header

เมื่อ E นำ I เทคโนโลยีทางการศึกษาไทยจะเป็นอย่างไร ?

อ.ปริญเนตร สุวรรณศรี วศ.บ.,นศ.บ.

ขึ้นต้นว่า E กับ I อย่างนี้ มิใช่ว่าจะเป็นเรื่องของคำว่า ไอ้ (I) กับ อี (E) ในภาษาไทยแต่อย่างใด แต่บทความนี้เป็นเรื่องของวิวัฒนาการในเรื่องของเทคโนโลยีทางการศึกษาของไทยว่ามีความเป็นมาอย่างไรในอดีต เป็นอยู่อย่างไรในปัจจุบันและจะเป็นไปอย่างไรในอนาคต โดย อี ก็คือ Electronic และ ไอ ก็คือ Instructionเทคโนโลยีการศึกษาปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic) เข้ามาใช้อย่างมากมาย เครื่องมืออุปกรณ์และเทคนิควิธีการสมัยใหม่ถูกนำมาใช้ทางการศึกษาจนกลายเป็นยุคของอีเลินเนิ่ง (e-Learning) และให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้มากกว่า Learning by doing หรือ Learning how to learn ตามแนวคิดของ Instructional Technology ในอดีต

ยุคที่ผ่านมาของเทคโนโลยีการศึกษา

เทคโนโลยีการศึกษาของไทยแต่เดิมจะถือได้ว่าเริ่มต้นมาตั้งแต่เอ (Audio Visual) ที่ตีความหมายเป็นภาษาไทยว่า โสตทัศนศึกษา ขณะที่ในต่างประเทศการเรียนการสอนของเทคโนโลยีการศึกษาจะเน้นไปที่ไอ (Instructional) และพัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีการศึกษาก็ดำเนินแนวทางไปในแนวทางการพัฒนาระบบการเรียนการสอนทั้งสิ้น โดยมีแนวคิดพื้นฐาน Programme Instruction เรียกในภาษาไทยว่า บทเรียนโปรแกรม ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการนำเอาเทคนิควิธีการและเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาประยุกต์ใช้ทางการศึกษา เป็นจุดเริ่มต้นของการเปิดสอนสาขานี้ที่เรียกชื่อแตกต่างกันไปInstructional System Technology : IST =เทคโนโลยีระบบการสอน เป็นชื่อสาขาวิชาทางด้านเทคโนโลยีการศึกษาในหลายมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในต่างประเทศ โดยการเรียนการสอนเน้นการออกแบบ วิจัยและพัฒนาระบบการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบInstructional System Design : ISD = การออกแบบระบบการเรียนสอน อันเป็นแกนหลักของสาขาเทคโนโลยีการศึกษา ผู้เรียนในสาขานี้ไม่ว่าจะเรียกชื่อแตกต่างกันไปอย่างไรก็ตามจะต้องเรียนรู้และศึกษาวิธีการในการออกแบบการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบ เพื่อสร้างกระบวนการคิดและการออกแบบพัฒนาการเรียนการสอนอย่างเป็นกระบวนการ เป็นระบบและมีขั้นตอนInstructional Design : ID = การออกแบบการสอน เป็นความหมายเดียวกันกับ ISD เป็นวิชาหลักหรือแกนหลักของสาขาเทคโนโลยีการศึกษาเช่น

