มะเร็งในช่องปาก

มะเร็งในช่องปาก

ทญ.สุมนา สวัสดิ์-ชูโต


พูดถึง "มะเร็ง" ทุกท่านคงทราบดีว่าเป็นโรคที่น่ากลัว เพราะผู้ที่เป็นส่วนมากจะไม่รู้ตัว ไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดโรค และยังไม่มียารักษา ดังนั้นเมื่อเป็นแล้ว จึงมักลงเอยด้วยการเสียชีวิต

แต่โรคมะเร็งใช่ว่าจะรักษาไม่ได้เสียเลย มะเร็งบางที่ เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม ถ้าตรวจพบตั้งแต่แรกเริ่มเป็น เมื่อผ่าตัดออกก็จะหายขาดได้ ดังนั้นจึงควรตรวจสุขภาพร่างกาย เป็นประจำทุกปี ไม่ควรปล่อยปละละเลย เพราะแพทย์จะได้ตรวจพบโรคแต่แรกเริ่ม การรักษาจะไม่ยุ่งยาก และมีโอกาสหายขาดจากโรคได้

ที่กล่าวว่าโรคมะเร็งมักเป็นโดยไม่ทราบสาเหตุก็ไม่ถูกต้องนัก เมื่อซักประวัติผู้ที่เป็น มะเร็ง อย่างละเอียด มักพบปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค เช่น มะเร็งปอดมักเกิดกับ ผู้ที่สูบบุหรี่จัด หรือทำงานที่เกี่ยวกับควัน และสารพิษ มะเร็งตับมักเป็นกับผู้ที่ดื่มสุราจัด เป็นต้น เมื่อทราบปัจจัยเสี่ยงก็ควรป้องกันหรือหลีกเลี่ยงให้พ้นจากความเสี่ยงนั้น การเกิดมะเร็ง ก็จะน้อยลงไปด้วย

เมื่อเร็ว ๆ มีรายงานการวิจัยว่า ความเครียดก็ทำให้เกิดโรคมะเร็งได้ และโรคมะเร็งนี้ เกี่ยวกับพันธุกรรมด้วย ดังนั้น ท่านที่เครียดมากควรหาทางผ่อนคลายเครียดลงบ้าง อาจใช้วิธีออกกำลังกาย หรือฝึกสมาธิ ปฏิบัติธรรมก็จะลดความเครียดลงได้ ส่วนผู้ที่มีพี่น้องพ่อแม่เป็นโรคมะเร็ง ก็ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดมะเร็ง ด้วย เพราะท่านอาจมีโอกาสเป็นโรคมะเร็งได้มากกว่าผู้ที่ไม่มีคนในครอบครัวเป็นมะเร็ง

มะเร็งในช่องปากมักพบในคนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป และพบน้อยลงหลังจากอายุ 60 ปีไปแล้ว แต่ปัจจุบันนี้ประชากรผู้สูงอายุมีมากขึ้น อาจจะพบมะเร็งในช่องปาก ในผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นได้

มะเร็งในช่องปาก เป็นได้ตั้งแต่ริมฝีปาก ลิ้น กระพุ้งแก้ม กระดูกขากรรไกร และส่วนบนของ ลำคอ มักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง อาจจะเป็นเพราะผู้ชาย มีปัจจัยเสี่ยงมากกว่า เช่น ชอบสูบบุหรี่ ดื่มสุรา ละเลยการตรวจสุขภาพร่างกาย

อัตราการเกิดมะเร็งในช่องปากถูกจัดอยู่ในอันดับต้น ๆ ของมะเร็งทั้งหมด ที่พบบ่อย คือมะเร็งของลำคอส่วนบน มะเร็งที่ลิ้น และริมฝีปาก

พฤติกรรมเสี่ยงที่สำคัญของโรคมะเร็งในช่องปาก คือ การสูบบุหรี่และดื่มสุรา การรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่ร้อนจัดเกินไป และการละเลยต่อสุขภาพในช่องปาก

ความร้อนที่มาจากอาหาร ควันบุหรี่ และแอลกอออล์ จะทำให้เกิดการระคายเคือง ต่อเนื้อเยื่ออ่อนในช่องปาก เมื่อถูกระคายเคืองอยู่เป็นประจำ ทำให้เนื้อเยื่อเปลี่ยนแปลง ไปจากเดิม และอาจทำให้กลายเป็นเซลล์มะเร็งได้

