วิจัยในชั้นเรียนเพื่อพัฒนาฯ

                  วิจัยในชั้นเรียนเพื่อพัฒนากระบวนการเรียนรู้สู่ครูมืออาชีพ
โดย.  นายประจวบ  สุภักดี  นักศึกษาปริญญาโท  ครุศาสตรมหาบัณฑิต
สาขาวิจัยและประเมินผลการศึกษา รุ่น 1  สถาบันราชภัฏอุตรดิตถ์

การจัดการเรียนการสอนในยุคปฏิรูปการศึกษา  ในปัจจุบันครูทุกคนคงต้องยอมรับสภาพว่าจะต้องปรับบทบาทของตัวเองใหม่  ต้องเป็นคนที่ทันสมัย  ทันต่อเหตุการณ์  มีกระบวนการทำงานที่เป็นระบบ  ต้องเป็นครูมืออาชีพที่จะนำพานักเรียนไปให้ถึงจุดหมายปลายทาง  คือเป็นคนดี  คนเก่ง  และมีความสุข  การใช้กระบวนการวิจัยจึงเป็นวิธีหนึ่งที่จะนำนักเรียนไปสู่จุดหมายนั้นได้
 (กองวิจัยทางการศึกษา.  2545 : 1)  ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ  พ.ศ.  2542 
ได้ระบุไว้ในมาตรา  24 (5)  ว่าส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้สอนสามารถจัดบรรยากาศ  สภาพแวดล้อม  สื่อการเรียน  และอำนวยความสะดวกเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้  และมีความรอบรู้  ทั้งสามารถใช้การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้  ผู้สอนและผู้เรียนอาจเรียนรู้ไปพร้อมกับสื่อการเรียนการสอน และแหล่งวิทยาการประเภทต่าง ๆ  และในมาตราที่  30  ได้ระบุว่าให้สถานศึกษาพัฒนากระบวนการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ  รวมทั้งส่งเสริมให้ผู้สอนสามารถวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับผู้เรียนในแต่ละระดับการศึกษา  แสดงให้เห็นว่ารัฐได้เห็นความสำคัญและความจำเป็นในการทำวิจัยทางการศึกษา  ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาการศึกษาทั่วโลก  ครูผู้สอนจึงต้องปรับบทบาทของการวิจัยให้เข้ากับกระบวนการเรียนรู้ให้เป็นไปอย่างอัตโนมัติ

