หุ่นกระบอก
หุ่นกระบอก
ในสมัยใกล้เคียงกันนั้น ประมาณ พ.ศ. ๒๔๓๕ สมัยราชกาลที่ ๕ ม.ร.ว. เถาะพยัคฆเสนา ก็ได้คิดสร้างหุ่นอีกแบบหนึ่ง ซึ่งท่านได้ไปพบที่จังหวัดสุโขทัย เป็นหุ่นที่ชาวบ้านเลียนแบบมาจากหุ่นไหหลำของจีน หุ่นที่ ม.ร.ว.เถาะสร้างนี้ เป็นหุ่นที่มีแต่หัวและแขน ลำตัวเป็นกระบอกไม้ไผ่เป็นแกนสำหรับจับ ด้านบนเอาหัวหุ่นสวมลงมา ไม่มีขาหุ่น แต่ใช้เสื้อทรงกระสอบไม่มีแขนคลุมตั้งแต่คอ ยาวลงมาคลุมกระบอกไม้ไผ่ กว้างออกไปเท่าที่แขนหุ่นจะเหยียดถึง ต่อมือหุ่นตรงมุมผ้าผืนเดียวกันนั้นเพื่อบังมือผู้เชิดที่จับกระบอกและแกนไม้ซึ่งเสียบไว้กับมือหุ่นสำหรับเชิด ทำให้เชิดได้ว่องไว หุ่นแบบนี้ในตอนแรกเรียกว่า หุ่นคุณเถาะ ต่อมาจึงเปลี่ยนมาเรียกว่า หุ่นกระบอก
 การแสดงหุ่นกระบอกไทยนั้น เรื่องที่นิยมเล่นคือ พระอภัยมณี ขุนช้างขุนแผน และลักษณ์วงศ์ คณะหุ่นที่มีชื่อเสียงในยุคเริ่มแรกได้แก่ หุ่น ม.ร.ว.เถาะพยัคฆเสนา หุ่นวังหน้า และหุ่นของจางวางต่อ ณ ป้อมเพ็ชร
 หุ่นกระบอกคณะ ม.ร.ว.เถาะ พยัคฆเสนา ซึ่งถือว่าเป็นผู้ให้กำเนิดหุ่นกระบอกไทยนั้น ได้รับการสืบทอดต่อมาโดยนายเปียก ประเสริฐกุล ผู้เชิดคนสำคัญของคณะ นายเปียกเปิดคณะของตัวเองตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๔๒ และเล่นเรื่อยมาจนถึงราวปี พ.ศ. ๒๕๐๐ คุณนายชื้น (ประเสริฐกุล) สกุลแก้ว ลูกสาวของนายเปียก ได้สืบทอดคณะหุ่นต่อมา และเปิดการแสดงไปทั่ว กล่าวได้ว่าหลัง พ.ศ. ๒๕๐๐ ไม่มีหุ่นกระบอกคณใดในเมืองไทยมีชื่อเสียงมากไปกว่าหุ่นกระบอกคุณยายชื้น สกุลแก้ว อีกแล้ว
 นอกจากเปิดแสดงในประเทศแล้ว คุณยายชื้นยังเป็นตัวแทนศิลปินไทยไปแสดงหุ่นกระบอกยังต่างประเทศหลายต่อหลายครั้ง เป็นวิทยากรพิเศษสอนวิชาเชิดหุ่นกระบอกสู่คนรุ่นใหม่ตามสถาบันการศึกษาต่างๆ การทุ่มเทชีวิตและวิญญาณของตนให้กับหุ่นกระบอกมาตลอดชีวิต ในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ คุณยายชื้น สกุลแก้ว ได้รับการยกย่องจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ให้เป็นศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง เป็นเกรติประวัติสูงสุดในชีวิติของศิลปินพื้นบ้านคนหนึ่ง


แหล่งอ้างอิง : หนังสือภมิแผ่นดินไทย บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด

โดย : เด็กหญิง พนิตา จันทร์ซุ่ย, โรงเรียนเมืองชุมพรบ้านเขาถล่ม, วันที่ 16 สิงหาคม 2546