหากจะใช้การเรียนการสอนในรูปแบบนี้ ก็น่าจะต้องมีการพิสูจน์ว่าการเรียนการสอนในวิธีนี้สามารถก่อให้เกิดการเรียนรู้ได้เท่าเทียมกันหรือไม่แตกต่างกันเช่นกัน ทั้งนี้ยังรวมไปถึงการรับรองมาตรฐานในการศึกษาในหลักสูตรดังกล่าวจะมีวิธีการและรูปแบบอย่างไรและควรมีการพิจารณาเรื่องค่าใช้จ่ายและผลที่ได้จากการเรียนการสอน โดยใช้อินเทอร์เน็ต เพื่อเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของสถาบัน ค่าใช้จ่ายของผู้เรียนรวมถึงผลที่ได้รับด้านอื่นของการใช้การเรียนการสอนผ่านเว็บกับการเรียนการสอน แบบปกติ เพื่อเป็นแนวทางในการตัดสินใจในการพัฒนาการเรียนการสอนต่อไปในอนาคตด้วย

องค์ประกอบของ e- learning การให้บริการการเรียนแบบออนไลน์ หรือ e-learning มีองค์ประกอบที่สำคัญ 4ส่วนคือ

1. เนื้อหาของบทเรียน
สำหรับการเรียน การศึกษาแล้วไม่ว่าจะเรียนอย่างไรก็ตามเนื้อหาถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด แต่เนื่องจาก e-learning นั้นถือว่าเป็นการเรียนรู้แบบใหม่สำหรับวงการการศึกษาในประเทศไทย ดังนั้นเนื้อหาของการเรียนแบบนี้ที่พัฒนาเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงมีอยู่น้อยมากทำให้ไม่เพียงพอกับความต้องการในการฝึกอบรม เพิ่มพูนความรู้ พัฒนาศักยภาพทั้งของบุคคลโดยส่วนตัวและของหน่วยงานต่างๆ ทางโครงการฯจึงได้เร่งติดต่อ ประสาน สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ จัดนำเนื้อหาความรู้ที่มีอยู่ มาพัฒนาเป็นบทเรียนออนไลน์ โดยเจ้าของเนื้อหาวิชา(Content Provider) ที่เป็นแหล่งความรู้ทั้งหลายนั้น จะมีความเด่นในเนื้อหาด้านต่างๆ ครอบคลุมทั้งด้านวิชาการและวิชาชีพ ตลอดจนความรู้ที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น

2.ระบบบริหารการเรียน
เนื่องจากการเรียนแบบออนไลน์หรือ e-learning นั้นเป็นการเรียนที่สนับสนุนให้ผู้เรียนได้ศึกษา เรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง ระบบบริหารการเรียนที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลาง กำหนดลำดับของเนื้อหาในบทเรียน นำส่งบทเรียนผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ไปยังผู้เรียน ประเมินผลความสำเร็จของบทเรียน ควบคุม และสนับสนุนการให้บริการทั้งหมดแก่ผู้เรียน จึงถือว่าเป็นองค์ประกอบของ e- learning ที่สำคัญมาก โดยจัดเตรียมหลักสูตร, บทเรียนทั้งหมดเอาไว้พร้อมที่จะให้ผู้เรียนได้เข้ามาเรียน เมื่อผู้เรียนได้เริ่มต้นบทเรียนแล้วระบบจะเริ่มทำงานโดยส่งบทเรียนตามคำขอของผู้เรียนผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์(อินเทอร์เน็ต, อินทราเน็ต หรือเครือข่ายคอมพิวเตอร์อื่นๆ) ไปแสดงที่ Web browser ของผู้เรียน จากนั้นระบบก็จะติดตามและบันทึกความก้าวหน้า รวมทั้งสร้างรายงานกิจกรรมและผลการเรียนของผู้เรียนในทุกหน่วยการเรียนอย่างละเอียด จนกระทั่งจบหลักสูตร

3.การติดต่อสื่อสารการเรียนทางไกล

โดยทั่วไปแล้วมักจะเป็นการเรียนด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องเข้าชั้นเรียนปกติ ซึ่งผู้เรียนจะเรียนจากสื่อการเรียนการสอนประเภทสิ่งพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และสื่ออื่นๆ การเรียนแบบ e-learning ก็เช่นกันถือว่าเป็นการเรียนทางไกลแบบหนึ่ง แต่สิ่งสำคัญที่ทำให้ e-learning มีความโดดเด่นและแตกต่างไปจากการเรียนทางไกลทั่วๆไปก็คือการนำรูปแบบการติดต่อสื่อสารแบบ 2 ทาง มาใช้ประกอบในการเรียนเพื่อเพิ่มความสนใจความตื่นตัวของผู้เรียนที่มีต่อบทเรียนให้มากยิ่งขึ้น และเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้ผู้เรียนได้ติดต่อ สอบถาม ปรึกษาหารือ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างตัวผู้เรียนกับครู อาจารย์ผู้สอน และระหว่างผู้เรียนกับเพื่อนร่วมชั้นเรียนคนอื่นๆ

4.การสอบ/วัดผลการเรียน

โดยทั่วไปแล้วการเรียนไม่ว่าจะเป็นการเรียนในระดับใดหรือเรียนวิธีใดก็ย่อมต้องมีการสอบ/การวัดผลการเรียนเป็นส่วนหนึ่งอยู่เสมอ ดังนั้นการสอบ/วัดผลการเรียนจึงเป็นส่วนประกอบสำคัญที่จะทำให้การเรียนแบบ e-learning เป็นการเรียนที่สมบูรณ์ ซึ่งการจัดการเรียนการสอนแบบ e – learning จะมีระบบการบริหารการเรียนที่จะสามารถทดสอบ โดยเรียกข้อทดสอบนั้นๆมาจากระบบบริหารการเรียนที่เรียกว่า ระบบคลังข้อสอบ (Test Bank System) นำมาทดสอบได้เลย ซึ่งจะทำให้การวัดผล ประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

 

 

แหล่งค้นคว้าอ้างอิง

พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ, พ.ศ. 2542

กรมการศึกษานอกโรงเรียน, ชุดวิชาวิจัยทางการศึกษานอกโรงเรียน, กรุงเทพมหานคร: บริษัทประชาชน, 2538

เจนภพ มณีนาค, องค์กรของท่านพร้อมหรือยังสำหรับ e – learning , ตีพิมพ์ในหนังสือ

E – ECONOMY, ปีที่ 1 ฉบับที่ 27 1 – 15 ธันวาคม 2544 หน้า 46

กระทรวงศึกษาธิการ, สำนักนโยบายและพัฒนาสถาบัน, สำนักงานสภาสถาบันราชภัฏ

สรรรัชต์ ห่อไพศาล, การจัดกาเรียนการสอนผ่านเว็บ, วารสารศรีปทุมปริทัศน์, กรกฎาคม – ธันวาคม, 2544

http://www.thai2learn.com/elearning/index.php

http://www.thaiwbi.com

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 



แหล่งอ้างอิง : ภูริช,E-learning,โรงเรียนบ้านศรีดอนไชย

โดย : นาย ภูริช เชื้อสุยะ, ร.ร.บ้านศรีดอนไชย อ.ลอง จ.แพร่, วันที่ 17 มกราคม 2547