การวิจัยคืออะไร  การวิจัยในชั้นเรียนคืออะไร  เป็นคำถามที่ครูในยุคปัจจุบันต้องทราบและต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจน  (อุทุมพร  จามรมาน.  2544 : 1)  ได้ให้ความหมายไว้ว่า
 การวิจัย  คือการแก้ปัญหาแบบใหม่  การหาคำตอบแบบใหม่  โดยวิธีการที่เชื่อถือได้  หรือวิธีการที่ยอมรับในศาสตร์นั้น ๆ
 การวิจัยในชั้นเรียน  คือ  การแก้ปัญหานักเรียนบางคน  บางเรื่อง  เพื่อพัฒนา (ปรับปรุงนักเรียนอ่อน  เสริมนักเรียนเก่ง)  นักเรียนคนนั้น  กลุ่มนั้น  เพื่อจะได้เรียนทันเพื่อนกลุ่มใหญ่  หรือได้รับการพัฒนาเต็มตามศักยภาพของเขา
 (ระพินทร์  โพธิ์ศรี.  2545 : 3)  ให้ความหมายไว้ว่า 
 การวิจัยในชั้นเรียน  คือ  การดำเนินการวิจัยของครูผู้สอนประจำชั้นหรือรายวิชาที่สอน  เพื่อมุ่งแก้ปัญหาด้านการเรียนการสอน  ที่มีผลโดยตรงต่อความสามารถในการเรียนรู้และพัฒนาทักษะต่าง ๆ ของผู้เรียน  ซึ่งอาจวิจัยโดยครูผู้สอนในแต่ละชั้นเพียงคนเดียว หรือทำร่วมกันเป็นกลุ่ม  ทำร่วมกันทั้งโรงเรียนก็ได้  และอาจมีผู้ปกครองมาร่วมทำก็ได้ขึ้นอยู่กับปัญหาการวิจัย  และการออกแบบการวิจัย  การวิจัยในชั้นเรียนจะต้องดำเนินการวิจัยควบคู่กับการเรียนการสอนโดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญ  เพื่อรักษาระดับคุณภาพและปรับปรุงคุณภาพการศึกษาของชั้นเรียนและของโรงเรียน
งานวิจัยในชั้นเรียนมีขั้นตอนหรือกระบวนการทำงานอย่างไร
 (ทิศนา  แขมมณี,นงลักษณ์  วิรัชชัย.  2546 : 98-101)  ได้เขียนขั้นตอนการทำวิจัยในชั้นเรียนไว้โดยใช้หัวข้อว่า  “เก้าก้าวสู่ความสำเร็จในการวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน”
 ก้าวที่  1 การเลือกปัญหาวิจัย
          - ที่มาของปัญหาวิจัย  (ปัญหาจากตัวผู้เรียน ปัญหาที่เกิดระหว่างการจัดการเรียนการสอน ปัญหาที่เกิดจากความต้องการของครู)
           - เลือกปัญหาที่สำคัญ
           - เลือกปัญหาที่ไม่สามารถใช้วิธีการเดิมแก้ปัญหาได้
           - เลือกปัญหาที่ต่อเนื่อง
           - เลือกปัญหาที่สามารถแก้ไขได้ด้วยตนเอง
ก้าวที่  2 การวิเคราะห์สภาพปัญหา
           - สำรวจสภาพหรือลักษณะของปัญหา
           - เก็บข้อมูลเส้นฐาน(หากทำได้)
ก้าวที่  3 การวิเคราะห์สาเหตุของปัญหา
           - หาสาเหตุที่หลากหลาย
           - หาสาเหตุที่สำคัญ
ก้าวที่  4 การหาแนวทางแก้ปัญหา / พัฒนาผการเรียนรู้
           - สังเกต  วิเคราะห์  เชื่อมโยง
           - คิดหาวิธีการที่แตกต่างไปจากเดิม
           - ศึกษาหาความรู้  (อ่าน  ฟัง  พูดคุย)
ก้าวที่  5 การระบุปัญหาการวิจัย / คำถามวิจัย / วัตถุประสงค์การวิจัย
           - ระบุให้ชัดเจน
           - เขียนให้ถูกต้อง
ก้าวที่  6 การวางแผนการดำเนินการแก้ปัญหา / พัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียน
           - ศึกษาทำความเข้าใจในวิธีการ / นวัตกรรมที่นำมาใช้
           - ระบุวิธีการ / ขั้นตอน  ที่จะใช้ในการดำเนินการวิจัยให้ละเอียดและชัดเจน
           - เก็บข้อมูลเส้นฐาน (หากยังไม่ได้ทำในขั้นตอนที่ 2)
ก้าวที่  7 การลงมือปฏิบัติ  เก็บรวบรวมข้อมูล  และวิเคราะห์ข้อมูล
           - ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการดำเนินการแต่ละขั้นตอนและสิ่งที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง
           - ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการปรับปรุงวิธีการ  แก้ไข / แนวปฏิบัติ
ก้าวที่  8 การสรุปผลและอภิปรายผลการวิจัย
           - แสดงความคิดเห็นว่า  การวิจัยได้ผลดี / ไม่ดีเพราะอะไร
           - ให้ข้อมูลว่าผู้วิจัยได้เรียนรู้หรือได้บทเรียนอะไรบ้าง  ตามวัตถุประสงค์การวิจัย  (สิ่งที่ค้นพบ  ช่วยให้เกิดความเข้าใจ  ความกระจ่าง และการขยายความรู้  ความคิด  อย่างไร)
           - ให้ข้อเสนอแนะในการทำวิจัยต่อเนื่อง
ก้าวที่  9 การสะท้อนความคิดในการวิจัย
           - แสดงความคิดเห็นว่า  การทำวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนครั้งนี้  ครูได้พัฒนาทักษะการวิจัยและความเป็นครูมืออาชีพในด้านใด
           - ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเผยแพร่ / การแลกเปลี่ยนเรียนรู้รายงานวิจัย  และความคิดเห็น
           - ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทาง  หรือผลการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนางานของครู

