หัดหายใจให้เป็น

หัวข้อ : หัดหายใจให้เป็น
ข้อความ : บทความวันนี้อย่าได้คิดว่าเป็นเรื่องเล่นๆ หรืออย่าได้เข้าใจว่าก็คนเราเกิดมาแล้วก็ต้องหายใจด้วยกันทุกคน ทำไมจะต้องหัดหายใจกันอีก เพราะที่หายใจกันอยู่นั้นสักแต่ว่าหายใจได้เท่านั้นเอง เหมือนกับการหายใจของสัตว์เดรัจฉานทั้งหลาย คือไม่ต้องฝึกต้องฝนอะไรกัน ยังไม่อาจนับได้ว่าเป็นการหายใจเป็น

การหายใจให้เป็นมีผลมาก มีอานิสงส์มาก และมากเสียจนคาดคิดไม่ถึงด้วยซ้ำไป อย่างน้อยที่สุดทำให้คนเราเป็นอยู่อย่างสุขสบาย อย่างกลางก็ทำให้ห่างหายจากโรคภัย สูงขึ้นมาหน่อยก็อาจได้สัมผัสกับธรรมชาติอันลี้ลับเหนือวิสัยปุถุชน หรือถ้าสูงกว่านั้นก็อาจสัมผัสกับรสชาติของพระนิพพานได้ด้วย การที่จะได้รับผลและอานิสงส์ของการหายใจให้เป็นก็ต้องฝึก เหมือนกับการฝึกออกกำลังกาย ฝึกร้องเพลง ฝึกว่ายน้ำ หรือฝึกฝนอะไรเท่าที่เราจะต้องการนั่นแหละ ไอ้ที่จะเป็นขึ้นมาเองนั้นเห็นจะยาก

แต่เมื่อการหายใจให้เป็นมีผล มีอานิสงส์มากเช่นนี้ จึงควรที่คนเราจะได้ฝึกฝนหายใจให้เป็นเพราะไม่ได้เสียเวลาอะไรมาก ไม่ได้เสียค่าใช้จ่ายอะไร และสามารถสัมผัสกับความสงบสุขและความสร่างคลายจากทุกข์โศกโรคภัยได้ในทันทีโดยที่คาดคิดไม่ถึง ขอเพียงหายใจไว้ได้นานเท่าใด ตราบนั้นเป็นอันมั่นใจได้ว่ายังไม่ตาย และเมื่อใดที่ลมหายใจสิ้นสุดลงเมื่อนั้นเป็นอันว่าตายแน่ ดังนั้นจงเพียรพยายามหายใจเข้าไว้เถิด

กล่าวความข้างต้นประหนึ่งว่าเอากำปั้นทุบดินก็ใช่อยู่ แต่จำต้องกล่าวความทั้งนี้เพราะต้องการจะชี้ให้เห็นว่าลมหายใจมีความสำคัญต่อชีวิตถึงเพียงนี้แล้ว เรื่องราวใดๆ ที่เป็นไปในชีวิตของคนเราย่อมขึ้นอยู่กับลมหายใจเสียเป็นส่วนใหญ่ เป็นแต่ว่าคนเรามักจะไม่ค่อยสนใจหรือทำความเข้าใจกับลมหายใจเท่านั้น ลองถามตัวเองดูก็ได้ว่าในวันหนึ่งๆ หรือชั่วโมงหนึ่งๆ เรารู้สึกตัวหรือรู้ว่ากำลังหายใจอยู่สักเท่าใด ถ้าคิดเป็นเวลาจะถึง 3 นาทีหรือไม่ยังเป็นที่สงสัยกัน นั่นแสดงให้เห็นว่าลมหายใจแม้มีความสำคัญขนาดนี้ แต่คนเรากลับไม่ให้ความสนใจ จึงพลั้งเผอเรอไม่รู้ว่ากำลังหายใจอยู่