  • เนื้อเยื่อที่มักมีผลกระทบจาก ความร้อน คือบริเวณกระพุ้งแก้ม เพดาน และลำคอ
  • ผู้ที่สูบบุหรี่จัดมักเป็นมะเร็งบริเวณกระพุ้งแก้ม หรือเพดาน
  • ส่วนผู้ที่รับประทานอาหารร้อนจัดและดื่มสุรา จะมีโอกาสเป็นมะเร็งในช่องปาก มากกว่าคนทั่วไป 2 เท่า
  • แต่ถ้าเป็นผู้หญิงจะมีโอกาสเป็นมะเร็งในช่องปาก ได้สูงกว่าผู้ชาย ที่มีพฤติกรรมเดียวกัน ถึง 3 เท่า

ความเสี่ยงของการเป็นมะเร็ง เพิ่มในตามจำนวนบุหรี่ที่สูบต่อวันและจำนวนปีที่สูบ การดื่มสุราก็เช่นกันขึ้นกับปริมาณที่ดื่ม ยิ่งดื่มมากโอกาสเสี่ยงก็มีมากขึ้น

คนที่สูบบุหรี่ ซิการ์หรือไปป์ และคาบบุหรี่หรือไปป์ ตลอดเวลา ความร้อนที่เกิดอาจทำให้เกิดมะเร็งที่ริมฝีปากได้

การสูบบุหรี่และดื่มสุราเป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับมะเร็งช่องปากมากที่สุดถ้าท่านเลิกสูบบุหรี่ ความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งช่องปากจะลดลงอย่างรวดเร็วและภายหลังเลิกแล้ว 10 ปี ความเสี่ยงจะเหมือนผู้ที่ไม่เคยสูบุหรี่มาก่อน

ผู้ที่กินหมาก และอมหมากไว้ที่กระพุ้งแก้มเป็นประจำ ปูนที่ใช้ทานกับหมาก จะกัดเนื้อเยื่อในช่องปาก และเกิดการระคายเคืองจากความแข็งของหมากที่เคี้ยว ก็อาจทำให้เซลล์ของเนื้เยื่อกระพุ้งแก้มเกิดการเปลี่ยนแปลงได้

ฟันก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งได้ ผู้ที่ที่มีฟันแตก ฟันบิ่น ขอบฟันที่คม จะบาดเนื้อเยื่อในช่องปาก โดยเฉพาะกระพุ้งแก้มและลิ้น ทำให้เป็นแผลเรื้อรังอยู่นาน ๆ แผลนั้นอาจกลายเป็นมะเร็งได้ โดยเฉพาะผู้ที่สุขภาพในช่องปากไม่ดี แปรงฟันไม่สะอาด มีหินปูน และคราบฟัน จะมีส่วนทำให้แผลกลายได้ง่ายขึ้น

ดังนั้นจึงควรตรวจเช็กสุขภาพช่องปากเป็นประจำปีละ 2 ครั้ง ทั้งนี้เพื่อสุขภาพของเนื้อเยื่อ และตรวจเช็กฟัน ถ้ามีความผิดปกติจะได้รักษาเสียแต่เนิ่น ๆ

อย่างไรก็ตามการป้องกันไม่ให้เกิดโรคเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ท่านได้ทราบปัจจัยเสี่ยง ที่ทำให้เกิดโรคแล้ว ควรเลิกสิ่งที่เป็นความเสี่ยงนั้น อาหารเพื่อสุขภาพสามารถป้องกันโรคมะเร็งช่องปากได้ ผลไม้สดจะช่วยลดความเสี่ยงได้ โดยเฉพาะวิตามิน A C และ E จึงควรรับประทานผลไม้สด และผักใบเขียวมาก ๆ และหมั่นตรวจสุขภาพช่องปากเป็นประจำทุก 6 เดือน ท่านก็จะมีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งช่องปากน้อยลง



แหล่งอ้างอิง : www.elib-online.com/doctors/ca_oral1.html

โดย : นางสาว วราพร พรหมอินทร์, มหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา, วันที่ 30 มกราคม 2546