ลักษณะ ไม้ล้มลุก อายุหลายปี สูง 30-90 ซม. ทั้งต้นมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ลำต้นเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีขนปกคลุม ใบเดี่ยวเรียงตรงข้าม ขอบใบหยักฟันเลื่อยห่างๆ ปลายแหลม กะเพรามี 3 พันธุ์ คือ กะเพราแดง กะเพราขาว และกะเพราลูกผสมระหว่างกะเพราขาวและกะเพราแดง ใบกะเพราแดงสีเขียวแกมม่วงแดง ส่วนใบกะเพราขาวสีเขียวอ่อน ดอกย่อยสีชมพูแกมม่วง ดอกกะเพราแดงสีเข้มกว่ากะเพราขาว
สารสำคัญ มีน้ำมันหอมระเหย ซึ่งประกอบด้วยสารหลายชนิด เช่น ocimol, eugenol, methyl eugenol, linalool เป็นต้น เป็นยาขับลมแก้ปวดท้อง ท้องเสีย และคลื่นไส้อาเจียน ฤทธิ์ขับลมเกิดจากน้ำมันหอมระเหย การทดลอง ในสัตว์แสดงว่าน้ำสกัดทั้งต้นมีฤทธิ์ลดการบีบตัวของลำไส้ สาร Eugenol ในใบ มีฤทธิ์ขับน้ำดี ช่วยย่อยไขมัน และลดอาการจุกเสียด
ส่วนที่ใช้ ใบหรือทั้งต้น ใบสมบูรณ์เต็มที่ นิยมใช้กะเพราแดงมากกว่า กะเพราขาว
รสและสรรพคุณยาไทย รสเผ็ดร้อน เป็นยาตั้งธาตุ แก้ปวดท้อง ท้องขึ้น จุกเสียดในท้อง ใช้แต่งกลิ่น แต่งรส
วิธีใช้ เด็กอ่อนใช้ใบสด 3-4 ใบ ใส่เกลือเล็กน้อย บดให้ละเอียดผสมน้ำผึ้ง หยอดให้เด็กอ่อนเพิ่งคลอด 2- 3 หยด เป็นเวลา 2 วัน จะช่วยขับลมและถ่ายขี้เทา สำหรับผู้ใหญ่ใช้ยอดสด 1 กำมือ ต้มพอเดือด ใช้ใบกะเพราแห้ง 1 กำมือ ( 4 กรัม ) ใบสดใช้ 25 กรัม ชงกับน้ำดื่มเป็นยาขับลม หรือป่นเป็นผงครั้งละ 1 ช้อนโต๊ะ ชงกับน้ำหรือใช้ใบสดแกงเลียงให้สตรีหลังคลอดรับประทาน
|
|