การฝึกหายใจให้เป็นมีเป้าหมายขั้นต้นอยู่ที่การรู้อยู่ตลอดเวลาหรือรู้ให้มากที่สุดว่าเรากำลังหายใจอยู่ และถ้าฝึกไปเรื่อยๆ ก็จะพบว่าเราจะรู้สึกตัวหรือรู้สึกว่าหายใจอยู่มากขึ้นนานขึ้นโดยลำดับ และอย่าได้คะเนเอาว่าเป็นเรื่องที่ง่ายดายนัก เพราะไม่ใช่เรื่องที่ง่ายดายเท่าใด แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นเรื่องยากเหลือวิสัย ทุกเมื่อที่รู้ว่ากำลังหายใจอยู่ขอให้รู้เถิดว่าขณะนั้นๆ เรามีสติอยู่กับเนื้ออยู่กับตัว จึงสามารถรับรู้ได้ว่ากำลังหายใจอยู่ และทุกเมื่อที่ไม่รู้สึกตัวหรือไม่รู้ว่ากำลังหายใจก็ขอให้รู้เถิดว่าขณะนั้นๆ สติเราไม่ได้อยู่กับเนื้อกับตัว มีความเผอเรอหรือเรียกว่าเป็นผู้มีสติเผอเรอ

เมื่อมีสติก็ไม่ตั้งอยู่ในความประมาท ย่อมห่างเหินไกลออกไปจากอุบัติภัยทั้งมวล และสามารถทำการงานทุกสิ่งอย่างด้วยความมีประสิทธิภาพและบังเกิดประสิทธิผลเต็มที่บริบูรณ์ แต่ถ้าสติเผอเรอก็จะกลายเป็นคนหลงลือเลอะเลือน ทำการใดๆ ก็เอาดีไม่ได้สักอย่างหนึ่ง เด็กนักเรียนเรียนหนังสือถ้าหากมีสติมั่นคงแล้ว เรียนก็ง่าย จำก็ไว เข้าใจก็ดี ผลสอบย่อมดีตามไปด้วย เหตุนี้ท่านจึงสอนว่าจงทำการทั้งปวงด้วยความมีสติ หรือแม้อยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไรก็ให้อยู่เฉยๆ ด้วยความมีสติ นั่นก็คือให้รู้ตัวว่าหายใจอยู่

ลมหายใจของคนเรามีอิทธิพลถึงขนาดเป็นตาย ดังนั้นความเหนื่อย ความเพลีย ความอ่อนล้า ความซึมเศร้า ความเซ็ง ความหม่นหมอง ความสำราญเบิกบานใจ ความสงบเยือกเย็น ความตื่นเต้น ความเร้าใจ หรือความสงบขั้นประณีต จึงเกี่ยวข้องด้วยอิทธิพลของลมหายใจทั้งสิ้น ลองสังเกตตัวเองก็จะพบความจริงด้วยตนเองได้ว่า ยามใดที่ตื่นเต้นตกใจ ยามนั้นลมหายใจจะสั้น ถี่และหยาบ ยามใดที่เบิกบานใจ ลมหายใจจะยาวสม่ำเสมอ ยามใดที่มีความพยาบาทคิดทุบตีทำร้ายคน ยามนั้นลมหายใจจะสั้นและกระชาก ยามใดที่ใจมีความเมตตาปรารถนาช่วยผู้อื่นให้พ้นจากความทุกข์ ยามนั้นลมหายใจจะยาวและถี่

ยามใดที่มีความซึมเศร้าเหงาหงอยสุดเซ็ง ยามนั้นลมหายใจจะอยู่กึ่งสั้นกึ่งยาว แต่มีลักษณะตะกุกตะกักเหมือนคนสะอึก เหล่านี้เป็นอาการที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ บ่งบอกความสัมพันธ์ระหว่างร่างกาย ลมหายใจ และจิตใจของคน จะว่าเป็นกฎธรรมชาติก็ได้ และต้องถือว่านี่คือกฎของความสัมพันธ์ของสามสิ่ง คือ ร่างกาย ลมหายใจ และจิตใจคน ก็แลเมื่อได้รู้ว่านี่คือกฎของธรรมชาติในเรื่องนี้แล้ว วิสัยมนุษย์ซึ่งเป็นเวไนยสัตว์จึงมีวิสัยที่จะใช้ประโยชน์จากกฎธรรมชาตินี้ให้เป็นประโยชน์แก่ชีวิตและตัวเอง ตลอดจนเพื่อนมนุษย์ได้

