ช้างลาดตระเวนป่า

ช้างลาดตระเวนป่า : อีกหนึ่งความพยายามแก้ปัญหาช้างเร่ร่อน

           สีดอคำมูลและพลายน้อย ช้างเพศผู้อายุ 40 และ 25 ปี เคยทำงานลากไม้อยู่ที่ อ. ท่าสองยาง จ. ตาก แต่เมื่อรัฐบาลประกาศยกเลิกสัมปทานทำไม้ทั่วประเทศเมื่อปี 2532 กลายเป็น “ช้างตกงาน”

        นายเผ่น ติสี และนายสมศักดิ์ สุรินทร์ไชย ผู้เป็นควาญของสีดอคำมูลและพลายน้อยบอกว่าถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไปพวกเขาคงพาพวกมันไปเร่ร่อนหาเงินในตัวเมืองเชียงใหม่เพื่อบริการนักท่องเที่ยว

            เมื่อเจ้าหน้าที่ป่าไม้มาชักชวนให้ไปช่วยลาดตระเวนอุทยานแห่งชาติแม่ยม จ.แพร่ “โครงการนำช้างเลี้ยงไปใช้ในการลาดตระเวนเพื่อการอนุรักษ์”เมื่อคิดว่าโครงการนี้เป็นประโยชน์ทั้งต่อควาญและช้าง กล่าวคือ ควาญจะได้รับเงินเดือนประจำในฐานะลูกจ้างประจำของกรมป่าไม้ส่วนช้างก็มีน้ำท่าอุดมสมบูรณ์ได้เดินบนผืนดินนุ่มเท้าแทนที่ต้องเร่ร่อนไปบนถนนคอนกรีต

             เจ้าของการ คือ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชและภาคีช้างไทยซึ่งเป็นการรวมตัวขององค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านการอนุรักษ์ช้างมองว่าช้างจะช่วยส่งเสริมการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ในการตรวจพื้นที่ทุรกันดาร ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการปกป้องดูแลผืนป่าอนุรักษ์ อำนวยความสะดวกในการทำงานของนักวิจัยพืชสัตว์ป่าและระบบนิเวศได้ด้วย

             นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกล่าวถึง โครงการนำช้างเลี้ยงมาลาดตระเวนป่านี้จะทำให้ช้างและควาญมีงานทำ อยู่ในธรรมชาติที่ควรอยู่ เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหาช้างเร่ร่อน

             ขณะนี้สถานการณ์ช้างเลี้ยงอยู่ในขั้นวิกฤต กล่าวคือ จำนวนช้างเลี้ยงลดลง     30 % ปัจจุบันช้างเลี้ยงมีจำนวนประมาณ 2460 เชือก โดยยังคงมีจำนวนช้างล้มตายอยู่เสมอดังที่ปรากฎเป็นข่าว สาเหตุหลักมาจากการประสบอุบัติเหตุ

             หลายฝ่ายได้ข้อสรุปตรงกันว่าปัญหาช้างเร่ร่อนเกิดจากการที่ควาญช้างว่างงานและขาดรายได้

             แม้จะเป็นโครงการที่สร้างความหวังให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ช้างแต่การนำช้างไปลาดตระเวนป่านี้มีข้อจำกัดหลายประการด้วยกัน เนื่องจากป่าอนุรักษ์บางแห่งมีช้างป่าอาคัยอยู่การนำช้างบ้านเข้าไปอยู่ในพื้นที่เดียวกันจึงอาจจะทำให้เกิดปัญหาได้

             กรมอุทยานฯ จึงตั้งหลักเกณฑ์การคัดเลือกพื้นที่ป่าว่า จะต้องมีแหล่งน้ำและอาหารเพียงพอเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศและสภาพธรรมชาติ

            เมื่อมีข้อจำกัดเช่นนี้ ผู้ที่ทำงานด้านการอนุรักษ์ช้างจึงประเมินว่าโครงการนำช้างไปลาดตระเวนป่าอาจจะรองรับช้างตกงาน ช้างที่ถูกใช้งานอย่างทารุณในธุรกิจการท่องเที่ยวได้จำนวนไม่มากนัก

             การช่วยเหลือช้างที่ถูกใช้งานผิดประเภทจึงไม่อาจฝากความหวังไว้กับโครงการนี้อย่างเดียวได้ สังคมไทยยังคงต้องคิดค้นมาตราการอื่นๆเพื่อรักษาชีวิตของช้างบ้านจำนวน2000 กว่าเชือกสุดท้ายนี้เอาไว้

 

 


ที่มา : หนังสือสารคดี ปีที่19 ฉบับ 210 - 220 เม.ย. - มิ.ย. 46

โดย : นาย เอกวิทย์ สาโส๊ะ, ราชภัฏสงขลา, วันที่ 31 มกราคม 2546