กระบวนการเรียนรู้คืออะไร

 คำถามนี้ก็เช่นเดียวกันที่ครูทุกคนจะต้องตอบให้ได้และชัดเจน
 (ทิศนา  แขมมณี  และคณะ.  2544 : 1-3)  ให้ความหมายไว้ว่า 
 กระบวนการเรียนรู้  (Learning  process)  หมายถึงการดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอนหรือการใช้วิธีการต่าง ๆ ที่ช่วยให้บุคคลเกิดการเรียนรู้  และการเรียนรู้  ในความหมายของผลการเรียนรู้  ได้แก่  ความรู้ความเข้าใจในสาระต่าง ๆ ความสามารถในการกระทำ  การใช้ทักษะกระบวนการต่าง ๆ ความถึงความรู้สึกหรือเจตคติอันเป็นผลที่เกิดขึ้นจากกระบวนการเรียนรู้  หรืออาจกล่าวได้ว่า  การเรียนรู้มีลักษณะเป็นทั้งผลลัพธ์อันเป็นเป้าหมายปลายทาง(ends)  และวิธีการที่นำไปสู่เป้าหมาย (means)  ซึ่งมีความสัมพันธ์กันและส่งผลกระทบต่อกัน  ถ้าบุคคลมีกระบวนการแสวงหาความรู้ที่ดีมีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับตน  บุคคลนั้นย่อมมีโอกาสที่จะเกิดความรู้ความเข้าใจในสาระหรือกระบวนการต่าง ๆ ได้อย่างกระจ่างถ่องแท้และลึกซึ้ง  
 (ประเวศ  วสี.  2542 : ออนไลน์)  ได้ให้แนวทางเกี่ยวกับกระบวนการเรียนรู้ไว้  10  ขั้นตอน คือ
ขั้นที่ 1 การสังเกต ให้สังเกตในสิ่งที่เห็น หรือสิ่งแวดล้อม เช่น ไปดูนก ผีเสื้อ หรือแม้แต่ในการทำงาน ถ้าใครสังเกตมากก็จะเกิดปัญญามาก

ขั้นที่ 2 การบันทึก คนไทยเป็นชาติพูด ไม่ชอบบันทึกสิ่งที่ได้พบเห็น แม้แต่ทางการแพทย์ อาการคนไข้จำเป็นต้องบันทึกให้ละเอียด แต่บางครั้งหยิบมาดูมีแต่ชื่อ คราวที่แล้วให้ยาอะไรก็นึกไม่ออก เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ก็เช่นกัน ไม่รู้บันทึกไว้หรือเปล่า ดังนั้นต้องฝึกการบันทึกเราจะฉลาดขึ้น
ขั้นที่ 3 การนำเสนอ เมื่อเรียนรู้อะไรมา ต้องฝึกการนำเสนอให้เพื่อนหรือครูได้รู้
ขั้นที่ 4 การฟัง รู้จักฟังคนอื่นจะทำให้ฉลาดขึ้น ฟังมากก็ฉลาดมาก โบราณเรียกว่า "พหูสูตร"
ขั้นที่ 5 ปุจฉา-วิสัชนา เพื่อให้เกิดความชัดเจนแจ่มแจ้ง ต้องมีการถาม-ตอบ ถ้าฟังครูโดยไม่ถาม-ตอบ ก็ไม่แจ่มแจ้ง
ขั้นที่ 6 การตั้งสมมติฐานและตั้งคำถาม ต้องฝึกให้นักเรียนได้ตั้งคำถาม ซึ่งคำถามมาตรฐาน 4 อย่าง ได้แก่ สิ่งนี้คืออะไร เกิดจากอะไร อะไรมีประโยชน์สำหรับเรื่องอะไร ทำอย่างไรจะสำเร็จประโยชน์อันนี้
ขั้นที่ 7 การค้นหาคำตอบ ให้เด็กหาคำตอบ เด็กจะสนุกไปค้นหาคำตอบทางอินเตอร์เน็ต ในหนังสือบางครั้งหาไม่เจอเพราะคำตอบจะอยู่ในปากของคนเฒ่าคนแก่ เรียกว่า "มุขปาถะ"ซึ่งมีประสบการณ์มาก แต่ถูกลืม หากให้เด็กไปถามก็จะเกิดความสัมพันธ์กันระหว่างบุคคลด้วย
ขั้นที่ 8 การวิจัย เป็นการสร้างความรู้เป็นวิถีชีวิต การที่ไม่เรียนรู้วิจัย ทำให้เสียหายทางเศรษฐกิจ หรือทางการแพทย์ปีละไม่น้อยกว่าแสนล้านบาท
ขั้นที่ 9 การเชื่อมโยงให้เกิดปัญญา เมื่อเรียนรู้อะไรมาต้องเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ เข้าด้วยกันเพื่อให้เห็นความจริงทั้งหมดรวมทั้งเห็นตัวเองด้วย
ขั้นที่ 10 การเขียน นอกจากการถามแล้ว-ตอบแล้ว การเขียนจะพัฒนาปัญญาได้ดี เพราะการเขียนคือการใช้พลังสมองในการคิด เรียบเรียงถ้อยคำให้เป็นเรื่องราว เกิดความชัดเจน ซึ่งจะทำให้ผู้อ่านเข้าใจตรงกัน
 ศ.น.พ.ประเวศ วะสี กล่าวทิ้งท้ายว่า "กระบวนการเรียนรู้ที่เริ่มจากชีวิตจริง คือ ประสบการณ์ กิจกรรม การทำงาน และนำมาเข้ากระบวนการที่ยกระดับปัญญา ปัญญาก็ไปสู่จริยธรรม"
(ปรัชญนันท์ นิลสุข.  2545 : ออนไลน์)  กล่าวว่า “กระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียนจะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ความแตกต่างระหว่างบุคคลส่งผลให้ผู้เรียนมีวิธีการของตนเอง อันเกิดจากสภาวะแวดล้อม บุคลิกภาพ อารมย์และสังคมของแต่ละบุคคล สิ่งที่ผู้เรียนได้รับการถ่ายทอดอย่างเป็นระบบ เป็นขั้นตอนอย่างต่อเนื่องทั้งในห้องเรียนและในชีวิตประจำวัน ทำให้ผู้เรียนเกิดกระบวนการในการเรียนรู้ของตนเอง” 