นั่นก็คือยามใดที่รู้ตัวว่ามีความไม่ปกติเกิดขึ้น ไม่ว่าเหนื่อย หอบ ตื่นเต้น ตกใจ ซึมเศร้าเหงาหงอยเซ็ง หรือมีความโกรธ ความอาฆาตคิดทำร้ายผู้คน ซึ่งยามนั้นลมหายใจจะมีลักษณะดังที่ได้แสดงมาแล้ว เหตุนี้เมื่อจะแก้ไขให้ความไม่ปกตินี้หายเป็นปกติ จึงสามารถทำได้โดยง่าย นั่นคือการบังคับลมหายใจจากสภาพที่ไม่เป็นปกติให้เป็นปกติเสีย

เมื่อลมหายใจเป็นปกติแล้วอาการเหนื่อยหอบ ตื่นเต้น ตกใจ ซึมเศร้าเหงาหงอย เซ็ง โกรธ อาฆาต พยาบาท คิดทำร้ายผู้คน ก็จะหายกลายเป็นปกติดังปลิดทิ้ง นี่เป็นสิ่งที่สามารถทดลองดูได้และได้ผลทันตาเห็น การทดลองง่ายๆ ในเบื้องต้นเพื่อให้เห็นถึงผลอย่างชัดเจนก็จงลองเดินหรือวิ่งให้เหนื่อย แล้วบังคับลมหายใจให้เป็นปกติ ในทันทีที่ลมหายใจเป็นปกติ อาการเหนื่อยก็จะหายไปราวปลิดทิ้งเป็นที่อัศจรรย์

บางคนตื่นขึ้นในยามดึก มีอาการเหนื่อย หายใจแทบไม่ทัน นี่เป็นอาการที่จะนำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลวหรือหัวใจวาย ใครมีอาการเช่นนี้เห็นจะต้องรีบศึกษาฝึกฝนการหายใจเป็นการด่วน นั่นคือเมื่อมีอาการเช่นนี้เกิดขึ้นก็ต้องรีบตั้งสติแล้วบังคับลมหายใจให้เป็นปกติ ภายใน 1 นาที อาการก็จะหายไป ที่เรียกว่าลมหายใจปกตินั้นก็คือการหายใจยาว สม่ำเสมอ ไม่ถี่ พอเป็นที่สบาย หากจะประมาณระยะทางที่ลมหายใจเข้าตั้งแต่ปลายจมูกเห็นจะลึกลงไปประมาณหนึ่ง คืบ นี่เรียกว่าลมหายใจปกติ บังคับลมหายใจให้เป็นปกติได้เมื่อใดความไม่เป็นปกติก็จะหายไปในทันที และใช้ระยะเวลาไม่มากนักเพียง 1 นาทีและไม่เกิน 2 นาทีก็จะเห็นผลทันตา

นั่นเป็นเพียงลมหายใจปกติ ซึ่งคนปกติที่หายใจได้ก็หายใจได้เช่นนั้น เป็นแต่ว่าโดยทั่วไปคนเราไม่รู้จักกฎของลมหายใจ ซึ่งเป็นธรรมชาติที่พระพุทธเจ้าได้ค้นพบมานานแล้ว