  • Instructional Technology เทคโนโลยีการสอนเป็นชื่อที่เรียกขานสาขาและภาควิชาหลาย ๆ แห่ง เนื่องจากเทคโนโลยีการศึกษาถูกมองในลักษณะของการใช้นำเอาเทคโนโลยีมาใช้เพื่อการเรียนการสอน จึงมีการใช้คำว่าเทคโนโลยีการสอนเพื่อเฉพาะเจาะจง และเป็นสาขาที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางและเปิดสอนในมหาวิทยาลัยโดยทั่วไป
  • Intelligence Computer-Assisted Instruction : ICAI คอมพิวเตอร์ช่วยสอนอัจฉริยะ เป็นแนวคิดสูงสุดของนักเทคโนโลยีการศึกษาที่เชื่อว่า เมื่อพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ช่วยสอนไปจนสามารถทำให้คอมพิวเตอร์ฉลาดได้เหมือนกับคนและตอบสนองต่อการเรียนรู้ได้ดังใจปรารถนา เหมือนกับมีครูผู้เชี่ยวชาญมาสอน บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนก็จะเป็นคอมพิวเตอร์ช่วยสอนแบบอัจฉริยะ ซึ่งในปัจจุบันยังทำไม่ได้
  • IMCAI : Interactive Multimedia Computer-Assisted Instruction เป็นอีกแนวคิดหนึ่งของนักเทคโนโลยีการศึกษา ที่เมื่อมองเห็นว่าคอมพิวเตอร์ช่วยสอนยังไปไม่ถึงระดับอัจฉริยะก็มองว่า ความเป็นมัลติมีเดียของคอมพิวเตอร์ช่วยสอน ก็มีศักยภาพเพียงพอสำหรับช่วยให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพ ก็เป็นอีกแนวคิดหนึ่งที่ได้รับการยอมรับ

 

Information Technology แม้จะมองว่ากลายเป็นอีกศาสตร์หนึ่งที่ถูกจัดกลุ่มใหม่และตั้งเป็นสาขาและศาสตร์ของตนเอง แต่เทคโนโลยีสารสนเทศก็ยังต้องจัดเป็นสิ่งที่นักเทคโนโลยีการศึกษายอมรับและเข้ามาใช้อย่างเต็มที่ ถือเป็นหน่วยหนึ่งที่จะต้องเรียนรู้และประยุกต์เข้ามาใช้ทางการศึกษาและเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้ยุคของไอ เริ่มลดบทบาทและความสำคัญลง จนถึงถูกมองว่าเทคโนโลยีการศึกษาเข้าสู่ยุคของอีในปัจจุบัน

Internet การเข้ามาของอินเทอร์เน็ตกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้งหนึ่งของเทคโนโลยีการศึกษา การเชื่อมโยงเครือข่ายคอมพิวเตอร์เข้าด้วยกันทั้งโลก ข้อมูลข่าวสารที่หลั่งไหลผ่านทางด่วนข้อมูล (Information Super Highway) การสื่อสารโดยตรงไม่ว่าจะเป็นด้วย IRC : Internet Relay Chat ,ICQ ทำให้เทคโนโลยีการศึกษาต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดและการจัดการนวัตกรรมเพื่อให้ทันกับการเข้าสู่ยุคที่เรียกว่า อีเลินนิ่ง การเรียนการสอนผ่านเว็บ (Web-based Instruction) ที่นำเอาเว็บมาช่วยในการสอนกลายเป็นประเด็นใหม่ที่ต้องศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจัง และนำเทคโนโลยีการศึกษาเข้าสู่ยุคอีในที่สุด

 

 

ยุคเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการศึกษา

แนวโน้มการศึกษาที่เปลี่ยนแปลงแนวคิดจากการใช้เทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความสามารถทางสติปัญญาสูงขึ้นหรือเพิ่มไอคิว (IQ) มาเป็นการส่งเสริมผู้เรียนให้มีความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) เรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข เทคโนโลยีที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มของยุคอี อาทิ คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต วีดิโอคอนเฟอเรนท์ มัลติมีเดีย ดาวเทียมเพื่อการศึกษา ฯลฯ ล้วนเป็นสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เข้ามามีบทบาทอย่างยิ่งต่อระบบการศึกษา นำเข้ามาใช้ไม่เฉพาะการติดต่อสื่อสารแต่นำมาใช้เพื่อการเรียนรู้คือที่เรียกกันในปัจจุบันว่า อี-เลินนิ่ง