ครูมืออาชีพเป็นอย่างไร

ครูมืออาชีพ หมายถึง อาชีพที่มีองค์กรวิชาชีพรองรับ ตรวจสอบ วัด ประเมินและรับรองมาตรฐาน นั่นจะทำให้อาชีพนี้มีทั้งเกียรติยศและค่าที่ประเมินได้เพื่อแลกเปลี่ยนต่อค่าครองชีพของพวกเขา ไม่ได้ประเมินจากเอกสารใดๆ แต่ประเมินจากผลผลิตของพวกเขาเทียบวัดกับมาตรฐานที่ควรจะเป็น ชุมชนที่ต้องการให้มาตรฐานการศึกษาของชุมชนเขาดีย่อมแสวงหาครูมืออาชีพที่มีมาตรฐานสูงแม้ค่าจ้างจะแพงกว่าก็ตาม ผู้บริหารมืออาชีพที่ต้องการให้ผลงานของตนมีประสิทธิภาพก็ย่อมจะพัฒนากลจักรในองค์กรให้มีมาตรฐานสูงตามไปด้วย (http://www.krumontree.com)

 (สำลี  รักสุทธิ.  2543 : 8)  กล่าวไว้ว่า  “เราทราบตรงกันแล้วว่าวงการศึกษาได้มีการปฏิรูปครั้งยิ่งใหญ่  ระฆังแห่งการปฏิรูปการศึกษาถูกตีดังขึ้นเป็นจริงเป็นจังตั้งแต่  พ.ศ.  2540  คำพูดที่ว่า  “เด็กต้องปรับวิธีเรียน  ครูต้องเปลี่ยนวิธีสอน”  “ครูต้องแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเด็กและครูด้วยกันเอง”  ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดบ่อยขึ้น  การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง  (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ)  การเรียนรู้ตามอัธยาศัย  การเรียนรู้เพื่อเชื่อโยงสู่ท้องถิ่น  การจัดทำหลักสูตรท้องถิ่น  การเรียนรู้แบบโครงงาน  การนำแผนผังความคิด (mind  mapping)  มาเป็นวิธีการศึกษาหาความรู้  สิ่งเหล่านี้คือกระบวนการเกิดมาพร้อมกับคำว่าปฏิรูปการเรียนรู้”