เมื่อรู้จักบังคับลมหายใจจากไม่ปกติให้เป็นปกติแล้ว ก็อาจใช้กฎของลมหายใจต่อไปในทางที่จะเป็นคุณเป็นประโยชน์แก่ร่างกายและชีวิต นั่นคือฝึกฝนให้ลมหายใจเข้าออกยาว สม่ำเสมอ ละเอียด ไหลรี่เหมือนกับกระแสน้ำไหล ยิ่งละเอียดประณีตเท่าใดก็จะพบกับความสงบ ความเยือกเย็น ความสบายมากขึ้นเท่านั้น ขั้นนี้ยังกล่าวว่าเป็นการบังคับ เหตุที่ต้องบังคับก็เพราะว่าคนเราคุ้นเคยกับสภาพที่หายใจได้ตามปกติ ซึ่งไม่ได้ประโยชน์สมกับที่เป็นชาวพุทธ ไม่ก่อประโยชน์แก่สุขภาพและชีวิต ดังนั้นจึงต้องบังคับกันก่อนเหมือนกับการบังคับเด็กให้เรียนหนังสือ หรือครูพละบังคับเด็กให้ออกกำลังกาย เมื่อคุ้นเคยดีแล้วก็ไม่จำต้องบังคับกันต่อไป เพียงแค่น้อมใจให้ลมหายใจยาวละเอียดอ่อนประณีตสม่ำเสมอเท่านั้น ก็จะได้ผลดังปรารถนา

ทำได้เท่านี้ก็นับได้ว่าเริ่มเป็นคนที่หายใจเป็น ผลของการหายใจเป็นแบบชั้นประถมนี้จะทำให้ลมหายใจที่เข้าไปสู่ร่างกายปรุงแต่งเลือดลมในร่างกายให้เป็นปกติ ทำให้เลือดในกายบริสุทธิ์ มีคุณสมบัติอันบริบูรณ์ ร่างกายก็จะแข็งแรง มีเนื้อมีนวล หน้าตาก็จะแดงเปล่งปลั่งผ่องใส เรียกแบบชาวบ้านว่าราศีจับก็ได้

หายใจเป็นเท่านี้โรคภัยร้ายๆ ก็ห่างหายไปไกล เป็นปัจจัยของความมีอายุยืนอยู่แล้ว แต่ถ้าถามว่าหายใจเป็นเท่านี้พอหรือไม่ ก็ต้องตอบว่าจะพอหรือไม่พอขึ้นอยู่กับความสนใจและความต้องการว่าจะต้องการศึกษาหรือฝึกฝน เพื่อให้มีความก้าวหน้าและได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่แต่ละคนต้องตอบเอาเองตามความถนัดและความต้องการ แค่หายใจเป็นเป็นเรื่องของการสร้างความสมดุลที่ถูกต้องของร่างกายและลมหายใจ แต่ใช่จะมีอยู่เพียงสองสิ่งก็หาไม่ หากยังมีสิ่งที่สามซึ่งยังไม่ต้องเรียกชื่อก็ได้ เอาเป็นว่ายังมีอีกสิ่งหนึ่งซึ่งทำหน้าที่รับรู้ว่ากำลังหายใจอยู่ ลักษณะการหายใจเป็นอย่างไร

สิ่งที่สามนี้ทางพระเขาเรียกว่าจิต เวลาหรือขณะใดที่จิตทำหน้าที่กำหนดหรือรับรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด อาการขณะนั้นเรียกว่าสติ จะว่าเป็นอย่างเดียวกันหรือคนละอย่างก็ได้ ขอให้เข้าใจได้เช่นนี้ก็เป็นพอ อุปมาเหมือนกับอากาศ พอเคลื่อนตัวเรียกว่าลม ถ้าเคลื่อนตัวแรงขึ้นเรียกว่าพายุ พอหายใจเข้าในร่างกายเรียกว่าปราณ ดังนี้เป็นต้น สิ่งที่สามนี่แหละที่น่าศึกษาค้นคว้าและทำความเข้าใจ หากจะยกบาลีอรรถกถามาแสดงก็ยาวยืด ลึกและยาก เอาง่ายๆ ดีกว่าและสิ่งที่ง่ายๆ นั้นไม่ต้องไปทำความเข้าใจจากที่ไหน แต่ทำความเข้าใจได้ด้วยตัวของเราเอง