e-Learning อีเลินนิ่งหรือ Electronic Learning อาจจะดูเป็นแนวคิดทางการศึกษาแบบใหม่ ที่เกิดขึ้นจากความก้าวหน้าทางด้านคอมพิวเตอร์ออนไลน์ ทำให้เกิดการเรียนการสอนระบบต่าง ๆ และมีชื่อเรียกขานแตกต่างกันไปไม่ว่าจะเป็น การเรียนการสอนผ่านเว็บ (Web-based Instruction),การเรียนการสอนออนไลน์ (On-line Learning), การเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต (Internet-based Instruction) หรือแม้แต่จะเรียกว่า คอมพิวเตอร์ช่วยสอนบนเว็บ (CAI on Web) แต่ละแบบจัดเป็นรูปแบบของการเรียนรู้ผ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ทั้งสิ้น

ความหมายของอีเลินนิ่งมีมุมมองที่แตกต่างกันไปหลายความหมาย แต่อาจกล่าวสรุปได้ว่าe-Learning หมายถึง การจัดกระบวนการและการใช้ประโยชน์จากสื่อทางอิเล็กทรอนิกส์โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์และระบบอินเทอร์เน็ต ที่ออกแบบการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ได้ทุกที่ไม่ยึดติดกับเวลาและความก้าวหน้าในการเรียนรู้

จึงทำให้มีความพยายามพัฒนาการเรียนการสอนแบบออนไลน์มากขึ้น ซึ่งการสร้างเว็บเพื่อการเรียนการสอนก็เป็นส่วนหนึ่งของ e-Learing เมื่ออินเทอร์เน็ตมีการใช้งานอย่างกว้างขวางและเห็นความสำคัญมากขึ้น ก็ถูกนำไปใช้ในวงการต่าง ๆ ยุคของอีก็ยิ่งแพร่ขยายและมีความสำคัญมากขึ้นตามลำดับ ถึงขนาดที่รัฐบาลประกาศเป็นนโยบายที่จะนำการบริหารในลักษณะที่เป็นรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government) และนำระบบราชการไปสู่อี-ไทยแลนด์ (e-Thailand) และเชื่อมโยงระหว่างรัฐบาลแต่ละประเทศโดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียนให้เป็นอี-อาเซียน (e-ASIAN) ซึ่งเป็นกลยุทธ์เชิงบูรณาการที่เชื่อมโยงและประสานทุกสิ่งทุกอย่างตั้งแต่ระดับจุลภาคหรือรากหญ้า ไปจนถึงระดับมหภาคหรือระดับโลก โดยใช้ อิเล็กทรอนิกส์ เป็นเครื่องมือ

กลยุทธ์ในการพัฒนาประเทศตามกรอบนโยบายการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศของชาติ ที่นำเราเข้าสู่ยุคอีอย่างเด่นชัดก็คือ กรอบนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศระยะ พ.ศ.2544-2553 ของประเทศไทย (สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติ, 2545) ได้มีการแบ่งออกเป็น 5 กรอบใหญ่ ๆ ได้แก่
1. เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาด้านภาครัฐ (e-Government)
2. เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาด้านการพาณิชย์ (e-Commerce)
3. เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาด้านอุตสาหกรรม (e-Industry)
4. เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาด้านการศึกษา (e-Education)
5. เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาด้านสังคม (e-Society)

กรอบความคิดที่นำมาสู่นโยบายต่าง ๆ ของรัฐอันจะนำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศ และการ สื่อสารเข้ามาเป็นสู่การปฏิบัติจริง รวมถึงการตั้งกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในนโยบายปฏิรูประบบราชการยิ่งแสดงความชัดเจนของยุคอีนำเข้าสู่การศึกษาให้เด่นชัดขึ้นไปอีก โดยเฉพาะการพัฒนาด้านการศึกษาที่แสดงในเรื่องของอี-เอ็ดดูเคชั่น

 

ตารางสองยุค ยุคอีกับยุคไอ

ยุค I

ยุค E

IQ = intelligence quotient
ICAI = Intelligence Computer Assisted Instruction
IMCAI = Interactive Multimedia CAI
ID = Instructional Design
ID = Instructional Development
ISD = Instructional System Development
IT = Information Technology
ICT = Information and Communication Technology
Information Super Highway
Internet
IRC, ICQ