 (กาญจนา  วัฒายุ.  2545 : 5)  กล่าวว่า  “การวิจัยจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับครูที่เป็นครูมืออาชีพ  ผลการวิจัยจะทำให้ครูได้ทราบว่าจะจัดการศึกษาอย่างไรจึงถือว่าผู้เรียนสำคัญที่สุด  แลได้รับการพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ  ครูต้องศึกษาวิจัยให้ได้ข้อสรุปว่า  การจัดการเรียนรู้อย่างไรจึงจะเสริมสร้างกระบวนการคิด  การฝึกทักษะ  การเผชิญสถานการณ์  และการประยุกต์ความรู้มาใช้เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา  ต้องสามารถใช้การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้และสามารถวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับผู้เรียน  ใช้ผลการวิจัยในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาสนองตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ
พ.ศ. 2542”

บทสรุป
 การทำวิจัยในชั้นเรียนทำให้ผู้เรียนเกิดการพัฒนาการเรียนรู้  ครูผู้สอนก็เกิดการพัฒนากระบวนการเรียนการสอนที่หลากหลาย  และเกิดการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างผู้เรียนและครูผู้สอน นักเรียนมีความสุข  ครูมีความสุข  ผู้ปกครองก็มีความสุข  ความรู้สึกเหล่านี้เป็นความรู้สึกที่ทุกคนในวงการศึกษาต้องการให้เกิดขึ้น  และถ้าความรู้สึกนี้นเกิดขึ้นจริง ๆ นั้นหมายความว่าครูผู้สอนได้ก้าวสู่ความเป็นครูมืออาชีพแล้วนั้นเอง  

ข้อเสนอแนะ /ข้อคิดเห็น
1. ครูจะต้องรักศิษย์ด้วยความจริงใจ และบริสุทธิ์ใจ
2. ครูจะต้องทำงานวิจัยในชั้นเรียนเพื่อมุ่งแก้ปัญหาและพัฒนาผู้เรียน  มากกว่ามุ่งที่จะทำผลงานให้กับตนเอง
3. ครูจะทำงานวิจัยในชั้นเรียนจะต้องทำบนพื้นฐานความสุขของนักเรียน
4. ครูจะต้องมีความซื่อสัตย์ และเที่ยงต่องานวิจัยในชั้นเรียน
5. ครูมืออาชีพจะต้องไม่หยุดนิ่ง ต้องพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องและตลอดเวลา
 
บรรณานุกรม

กาญจนา  วัฒายุ.  (2545).  การวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา.  กรุงเทพฯ : 
                 ธนพรการพิมพ์.
ทิศนา  แขมมณี  และคณะ.  (2544).  การพัฒนากระบวนการเรียนรู้ของโรงเรียน :
                 การศึกษาพหุกรณี.  รายงานการวิจัย.  คณะครุศาสตร์  จุฬาลงกรณ์
                 มหาวิทยาลัย.
ทิศนา  แขมมณี,นงลักษณ์  วิรัชชัย.  (2546).  เก้าก้าวในการวิจัยปฏิบัติการใน
                 ชั้นเรียน และการ   สังเคราะห์งานวิจัย.  กรุงเทพฯ : นิชิน แอดเวอร์ไทซิ่ง
                กรู๊ฟ. 
ระพินทร์  โพธิ์ศรี.  (2545).  วิจัยในชั้นเรียน.  (เอกสารประกอบการอบรม).  หน้า 1 
สำลี  รักสุทธิ.  (2543).  ทางก้าวสู่ครูมืออาชีพ.  กรุงเทพฯ : รุ่งเรืองสาส์น  การ
                 พิมพ์.    
อุทุมพร  จามรมาน.  (2544).  การวิจัยในชั้นเรียนและในโรงเรียน เพื่อพัฒนา
                 นักเรียน.  กรุงเทพฯ :  โรงพิมพ์ฟันนี่.
http://www.geocities.com/zurin111/learning1.html
http://www7.brinkster.com/prachyanun/artical/artical12.html
http://www.thailearn.net/index_t1.html
http://www.krumontree.com/documents/developer_02.html


โดย : นาย นายประจวบ สุภักดี, โรงเรียนเทศบาลวัดคลองโพธิ์, วันที่ 14 กันยายน 2546