เริ่มต้นที่ปลายจมูกของเราซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของร่ายกาย เราก็รู้ว่านี่เป็นสิ่งหนึ่ง พอเราหายใจเข้าหรือหายใจออกเราก็รู้ว่านั่นเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่แล่นเข้าออกในร่างกายของเรา แต่ยังมีอีกสิ่งหนึ่งหรือสิ่งที่สามซึ่งเรียกว่าจิต เป็นตัวรับรู้ว่าขณะใดขณะหนึ่งมีลมหายใจเข้าหรือมีลมหายใจออก ตัวที่ทำหน้าที่รับรู้นั่นแหละเรียกว่าจิต และอาการที่รับรู้นั้นเรียกว่าสติ ร่างกาย ลมหายใจ และจิต ทั้งสามสิ่งนี้สัมพันธ์กันอยู่ ดังนั้นเพียงเท่าที่รู้ว่ามีอยู่สามสิ่งก็นับว่าได้ศึกษาทำความเข้าใจในเรื่องนี้มากขึ้นแล้ว คือรู้จักร่างกาย รู้จักลมหายใจ รู้จักจิตที่ทำหน้าที่รับรู้ รวมเป็นว่าได้รู้จักสามสิ่ง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญของชีวิตคนเรา ขาดเสียอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ การหายใจเป็นคือการทำให้รู้ตลอดเวลาว่าลมหายใจกำลังแล่นเข้าแล่นออกอยู่ภายในร่างกาย

นั่นเป็นขั้นรู้ จากขั้นรู้ก็ไปสู่ขั้นการศึกษาว่าลมหายใจที่แล่นเข้าออกในแต่ละขณะนั้นให้ความรู้สึกอย่างไร เวลาหายใจเข้ากับหายใจออกความรู้สึกเป็นอย่างไร หายใจสั้นกับหายใจยาวต่างกันอย่างไร หายใจหยาบกับหายใจละเอียดต่างกันอย่างไร ศึกษาไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเข้าใจทุกอาการทุกสัมผัสอย่างถ่องแท้ นี่เรียกว่าได้ศึกษาความสัมพันธ์และผลที่เกิดขึ้นจากการสัมผัสทั้งสามสิ่ง

การหายใจให้เป็นก็คือการรับผลของการศึกษาดังกล่าวนั่นเอง เพราะเมื่อศึกษาแล้วก็จะรู้ว่าเมื่อถึงภาวะหนึ่งลมหายใจก็จะยาว สม่ำเสมอ ละเอียด ประณีต จนแทบจะไม่รู้สึกว่ามีการหายใจ ในขณะที่มีความรู้สึกอิ่มเอิบเบิกบานชุ่มชื่น และจะสัมผัสได้ถึงกำลังชนิดหนึ่งซึ่งเริ่มก่อตัวขึ้น เพียงเท่านี้ก็มีอานิสงส์ต่อการทำให้อายุยืนยิ่งกว่าปุถุชนธรรมดา

แต่ถ้าจะให้ก้าวหน้าไปกว่านั้นก็ต้องศึกษาจากการหายใจนั่นแหละให้ลึกซึ้งขึ้นจนก่อตัวขึ้นเป็นทิพยอำนาจ วิธีการปฏิบัติในเรื่องนี้โปรดศึกษาได้จากอานาปานสติภาวนา ก็จะเป็นทางแห่งการศึกษาปฏิบัติที่ลึกซึ้งขึ้น

ที่มา: สิริอัญญา ผู้จัดการรายวัน 17 ต.ค. 45



แหล่งอ้างอิง : ที่มา: สิริอัญญา ผู้จัดการรายวัน 17 ต.ค. 45

โดย : เด็กชาย สุขวิช ทองศรี, โรงเรียนนครนายกวิทยาคม, วันที่ 6 ตุลาคม 2546