EQ = emotional quotient
EIS : Educational Information System
e-Commerce
e-Mail
e-Card
e-Book
e-Learning
e-Education
e-Society
e-Industry
e-Government
e-Thailand
e-ASIAN

บทสรุป

เมื่อเทคโนโลยีการศึกษาเข้าสู่ยุคอีหมายความว่า จะเลิก ละทิ้ง หรือลดความสำคัญของยุคไอลงไปหรือไม่ ในทางตรงกันข้ามหลักการและทฤษฎีที่ดำเนินมาอย่างเข้มแข็งในยุคไอ เป็นสิ่งที่จะต้องนำมาใช้เป็นหลักการและทฤษฎีพื้นฐานสำหรับเทคโนโลยีการศึกษายุคอี เพราะยุคอีเป็นเพียงแนวคิดและเครื่องมืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใหม่ ๆ ที่ต่อไปก็จะมีการเปลี่ยนแปลงต่อไปอีกอย่างไม่หยุดนิ่งยึดถือเป็นสรณะทุ่มเทหรือมุ่งให้เป็นสื่อนำยังไม่อาจสรุปได้ เหมือน ๆ กับสื่อจำนวนมากในอดีตที่เข้ามาแล้วก็ผ่านพ้นไป จนบัดนี้บางคนยังไม่รู้จัก จำไม่ได้หรือยังไม่เคยมาก่อน

ยุคอีเป็นยุคแห่งความทันสมัยก้าวหน้าและล้ำยุค แต่ยังไม่มีหลักการหรือแนวคิดที่ชัดเจนกำหนดลงไปได้มากนักในสื่อแต่ละประเภท การศึกษาค้นคว้าและวิจัยเพื่อนำไปสู่ทฤษฎีสำหรับนำสื่อยุคอีมาใช้ทางการศึกษายังเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินต่อไป โดยไม่รู้ว่าต่อไปจะมียุคใดเข้ามาอีกและทฤษฎีหลักการเฉพาะสำหรับยุคอีจะยังใช้ได้อยู่หรือไม่ ในขณะที่ยุคไอที่ศึกษาและพัฒนาระบบการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบมาอย่างต่อเนื่องหลายสิบปี สามารถนำเอาทฤษฎีและหลักการทั้งหมดมาปรับประยุกต์และใช้งานร่วมกับเครื่องมืออุปกรณ์ทันสมัยต่าง ๆ ยุคอีได้อย่างกลมกลืน แท้จริงแล้วทุกยุคสมัยที่ผ่านมาก็พึ่งพาหลักการและทฤษฎีพื้นฐานของยุคไอ ยุคแห่งการพัฒนาการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบโดยนำเทคโนโลยีมาเป็นเพียงเครื่องมือเพื่อการเรียนรู้ทั้งสิ้น

รายการอ้างอิง

ทวีศักดิ์ กออนันตกูล. นโยบาย e-Education. กรุงเทพมหานคร : ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ, 2545.
เลขานุการคณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติ, สำนักงาน. กรอบนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศ ระยะ 2544-2553 ของประเทศไทย.
กรุงเทพมหานคร : ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ, 2545.
American Society of Training Development. Definition of e-Learning, 2000.
Available from : [online]
http://www.astd.org

ดร.ปรัชญนันท์ นิลสุข (ศษ.บ.โสตทัศนศึกษา, กศ.ม.เทคโนโลยีทางการศึกษา, ค.ด.เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา)
หัวหน้าคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม วิทยาลัยเทคนิคสมุทรสงคราม


ที่มา : อ.ปริญเนตร สุวรรณศรี บัณฑิตศึกษา เอกหลักสูตรและการสอน (ทั่วไป ) มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์

โดย : นาย ปริญเนตร สุวรรณศรี, สถาบันราชภัฏอุตรดิตถ์, วันที่ 16 มกราคม 2547